มิติใหม่ของการเรียนรู้ในองค์กร

มิติใหม่ของการเรียนรู้ในองค์กร

ในปัจจุบันการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Continous Learning) กลายเป็นประเด็นที่สำคัญทั้งสำหรับผู้บริหารและพนักงานในระดับต่างๆ

   ในมุมของผู้บริหารนั้นพนักงานในองค์กรจะต้องมีการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ เพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อีกทั้งผู้บริหารสามารถใช้การเรียนรู้ของพนักงานในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางที่ผู้บริหารต้องการ สำหรับในมุมของพนักงานนั้น เพื่อให้ตนเองไม่ล้าสมัยและยังคงมีคุณค่าและความสำคัญต่อองค์กร การ Reskill / Upskill ผ่านการเรียนรู้ก็กลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตการทำงาน

        อย่างไรก็ดีรูปแบบของการเรียนรู้ขององค์กรจำนวนมากก็ยังยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ ที่เคยเป็นมาเป็นสิบๆ ปี อาจจะมีเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็ในยุคโควิด ที่รูปแบบการเรียนรู้ในหลายองค์กรจะเปลี่ยนจากเรียนแบบเห็นหน้ากันมาเป็นเรียนออนไลน์มากขึ้น แต่รูปแบบ วิธีการเรียนรู้ ระยะเวลา การประเมินผล หรือ แม้กระทั่งบทบาทของผู้ให้ความรู้ก็ยังเหมือนเดิม (เปลี่ยนจากออฟไลน์มาเป็นออนไลน์เท่านั้น)

        ปัจจุบันได้มีกระแสหรือแนวโน้มใหม่ๆ เกี่ยวกับการเรียนรู้ภายในองค์กรจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ 3 ประการดังนี้

  1. เนื้อหาและระยะเวลาของการเรียนรู้จะต้องสั้นลง - การฟังวิทยากรพูดทีละ 1-3 ชั่วโมง หรือ แม้จะฟังออนไลน์และแบ่งเป็นตอนสั้นๆ ตอนละ 15-20 นาทีหลายๆ ตอน จะกลายเป็นเรื่องในอดีต เนื่องจากความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา (กล่าวกันว่าความรู้ใหม่ๆ นั้นเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าทุก 12 ชั่วโมง) ดังนั้นการที่จะเรียนรู้และก้าวทันสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นย่อมจะไม่สามารถอาศัยรูปแบบการเรียนรู้แบบเดิมได้ จะต้องมีการเรียนรู้ที่เร็ว สะดวก และบ่อย

        สำหรับการเรียนรู้ภายในองค์กรนั้น ตัวเนื้อหาความรู้ จะต้องสั้น กระชับ ตรงประเด็น ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นความรู้ที่ถูกรวบรวมมาจากแหล่งต่างๆ อย่างรวดเร็ว พนักงานจะต้องสามารถเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ ได้อย่างง่ายและเป็นอิสระ และที่สำคัญคือการเรียนรู้จะต้องไม่เป็นลักษณะเป็นไปทีละขั้น หรือ Linear เหมือนในรูปแบบเดิม พนักงานสามารถที่จะตัดสินใจและเลือกในสิ่งที่จะเรียนรู้เองได้ พนักงานต้องการความรู้ในรูปแบบของ Just-in-time-solutions ดังนั้นความรู้ที่จะให้กับพนักงานนั้นจะต้องมีลักษณะที่ไม่มาก แต่บ่อย และตอบสนองต่องานของพนักงานอย่างแท้จริง

      2.การเรียนรู้จะต้องสามารถเกิดขึ้นได้ตามเวลาที่พนักงานต้องการ - การอบรมหรือพัฒนาบุคลากรที่จัดภายในช่วงระยะเวลาปกติ เช่น 9-12.00 หรือ 13-16.00 น. จะเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทคโนโลยีการเรียนรู้พัฒนามากขึ้น On-demand learning จะกลายเป็นสิ่งที่พนักงานต้องการ พนักงานต้องการที่จะได้รับเนื้อหาหรือองค์ความรู้ เมื่อพนักงานต้องการ ไม่ใช่เมื่อผู้บริหารต้องการ ขณะเดียวกันเนื้อหาหรือความรู้ที่จะได้รับ ก็จะต้องสามารถช่วยแก้ไขปัญหาหรือตอบโจทย์ที่พนักงานกำลังเผชิญอยู่ได้

       3.องค์กรสามารถนำเรื่องของข้อมูลมาช่วยเพิ่มประสบการณ์ในการเรียนรู้ได้ - โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการเรียนรู้เป็นไปในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น องค์กรจะมีข้อมูลเลยว่าเนื้อหาประเภทใดที่มีการเรียนรู้กันมากในช่วงเวลาใด โดยคนกลุ่มใด อีกทั้งยังสามารถนำระบบแนะนำ (คล้ายๆ ใน Netflix) เพื่อให้พนักงานสามารถได้เลือกในหลักสูตรที่สอดคล้องและตรงกับความต้องการในการของตนเอง ลองจินตนาการว่าในอนาคตเมื่อเข้าสู่เว็บการเรียนรู้ขององค์กร ก็จะมีระบบแนะนำหลักสูตรหรือรายวิชาที่พนักงานแต่ละคนน่าจะสนใจ คล้ายๆ Netflix ขึ้นมาได้ทันที

        โดยสรุปแล้ว มิติใหม่ในการเรียนรู้ของพนักงานในองค์กรในอนาคต จะเป็นรูปแบบออนไลน์ที่พนักงานสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย ในทุกสถานที่ ทุกเวลาที่ต้องการ ขณะเดียวกันเนื้อหานั้นก็จะตอบสนองต่อความต้องการของพนักงานมากขึ้น หลักสูตรการเรียนรู้จะถูกออกแบบเป็นรูปแบบ module ที่สั้นและกระชับ และพนักงานสามารถที่จะเลือกเรียนรู้ใน module ที่ตนเองต้องการได้ โดยไม่ต้องเรียงตามลำดับของหลักสูตร อีกทั้งมีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อสร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้ที่น่าดึงดูดใจสำหรับพนักงาน.