บทละครกรีกยุคคลาสสิก : ความบันเทิงแบบมีรสนิยม

บทละครกรีกยุคคลาสสิก : ความบันเทิงแบบมีรสนิยม

อ่านบทละครกรีกยุคคลาสสิก เมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว จะได้เห็นตัวละครที่ยิ่งใหญ่ เป็นตัวของตัวเอง ฉลาดและได้รับความบันเทิงแบบมีรสนิยม

ประชาคมกรีกโดยเฉพาะนครเอเธนส์ในยุค 2,500 ปีที่แล้ว มีระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยความร่ำรวยทางเศรษฐกิจและความเจริญทางอารยธรรมในด้านศิลปวิทยาการ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปวรรณกรรม การละครอย่างที่พวกเราอาจจะเรียนรู้ได้ในหลายด้าน โดยเฉพาะปรัชญา การเมือง และบทละคร

งานเทศกาลทางดนตรีและบทละครประจำปี เพื่อคารวะแด่เทพเจ้าไดโอนีซัส เทพแห่งเหล้าองุ่น และศิลปะการแสดง เป็นงานประเพณีสำคัญควบคู่ไปกับการแข่งกีฬาโอลิมปิกส์ จัดกัน 4 วัน 4 คืน มีผู้เข้าร่วมชมนับหมื่นคน บทละครกรีกยุคโบราณเป็นแบบร้อยกรอง ที่มีทั้งบทสนทนา การขับลำนำ การเล่นดนตรี และการเต้นรำด้วย เปิดให้ประชาชนเข้าชมฟรีหรือบางยุคเสียค่าเข้าดูที่ต่ำมาก (คนรวยเป็นผู้อุปถัมภ์จ่ายค่าจัดแสดงและค่าตอบแทนให้คณะขับลำนำประสานเสียง) ละครแสดงในโรงละครกลางแจ้งแบบมีที่นั่งเป็นครึ่งวงกลมบนไหล่เขา ที่จุคนได้ไม่ต่ำกว่า 6 พันคน ผู้เข้าชมจะได้ยินผู้แสดงพูดและขับลำนำ มองเห็นและรู้สึกมีส่วนร่วมกับการแสดงอย่างใกล้ชิด

ละครเน้นเรื่องโศกนาฏกรรม (Tragedy) แต่ก็มีสุขนาฏกรรม (Comedy) และละครตลกเบาสมองแทรกด้วย ละครกรีกยุคนั้นเป็นมากกว่าการพักผ่อนหย่อนใจในเชิงศิลปวัฒนธรรม คือเป็นทั้งเรื่องงานประเพณีกึ่งศาสนา เป็นการเรียนรู้ทางสังคม วัฒนธรรม ทั้งเรื่องจริยธรรม การเมือง สังคม ของพลเมืองชาวกรีก ซึ่งสำหรับอิสระชนแล้วส่วนใหญ่เป็นคนอ่านออกเขียนได้ สนใจถกเถียงกันเรื่องปรัชญา การหาความหมายของชีวิตและสังคมที่ดี ที่ถูกทำนองคลองธรรม (เหมือนมหาวิทยาลัยสำหรับประชาชน)

เอสคีลัส (505-450 ก่อนค.ศ.) โซโฟคลีส (496-406 ก่อนค.ศ.) และยูริพิดิส (485-406 ก่อนค.ศ.) คือกวี นักเขียนบทละครโศกนาฏกรรมกรีกที่ยิ่งใหญ่และเป็นอมตะที่สุด มีอิทธิพลต่อมาถึงนักเขียนบทละครในยุโรปรุ่นหลัง เช่น ราชีน เชคสเปียร์ และคนอื่นๆ

เค้าโครงเรื่องของบทละครโศกนาฎกรรมกรีกมักมาจากเรื่องเทพปกรณัม (เรื่องเทพเจ้าต่างๆ) และมหากาพย์อีเลียตและโอดิซุส  กวีจะนำเรื่องของตัวละครเอกคนใดคนหนึ่งหรือเรื่องบางตอนมาเล่าใหม่ ตีความใหม่ รวมทั้งจินตนาการต่อเติมใหม่ด้วยความคิด ท่วงทำนองและสำนวนภาษาของเขาเอง ทำให้เป็นบทละครโศกนาฏกรรมที่มีเนื้อหาที่มีลักษณะเฉพาะ เร้าใจ มีความงดงาม ความน่าสะพรึงกลัว ความเศร้าสะเทือนใจ ฯลฯ

บทละครโศกนาฏกรรม (Tragedy) มักเป็นเรื่องที่มีเนื้อหาหนักจริงจังของตัวละครเอก เทพเจ้า หรือวีรบุรุษ และเรื่องของความขัดแย้ง การล้างแค้น ชะตากรรมที่พลิกผันรุนแรง ซึ่งไม่จำเป็นต้องนองเลือดหรือจบลงด้วยความตาย ความเศร้าโศกเสียใจเสมอไป Tragedy คือเรื่องที่มีตัวละครและเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ เร้าใจ และให้คติเรื่องชีวิตและชะตากรรมของเทพและมนุษย์

ขณะที่ละครแบบสุขนาฏกรรม (Comedy) จะเป็นละครแบบพล็อตเรื่องหลวมๆ ตลก ล้อเลียน เบาสมองมากกว่า แต่ละคร Comedy ของกรีกโบราณ โดยกวีนักเขียนที่สำคัญอย่างอริสโตฟาเนส (445-385 ก่อนคริสตกาล) ก็มีท่วงทำนองการแสดง การร้อง บทกวีที่คล้ายกับ Tragedy ด้วย และแทรกเนื้อหาแบบล้อเลียน เสียดสี และให้คติเรื่องชีวิตและจริยธรรม รวมทั้งเรื่องการเมือง สังคมด้วยเช่นกัน

เอสคีลัสได้ชื่อว่าเป็นบิดาของโศกนาฏกรรม เพราะเขาเขียนบทละครที่มีเนื้อหาเข้มข้น ทรงพลัง มีถ้อยคำที่สละสลวย โอ่อ่า กินใจ เขาเป็นผู้ริเริ่มสร้างตัวละครคนที่ 2 ขึ้นมา ทำให้มีการสนทนาและปฏิกิริยาโต้ตอบกันอย่างมีรสชาติของชีวิตจริงเพิ่มขึ้น

ไซโฟคลิสเพิ่มตัวละครคนที่ 3 และทำให้ละครโศกนาฏกรรมกรีกสมบูรณ์ขึ้น ผลงานที่ยิ่งใหญ่ของนักเขียนบทละครโศกนาฏกรรมกรีกทั้ง 3 คน ได้มีอิทธิพลต่อละครร้องโอเปราและบทโศกนาฏกรรมของทั้งโรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ในสมัยต่อมา

เอสคีลัส เขียนบทละครที่มีต้นฉบับที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันอยู่ 7 เรื่อง แต่ 7 เรื่องนี้คือเรื่องเด่นๆ ที่เคยชนะการประกวดได้รับรางวัลที่ 1 ส่วนใหญ่ (ยกเว้นโพรมีธิอัสซึ่งเป็นงานชิ้นท้ายๆ) โพรมีธิอัส คือเรื่องของเทพเจ้ารุ่นอาวุโส ผู้ต่อต้านทรราชมหาเทพซูสด้วยการขโมยไฟของเทพเจ้าไปให้มนุษย์ใช้และสอนศิลปวิทยาการให้มนุษย์ ทำให้มหาเทพซูสโกรธสั่งลงโทษล่ามโซ่โพรมีธิอัสเอาไว้ที่ภูเขาอย่างไม่มีกำหนด (เรื่องนี้ผมแปลเป็นไทยให้ชื่อว่า โพรมีธิอัส ผู้ต่อต้านทรราชแห่งจักรวาล พิมพ์โดยมูลนิธิเพื่อนหนังสือ น่าจะออกมาเร็วๆนี้)

เนื้อหาบทละครของเอสคีอัสไม่ได้เสนอแนวคิดแบบจารีตนิยมหรือสอนศีลธรรมแบบตรงๆ การเสนอเรื่องความขัดแย้งและการต่อสู้ของตัวละครเอก ไม่ว่าเทพเจ้าหรือมนุษย์ ไม่ได้เสนอแบบขาวหรือดำว่าเป็นการต่อสู้/ขัดแย้งระหว่างฝ่ายถูก (ธรรม) กับฝ่ายผิด (อธรรม) แต่เป็นการเสนอแบบต่างคนถือว่าตนเองถูกด้วยมุมมองเหตุผลที่แตกต่างกัน เหมือนกับจะให้คนดู (ปกติชาวเอเธนส์เป็นคนที่ชอบถกเถียงกันเรื่องปรัชญาและเรื่องอื่นๆ) ได้เห็นสถานการณ์ตามที่เป็นจริง และตีความตัดสินใจกันเอง ลึกๆ เอสคีลัสน่าจะมีความเชื่อแบบทางสายกลาง ประนีประนอม ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดสุดโต่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือคิดว่าฝ่ายใดถูกทั้งหมดหรือผิดทั้งหมด

จุดเด่นของศิลปะการละครกรีกคือการอธิบายอารมณ์ ความรู้สึก เหตุผลของตัวละครได้อย่างมีพลัง มีความงดงามน่าสะเทือนใจ/ประทับใจ ละครไม่มีฉากนองเลือดจริงๆ แต่ใช้วิธีให้ตัวละครไปแจ้งข่าวเล่าเรื่อง เรื่องใครฆ่าใครหรือใครฆ่ากันตายให้คนอื่นได้ฟังมากกว่า แต่พวกเขามีศิลปะในการนำเสนอเรื่องราวทำให้คนดูรู้สึกสะเทือนใจตามได้

พวกกรีกในยุคนั้นเชื่อในเรื่องชะตากรรมว่าเป็นสิ่งที่ถูกระบบจักรวาลกำหนดมาอย่างที่มนุษย์หรือแม้แต่เทพเจ้าเองก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกันก็มองว่าคนเราควรมีพฤติกรรมที่มีเหตุผลตามหลักจริยธรรมของพวกเขาที่เชื่อในเรื่องความกล้าหาญ เกียรติยศ ศักดิ์ศรี มิตรภาพ ความเที่ยงธรรม ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ฯลฯ เค้าโครงเรื่องของบทละครกรีกที่เหมือนกับเป็นเรื่องง่ายๆ แบบเทพนิยายนั้น มีเนื้อหาที่มีความลึกซึ้งซับซ้อน และรุ่มรวยด้วยความคิดคำนึง ด้วยอารมณ์ จินตนาการ ความอหังการ ความคมคายของถ้อยคำของตัวละครและคณะนักขับลำนำ ซึ่งทำหน้าที่ทั้งสนทนาเล่าเรื่องและทั้งวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ร่วมไปกับคนดูละครที่ดูไปก็ตีความและวิจารณ์อยู่ในใจของแต่ละคน

งานบทละครกรีกที่ยิ่งใหญ่มีอายุกว่า 2 พันปี ยังมีการแปลเป็นภาษาต่างๆ มีการตีพิมพ์มีคนอ่านและเรียนกันในมหาวิทยาลัยทั่วโลก และยังถูกนำมาแสดงอยู่เสมอๆ แม้คนเขียนเสียชีวิตไปนานมากแล้ว แต่งานประพันธ์ชั้นเทพของพวกเขายังคงมีชีวิตอยู่อย่างเป็นอมตะและอย่างมีอิทธิพลทางด้านความงาม ความรู้ ความคิดอ่าน ต่อคนทั้งโลกมาจนถึงวันนี้.