รู้หรือไม่? ปัญหาความเหลื่อมล้ำไทยอาจไม่ได้เป็นอย่างที่คิด

รู้หรือไม่? ปัญหาความเหลื่อมล้ำไทยอาจไม่ได้เป็นอย่างที่คิด

หลายท่านอาจยังไม่ทราบข้อเท็จจริงอีกหลายประการ เกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนของไทย ที่กล่าวถึงอยู่ทั่วไป

ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนของไทย ที่กล่าวถึงอยู่ทั่วไปทั้งจากนักการเมือง นักวิชาการ และสื่อสารมวลชนต่างๆ มักจะกล่าวว่าประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำและปัญหาความยากจนที่จำเป็นต้องได้รับการใส่ใจแก้ไขปัญหา ซึ่งก็เป็นความจริงส่วนหนึ่ง แต่ในอีกด้านหนึ่ง หลายท่านอาจยังไม่ทราบข้อเท็จจริงอีกหลายประการ อาทิเช่น

รู้หรือไม่? หากย้อนกลับไป 20 ปีก่อน หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง จำนวนคนจนตามนิยามสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในปี 2541 สูงถึง 25.8 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38.63 ของประชากรไทย ต่อมาในปี 2552 จำนวนคนจนลดลงเหลือ 11.6 ล้านคน หรือร้อยละ 17.88 ของประชากร และล่าสุดในปี 2562 จำนวนคนจนลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือเพียง 4.3 ล้านคน หรือร้อยละ 6.24 ของประชากรเท่านั้น

รู้หรือไม่? การกระจายรายได้ของประเทศไทย ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สะท้อนจาก “ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค” (GINI coefficient) ของธนาคารโลกที่ทุกประเทศยอมรับ โดยจากฐานข้อมูลของธนาคารโลก (สำรวจข้อมูลล่าสุดถึง 17 กุมภาพันธ์ 2564) พบว่า ประเทศไทยมีดัชนีจีนี 0.36 ซึ่งดีที่สุดเป็นอันดับ 1 ใน ASEAN-5 (อินโดนีเซีย 0.38 มาเลเซีย 0.41 และฟิลิปปินส์ 0.44)

รู้หรือไม่? ประเทศไทยมีพัฒนาการของการลดความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมล้ำได้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (High-middle income countries) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เมื่อคำนวณจากฐานข้อมูลสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคของธนาคารโลกโดยการเปรียบเทียบแนวโน้มของแบบจำลองสมการถดถอยของแต่ละประเทศ

รู้หรือไม่? นอกเหนือจากความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่ลดลงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา และความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุขของไทย ล้วนแล้วแต่ปรับตัวดีขึ้นทุกด้าน โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี 2556 และปี 2560 จากผลการศึกษาของ ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้นำเสนอในงาน Econ Symposium 2020 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา

รู้หรือไม่? ดัชนีความยากจนในหลายมิติ หรือ MPI ในรายงาน The Global Multidimensional Poverty Index (MPI) 2020 ระบุว่าดัชนี MPI ของไทยอยู่ที่ 0.003 ต่ำที่สุดในอาเซียน สัดส่วนคนยากจนหลายมิติ อยู่ที่ร้อยละ 0.79 ก็มีค่าต่ำสุดในอาเซียนเช่นกัน ในขณะที่ความรุนแรงของความยากจนหลายมิติ ดีเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ความยากจนหลายมิติของประเทศไทยดีที่สุดในอาเซียน

รู้หรือไม่? หนึ่งในปัจจัยที่มีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการเงินของไทยคือ การที่ประชาชนในประเทศสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่าย

เห็นได้จากผลสำรวจ Financial Access Survey 2019 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF พบว่า มีหลายดัชนีที่บ่งชี้ถึงการเข้าถึงทางการเงินของไทยที่ดี อาทิ  

1) การมีจำนวนเครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ (ATM) ต่อประชากร 100,000 คน มีจำนวน 115 เครื่อง ต่อประชากร 100,000 คน สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน (บรูไน 74 เครื่อง , อินโดนีเซีย 53 เครื่อง และสิงคโปร์ 59 เครื่อง)

2) ยอดคงค้างของสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SMEs จากธนาคารพาณิชย์สูงเป็นอันดับที่ 1 ของภูมิภาคอาเซียน ที่ร้อยละ 24 ของ GDP (มาเลเซีย ร้อยละ 17 และอินโดนีเซียร้อยละ 7)

3) สินเชื่อคงค้างของผู้ประกอบการ SMEs จากธนาคารพาณิชย์ อยู่ที่ร้อยละ 24 ของ GDP สูงกว่าประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซียที่อยู่ที่ร้อยละ 17 และ 7 ของ GDP ตามลำดับ สะท้อนถึงผู้ประกอบการ SMEs ไทยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดีกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน และ

4) จำนวนการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านทางโทรศัพท์มือถือต่อ 1,000 คน พบว่าประเทศไทยมีจำนวนการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านทางโทรศัพท์มือถือ 21,100 ครั้งต่อปี สูงเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน (อินโดนีเซีย 26,175 ครั้งต่อปี และฟิลิปปินส์ 8,350 ครั้งต่อปี)

อย่างไรก็ตาม จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมด แม้ว่าจำนวนคนจนได้ลดลงอย่างมาก ระดับความเหลื่อมล้ำของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศในภูมิภาค การลดลงของระดับความเหลื่อมล้ำตลอดระยะเวลาของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมามีมากกว่าประเทศในกลุ่มเดียวกัน

สถานการณ์ความยากจนหลายมิติของประเทศไทยซึ่งดีที่สุดในอาเซียน และการเข้าถึงบริการทางการเงินของไทยก็มีสถานะที่ค่อนข้างดีเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนของไทยได้หมดไปจากประเทศหรืออยู่ในระดับที่ไม่มีนัยสำคัญ

ยังมีคนจนจำนวนหนึ่งที่ประสบปัญหาความยากจนมาเป็นเวลานานโดยไม่สามารถเลื่อนชั้นทางสังคมไปสู่ระดับที่สูงขึ้นได้ และในอนาคตอาจจะยิ่งยากขึ้นไปอีกสำหรับคนกลุ่มนี้ในการขยับสถานะให้มีรายได้สูงขึ้น

ดังนั้น รัฐบาลจึงยังจำเป็นต้องเดินหน้าดำเนินนโยบายสาธารณะที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้รูปแบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่พึ่งพิงเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศอย่างมากตั้งแต่ปีที่ผ่านมาซึ่งอาจส่งผลให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำและความยากจนของไทยกลับเพิ่มขึ้นมาก็ได้.

 *บทความโดย ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ

ดร.กวิน เอี่ยมตระกูล

นางสาวอภิญญา เจนธัญญารักษ์

นายสัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ 

สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง