บิทคอยน์ทะลุ $60,000 โลกาภิวัตน์ vs. ตลาดทุนไทย

บิทคอยน์ทะลุ $60,000  โลกาภิวัตน์ vs. ตลาดทุนไทย

เป็นข่าวใหญ่ระดับโลก กับปรากฎการณ์นิวไฮครั้งใหม่ของบิทคอยน์ ที่ได้ทะลุ $60,000 หลังจากที่ได้สร้างปรากฎการณ์ฟองสบู่แตกเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

การทำนิวไฮทุกครั้งของบิทคอยน์ ย่อมหมายถึงการขยายตัวของประชากรโลก ที่รับรู้ เชื่อมั่น และเพิ่มเงินเข้ามาในบิทคอยน์ ซึ่งในปัจจุบัน มีการคาดคะเนว่า บิทคอยน์ มีมูลค่าทั้งหมด $600,000 ล้าน หรือราว 19 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่า จีดีพี ของประเทศไทยหลายเท่าตัว

ยิ่งไปกว่านั้น มีการคาดคะเนว่า ปัจจุบันมีน้อยกว่า 10% ของประชากรโลกที่เข้าถึง และเป็นเจ้าของบิทคอยน์ ในขณะที่จำนวน 21 ล้าน คือจำนวนทั้งหมดของ บิทคอยน์ ที่จะไม่สามารถพิมพ์เพิ่มได้อีก ดังนั้น อะไรจะเกิดขึ้นกับราคาของบิทคอยน์ เมื่ออีกกว่า 90% ของประชากรโลก เริ่มเข้ามาใช้บิทคอยน์

ทั้งนี้ การที่ไม่สามารถพิมพ์บิทคอยน์เพิ่มได้ เป็นวาทกรรมที่สำคัญที่สุดในการยกย่องคุณค่าของบิทคอยน์ ที่สามารถเปรียบเทียบได้ในทางตรงข้ามกับ การอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจของรัฐบาลต่างๆ ซึ่งอาจรวมถึงการพิมพ์เงินเพิ่ม ซึ่งทำให้มูลค่าของสกุลเงินนั้นตกลง

อย่างไรก็ตาม การลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง ซึ่งบิทคอยน์ก็เคยสร้างปรากฎการณ์ฟองสบู่แตกมาแล้ว เป็นข่าวใหญ่ในประเทศไทย เมื่อ ก.ล.ต. ได้ “โยนหินถามทาง กับ ยกระดับการกำกับดูแลการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนในบิทคอยน์จำนวนมากของประเทศ ไม่สามารถลงทุนโดยตรงผ่านโบรกเกอร์ในประเทศได้อีกต่อไป เนื่องจากข้อกำหนดเรื่องรายได้และทรัพย์สินขั้นต่ำข้องผู้ลงทุน

แต่สิ่งที่ควรต้องคำนึงถึง คือ ไม่มีอะไรที่จะปิดกั้น การที่นักลงทุนชาวไทย จะไปซื้อขายบิทคอยน์กับโบรกเกอร์ในต่างประเทศ ที่ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายไทย การกำกับดูแลควรต้องมีความสมดุล และเหมาะสมกับความเป็นโลกาภิวัตน์ของทุกสิ่งอย่างในยุคดิจิทัล ที่กำลังสะท้อนกลับมาสู่นักลงทุนในตลาดทุนอีกด้วย

10 ปีก่อนหน้านี้ ธุรกิจในตลาดทุนของไทย ล้วนเป็นธุรกิจที่นักลงทุนไทยมีความคุ้นเคย เพราะเป็นแบรนด์เนมของสินค้า บริการ และ ห้างร้านที่ใช้อยู่เป็นประจำ

แต่ในปัจจุบัน นักลงทุนรุ่นใหม่ ซึ่งรวมไปถึงผู้ที่ลงทุนในบิทคอยน์ กลับมีความคุ้นเคยกับแบรนด์เนมของ เทคโนโลยี แอพ และนวัตกรรมต่างๆ ที่มีซื้อขายอยู่ในตลาดทุนระดับโลก จนกระทั่งคนรุ่นใหม่หลายคน อาจรู้สึกว่า การลงทุนใน เทคโนโลยี แอพ และนวัตกรรม เหล่านี้ กลับจับต้องได้มากกว่าการลงทุนในตลาดทุนของไทย เพราะรูปแบบของธุรกิจของไทยยังไม่ได้วิวัฒนาการมากนักจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และส่วนมากยังคงเป็นธุรกิจในยุคเดิม และไม่ใช่ธุรกิจในยุคดิจิทัล

ซึ่งข้อมูลที่เกี่ยวกับ เทคโนโลยี แอพ และนวัตกรรม ระดับโลกเหล่านี้ ก็ยังมีให้ศึกษาได้มากกว่าข้อมูลของธุรกิจที่มีอยู่ในประเทศไทย S-Curve ต่างๆ ที่ไทยกำลังผลักดัน ก็ยังคงอยู่ไกลตัว และสตาร์ทอัพของไทย ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จถึงขั้นเป็นยูนิคอร์น ซึ่งก็ไม่ต้องเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านของเรา พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ ที่ใช้เวลากับ เทคโนโลยี แอพ และนวัตกรรม มากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเพิ่มความสนใจให้กับการลงทุนในตลาดทุนของต่างประเทศ หรือกระทั่งบิทคอยน์ ซึ่งเป็นเงินตราที่ไร้พรมแดนในยุคโลกาภิวัตน์

ซึ่งในที่สุด ไม่เพียงแต่ผู้บริโภคของไทย จะเสียเงินกับการใช้ เทคโนโลยี แอพ และนวัตกรรม ระดับโลกเหล่านี้ แต่เงินลงทุนของคนไทย ก็จะรั่วไหลไปกับ เทคโนโลยี แอพ และนวัตกรรม ที่กำลังเกิดขึ้นนอกประเทศเช่นกัน