คิดอนาคตไทย 2030

คิดอนาคตไทย 2030

ทศวรรษหน้าเป็นเวลาที่ท้าทายที่สุดช่วงหนึ่งของประเทศไทย พลวัตการเปลี่ยนแปลงใน 10 ปีข้างหน้าที่ประเทศไทยต้องเผชิญอย่างแน่นอนคือสังคมผู้สูงวัย

        สังคมผู้สูงวัย จะมีนัยสำคัญต่อการจัดการนโยบายเศรษฐกิจและสังคมมหาศาล ในขณะที่ ปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุด คือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด (exponential) จะ disrupt วงการต่างๆ มากขึ้น ดังที่ Peter Diamond ได้เขียนไว้ในหนังสือ The Future is Faster Than You Think ถึงการหลอมรวม (convergence) และการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีที่ถูกจับตามองเป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งควอนตัมคอมพิวเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยี 5G การปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านทางบอลลูนและดาวเทียม เซ็นเซอร์ หุ่นยนต์ เทคโนโลยี VR และ AR การพิมพ์ 3 มิติ บล็อกเชน วัสดุใหม่และนาโนเทคโนโลยี และเทคโนโลยีชีวภาพ ที่จะส่งผลกระทบอย่างมากและเปลี่ยนโฉมหน้าเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ตลาดแรงงานและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลกในระยะสิบปีข้างหน้านี้

        เรายังจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มีการคาดการณ์ว่าจะส่งผลอย่างชัดเจนมากขึ้น รวมถึงความเสี่ยงจากโรคอุบัติใหม่ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสองมหาอำนาจ และความเหลื่อมล้ำทางสังคมทั้งในประเทศและในต่างประเทศ

         จากบทเรียนจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจที่หยุดชะงักและไม่แน่นอน และแนวโน้มและความเสี่ยงในอนาคต ผู้เขียนเชื่อว่าลำดับความสำคัญสูงสุดที่เราควรคำนึงถึงในการวางยุทธศาสตร์ของประเทศในทศวรรษหน้าคือการให้ความสำคัญสูงสุดกับเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ หรือ Put Human Security First เราจะต้องปรับเปลี่ยนจากการวางเศรษฐกิจเป็นตัวตั้งไปสู่ความมั่นคงมนุษย์เป็นตัวตั้ง

ซึ่งประเด็นด้านความมั่นคงของมนุษย์ที่สำคัญ คือ ความมั่นคงทางอาหาร (Food  Security) ทั้งด้านปริมาณ คุณภาพ ความปลอดภัยและการเข้าถึง ความมั่นคงทางสุขภาพ (Health Security) ที่จะต้องทำให้เกิดศักยภาพของระบบสาธารณสุข บุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้มีอย่างเพียงพอ พร้อมทั้งประชาชนมีทักษะสุขภาพสูง (Health Literacy) ความมั่นคงพลังงาน​ (Energy Security)  ทั้งการจัดหาพลังงาน​​ การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน​ และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริโภคพลังงาน​ และความมั่นคงทางอาชีพ (Job Security) ที่เราจะต้องยกระดับทักษะให้คนวัยทำงาน ลงทุนสร้างตำแหน่งงานใหม่ ออกแบบระบบตาข่ายทางสังคมใหม่ให้รองรับแรงงานอิสระและนอกระบบ หรือผู้ที่อาจถูกทดแทนโดยระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์

ในด้านเศรษฐกิจ อนาคตไทยควรจะเปลี่ยนจากการมุ่งเน้นการเติบโตของ GDP ไปสู่การเติบโตที่สมดุลบนจุดแข็งของประเทศ เคารพสิ่งแวดล้อมและมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เราควรเร่งพัฒนาชุดตัวชี้วัดใหม่ให้กับประเทศนอกจาก GDP ขับเคลื่อนเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ที่สร้างบนจุดแข็งของประเทศและตอบโจทย์ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเศรษฐกิจ BCG ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) ก็นับว่าเป็นการเดินถูกทางในเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาล

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยจะต้องเร่งปรับตัวเข้าสู่การค้าทางดิจิทัล สังคมไร้เงินสด ยกระดับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจท้องถิ่น และสร้างระบบนิเวศที่ดีเพื่อให้เกิดเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ๆ

ทั้งนี้ การจะขับเคลื่อนอนาคตไทยไปได้ เราจะต้องหันกลับมาให้ความสำคัญสูงสุดกับการพัฒนาทุนมนุษย์ (Reinventing in Education and Human Capital) อย่างจริงจัง  เพราะการลงทุนมนุษย์และยกระดับคุณภาพการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวหน้าท่ามกลางพลวัตการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เราจะต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มทักษะสำหรับอนาคต การปรับทักษะใหม่และการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้สอดรับกับโลกอนาคตที่อายุขัยของผู้คนสูงขึ้น ความรู้เพิ่มปริมาณขึ้นและมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 แน่นอนว่า พลวัตการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วดังกล่าวย่อมส่งผลให้ประชาชนบางส่วนตามการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน ทำให้ซ้ำเติมปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ หรือผู้ตกขบวนการพัฒนา ดังนั้น เราจะต้องทำให้คำว่าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leaving No One Behind) ไม่เป็นเพียงคำพูดที่สวยหรู แต่จะต้องทำให้เกิดขึ้นจริง

เราควรวางนโยบายเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนยากจนและกลุ่มเปราะบางมากที่สุด เน้นการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำที่ยั่งยืน เปลี่ยนคนด้อยโอกาสให้กลายเป็นผู้ได้โอกาส และมีศักยภาพในด้านเศรษฐกิจและสังคม เราสามารถใช้มาตรการแก้จนอย่างตรงจุด (Targeting Poverty Eradicate)  การปรับระบบสวัสดิการให้ครอบคลุมและออกแบบสวัสดิการใหม่ให้ตอบโจทย์อนาคต เราควรพัฒนาระบบช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีระบบการลงทะเบียนแห่งชาติที่ไม่ยุ่งยากและซ้ำซ้อน และสร้างกลไกการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤตได้อย่างรวดเร็ว

สุดท้ายแล้ว เราควรสร้างสังคมที่น่าอยู่ เป็นสังคมเปิดและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง (Open & Resilient Society) เพื่อพร้อมเผชิญกับความเสี่ยงและความท้าทายต่างๆ เราจะต้องสร้างระบบข้อมูลเปิดและรัฐบาลที่โปร่งใส ลดกฎระเบียบ กระจายอำนาจ และใช้เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มใหม่ทั้ง GovTech และ CivicTech รวมถึง Democratic Innovation ในการส่งเสริมนวัตกรรมประชาธิปไตย

การสร้างความเป็นพันธมิตรของภาครัฐ เอกชน ประชาชน เปิดโอกาสให้ใช้พลังภูมิปัญญาทั้งสังคมพัฒนาชาติ ผ่าน Open Collaboration Platform ใหม่ๆ และภาครัฐจะต้องสร้างผู้ประกอบการใหม่ในกลุ่ม 3S คือ สตาร์ทอัพ (Startup) เอสเอ็มอียุคใหม่ (SMEs) และผู้ประกอบการสังคม (Social Enterprise) ให้เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาสังคม

สิบปีข้างหน้าจึงเป็นห้วงเวลาสำคัญที่มีโอกาสและความท้าทายรออยู่มากมาย เราจะไปลงเอยอยู่ ณ จุดไหนในปี 2030 ก็ขึ้นอยู่กับพลังของพวกเราทุกคน.

*บทความโดย ธราธร รัตนนฤมิตศร สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/