ประเมินเรื่องของวัคซีนและการฉีดวัคซีน

ประเมินเรื่องของวัคซีนและการฉีดวัคซีน

ประเทศไทยกำลังกลับมากังวลเรื่องการระบาดระลอก 3 ของ COVID-19 ซึ่งครั้งนี้น่าจะรุนแรงมากกว่ารอบ 2 ที่ตั้งต้นที่จังหวัดสมุทรสาคร

              เพราะครั้งนี้ดูเหมือนจะไม่ทราบต้นตอของการระบาดและเป็นการติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ (B117) ที่แพร่ขยายได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดิม 70% และเกิดการระบาดในหลายพื้นที่พร้อมกันและเป็นพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญทางเศรษฐกิจคือกทม.และจังหวัดใกล้เคียงที่คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีสูงกว่าสมุทรสาครหลายเท่าตัว ความรุนแรงของการระบาดรอบใหม่นี้คงต้องรอดูหลังสงกรานต์ว่าจะมากน้อยเพียงใด

            ในขณะเดียวกันไอเอ็มเอฟเพิ่งประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลกครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 6 เมษายนไปในทิศทางที่ดีกว่าการประเมินครั้งก่อนหน้าในเดือนมกราคมของปีนี้ โดยมองว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมจะขยายตัวได้มากถึง 6% ในปีนี้และ 4.4% ในปี 2022 ดีกว่าการประเมินเดิมที่คาดการณ์ว่าจีดีพีโลกจะขยายตัว 5.5% ในปีนี้และ 4.2% ในปีหน้า

 ทั้งนี้เพราะการฟื้นตัวที่รวดเร็วของประเทศจีนและสหรัฐเป็นหลัก กล่าวคือจีดีพีของสหรัฐจะขยายตัวสูงถึง 6.4% ในปีนี้ ในขณะที่จีดีพีของจีนจะขยายตัวได้สูงถึง 8.4% ซึ่งดูห่างไกลจากความพยายามที่จะให้จีดีพีของไทยขยายตัวได้ 4% อย่างยิ่ง ตัวเลขดังกล่าวข้างต้นกำลังบอกคนไทยว่าเศรษฐกิจไทยกำลังจะเสื่อมถอยเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลกโดยรวม เพราะเมื่อปีที่แล้วเศรษฐกิจโลกติดลบ 3.3% แต่เศรษฐกิจไทยติดลบมากถึง 6.1% และในขณะที่จีดีพีโลกจะขยายตัว 6.0% ในปีนี้และ 4.4% ในปีหน้า แต่เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้เพียง 3% ในปีนี้และ 4% ในปีหน้า

 ดังนั้น จะเห็นว่าในช่วง 3 ปีดังกล่าว (2020 ถึง 2022) เศรษฐกิจไทยจะถูกเศรษฐกิจโลกทิ้งห่างออกไป 2.8+3+0.4=6.2% หรือคิดเป็นมูลค่าต่อจีดีพีของไทยที่สูญเสียไปหากเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำน้อยกว่าเศรษฐกิจไทยและฟื้นตัวเร็วกว่าเศรษฐกิจไทย ก็จะรวมกันคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านบาท

            อย่างที่ทราบกันโดยทั่วไปว่ารัฐบาลและทุกๆ ฝ่ายในประเทศไทยกำลังหวังพึ่งพาวัคซีนเพื่อกอบกู้เศรษฐกิจไทย (ไม่ใช่เพื่อป้องกันคนไทยจากการเป็น COVID-19 เท่านั้น) ซึ่งหากมีความมุ่งหมายดังกล่าวก็ควรต้องกำหนดแนวทางในการจัดสรรการฉีดวัคซีนให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ดังกล่าว คือ ต้องฉีดวัคซีนให้กับประชาชนบนเกาะภูเก็ตและเกาะสมุย ตลอดจนบุคลากรที่เป็นแนวหน้าในการให้บริการด้านการท่องเที่ยวก่อนกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เป็นต้น (ที่สามารถอยู่บ้านเฉยๆ ต่อไปอีกได้) แต่หากกลับไปดูตัวเลขจำนวนวัคซีนและอัตราการฉีดวัคซีนของไทยในช่วงที่ผ่านมาก็จะต้องรู้สึกเป็นห่วงอย่างมากว่า วัคซีนจะไม่สามารถเป็นทางออกทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้ในปีนี้

            ตัวเลขเท่าที่ผมรับทราบมาคือปัจจุบันประเทศไทยได้รับวัคซีนมาประมาณ 2 ล้านเข็มและฉีดไปแล้วประมาณ 3 แสนเข็ม ดังนั้นจึงประเมินได้ว่าอัตราการฉีดคือประมาณ 7 พันคนต่อ 1 วัน หากตั้งเป้าหมายว่าต้องการเปิดเศรษฐกิจได้อย่างกว้างขวางตั้งแต่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป ก็แปลว่าต้องการให้คนไทยประมาณ 70% ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก เท่ากับจะต้องฉีดให้คนไทย 47 ล้านเข็มภายใน 30 กันยายนหรือภายใน 168 วัน หากเริ่มต้นเร่งฉีดตั้งแต่วันที่ 15 เมษายนเป็นต้นไป ในกรณีดังกล่าวก็จะต้องเร่งฉีดให้ได้วันละเกือบ 280,000 เข็ม (เปรียบเทียบกับปัจจุบันที่ฉีดประมาณ 7,000 เข็มต่อวัน)

 นอกจากนั้นคงจะต้องประเมินด้วยว่าจะต้องฉีดเข็มที่ 2 ให้กับคนที่ฉีดเข็มแรกไปแล้วภายในเวลาประมาณ 12 สัปดาห์อีกด้วย ดังนั้นการประเมินว่าจะต้องฉีดวันละ 280,000 โดยวัคซีน 47 ล้านเข็มจึงจะเป็นการประเมินในขั้นต่ำ แต่ก็น่าจะนำไปใช้เป็นมาตรฐานเบื้องต้นได้เพราะการฉีดเข็มแรกก็จะช่วยได้อย่างมากในการลดการระบาดของ COVID-19 ตลอดจนการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคดังกล่าว

            นอกจากนั้นก็อาจจะยังมีเรื่องของการที่มีการสอบถามและมีข้อกังวลอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากวัคซีนอีกด้วย โดยเฉพาะวัคซีน Astra Zeneca ที่จะต้องเป็นวัคซีนหลักของประเทศไทย ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีงานวิจัยในเชิงวิชาการทั้งที่ประเทศเยอรมันและนอร์เวย์ ที่มีข้อสรุปว่า การฉีดวัคซีน Astra Zeneca อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันมีปฏิกิริยาที่รุนแรงได้ในบางกรณี แต่มีจำนวนน้อยมากจริงๆ คือได้มีผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วประมาณ 37 คนจากจำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีน Astra Zeneca (AZ) ไปแล้วประมาณ 18 ล้านคน

ทั้งนี้อาการข้างเคียงที่รุนแรงดังกล่าวคือ การเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่สมองหรือ Thromboembolic effect โดยผู้ที่เกิดอาการดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุ 55 ปีหรือต่ำกว่า ทำให้ประเทศบางประเทศ เช่น เยอรมันที่แนะนำให้ใช้ Astra Zeneca เฉพาะกับผู้ที่อายุ 60 ปีหรือมากกว่า

            ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 เมษายน 20021 หน่วยงานที่ควบคุมด้านการแพทย์และยาของประเทศอังกฤษและของสหภาพยุโรปคล้ายคลึงกันว่าพบหลักฐานว่าวัคซีน AZ “may be linked with very rare blood clots often in the brain or the abdomen” โดยพบอัตราการป่วยเป็นอาการดังกล่าวประมาณ 1 ต่อ 100,000 คน

            ทั้งนี้บริษัท Astra Zeneca ยังยืนยันว่าไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าวัคซีนของบริษัททำให้เกิดอาการดังกล่าวเพราะในเชิงสถิตินั้นการมีอาการ Thromboembolic side effects นั้นเกิดขึ้นในบางกรณีโดยปกติอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับการฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนและหน่วยงานของรัฐในยุโรปก็ยืนยันว่าการฉีดวัคซีน AZ ให้ประโยชน์มากกว่าโทษและกล่าวด้วยว่าอาการข้างเคียงดังกล่าวนั้นสามารถรักษาได้ในโรงพยาบาลขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ทั่วไป

            อย่างไรก็ดีความไม่แน่นอนและความกังวลดังกล่าว ตลอดจนการฉีดวัคซีนที่น่าจะทำได้ในจำนวนที่ต่ำกว่าที่จะทำให้คนไทยประมาณ 70% ของประชากรทั้งหมดได้รับวัคซีนภายในต้นไตรมาส 4 ของปีนี้ คงจะหมายหมายความว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นฟูการท่องเที่ยวของไทยคงจะไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ในปี 2021 นี้ ทั้งนี้หากเกิดการระบาดรอบที่ 3 ที่รุนแรงขึ้นไปอีกก็ยิ่งจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้เกิดขึ้นได้ยากยิ่งขึ้นไปอีกครับ.