Bond yield ขยับต้องปรับการลงทุนอย่างไร

Bond yield ขยับต้องปรับการลงทุนอย่างไร

ตอนที่แล้วได้พูดถึงเรื่องการอัดฉีดเงินของธนาคารกลางประเทศๆเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่าเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้นมากกว่ากัน

ในตอนนี้จะพูดถึงประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกันและกำลังเป็นที่จับตามองของตลาดในระยะจากนี้ นั่นคือการปรับตัวขึ้นของ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Bond Yield) จนตลาดสินทรัพย์เสี่ยงมีแรงขายในช่วงเดือนที่ผ่านมา ซึ่งนักลงทุนจะต้องปรับการลงทุนเพื่อรับมือในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

ผลจากการใช้นโยบายการคลังเพื่อช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจต่างๆ ภายใต้ชื่อ American Rescue Plan ของ โจไบเดน แม้ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯมีโอกาสเติบโตขึ้นจากมีกระแสเงิน (Fund Flow)ไหลเข้าระบบเศรษฐกิจจำนวนมากแต่ความกังวลด้านแผนการเงินที่ภาครัฐจะต้องใช้ในการอัดฉีด ประกอบกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯและตัวเลขเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับขึ้นทำให้ Bond yield 10 ปี ของสหรัฐฯขยับขึ้นและกดดันสินทรัพย์เสี่ยง  และมีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นตามมา  แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะยังต้องการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันไปอย่างน้อยถึงปี 2022

ประเด็นที่อยากให้จับตามองเพราะจะมีผลต่อสินทรัพย์เสี่ยงในเวลานี้ นั่นคือ 1.) สภาพคล่องในระบบที่มีสูงมากหรืออาจเรียกได้ว่า ล้นตลาด อีกทั้งสินทรัพย์ทางการเงินจะมีการเคลื่อนไหวล่วงหน้ารับสถานการณ์ ดังนั้นการใช้นโยบายการคลังของสหรัฐฯ แบบขยายตัว กดดันการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในระยะสั้น ซึ่งมีระดับราคา (Valuation) ที่อยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว จึงทำให้ความน่าสนใจของการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมีน้อยกว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและจะทำให้ตลาดเงินตลาดทุนเกิดความผันผวนสูง

2.) อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์และการขยายตัวเศรษฐกิจ  จะเป็นอีกปัจจัยที่เร่งให้เกิดการขึ้นดอกเบี้ยและการปรับขึ้นผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล ถามว่าเวลานี้ใกล้ที่เห็นดอกเบี้ยขยับขึ้นหรือยัง..?  คงต้องจับตาดูว่าการฉีดวัคซีนโควิดให้ประชากรในประเทศต่างๆจากนี้จะถึงระดับที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันกลุ่ม (Herd immunity) ได้เร็วเพียงใดเพราะจะเป็นตัวแปรที่ทำให้เศรษฐกิจกลับมาเปิดได้เร็วขึ้น  KTBST SEC ประเมินว่า การขึ้นดอกเบี้ยเร็วที่สุดคือในช่วงปลายสิ้นปี 2022 ถึงช่วงต้นปี 2023 แต่ถ้าเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ Fed อาจจะเริ่มปรับทิศทางได้เร็วกว่าที่เราคาด 

KTBST SEC มองว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อจะขยับขึ้นไปจนถึงช่วงครึ่งปีหลังของปี 2021 และจะชะลอลงในช่วงปลายปีหลังเนื่องจากปัจจัยเรื่องราคาพลังงานยังไม่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นมาก จากระดับปัจจุบัน และคาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ  จะไม่ขึ้นสูงกว่าระดับ 1.6% แต่จะกดดันสินทรัพย์เสี่ยงให้ผันผวนในระยะสั้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากตลาดเกิดความผันผวนเนื่องจากสภาพคล่องในระบบที่มีมากสูงรวมทั้งปัจจัยต่างๆที่เข้ามากระทบในระยะจากนี้ จะทำให้เกิดความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรรัฐบาลและทองคำ ซึ่งนั่นจะทำให้ผลตอบแทนในสินทรัพย์ดังกล่าวขยายตัวตามไปด้วย

ดังนั้นนักลงทุนอาจจะต้องกลับมาประเมินน้ำหนักการลงทุนระหว่างสินทรัพย์ปลอดภัยกับสินทรัพย์เสี่ยงที่ยังมีปัจจัยพื้นฐานเติบโตดี แม้อัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลจะปรับเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มเงินเฟ้อจนมองว่ามีความน่าสนใจลงทุน แต่หากกำไรของบริษัทจดทะเบียนยังสามารถเติบโตต่อไปได้ จะไม่เกิดการเทขายหุ้นที่รุนแรง และราคาหุ้นสามารถขึ้นต่อได้ตามปัจจัยพื้นฐานและแนวโน้มการเติบโตในอนาคต 

ประเด็นสุดท้ายที่ต้องจับตาต่อจากนี้คือ 3.) การขึ้นภาษีผู้มีรายได้สูง ซึ่งเป็น 1 ในนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของ โจไบเด็น นั้นจะประกาศใช้ในช่วงจังหวะเวลาใด และสามารถทำให้เกิดสมดุลทางการคลังได้เพียงใด เพราะการขึ้นภาษีดังกล่าว  จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯในระยะยาวหดตัวลงประมาณ 1.6%  ดังนั้น และอาจจะทำให้เกิดแรงขายสินทรัพย์เพื่อชำระภาษีได้ ซึ่งจะทำให้สินทรัพย์เสี่ยงผันผวนมากขึ้น

KTBST SEC มองว่าการเติบโตของกำไรบริษัทต่างๆเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้หุ้นในกลุ่มต่างๆยังสามารถซื้อขายในระดับ P/E ที่สูงได้ ปัจจุบันการที่ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงสามารถซื้อขายในระดับ P/E ระดับสูงได้นั้น เป็นเพราะการเติบโตกำไรบริษัทยังฟื้นตัวต่อเนื่องอีดทั้งอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินยังอยู่ในระดับที่ต่ำ  ดังนั้นลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากดำเนินนโยบายของ โจ ไบเดน ยังเป็นกลุ่มที่ KTBST SEC มองว่ายังน่าลงทุนซึ่งได้แก่  กลุ่มเทคโนโลยี , กลุ่มพลังงานสะอาด รวมไปถึงกลุ่มเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ซึ่งมองว่ายังสามารถเลือกลงทุนเป็นสัดส่วนหลักของพอร์ตการลงทุนได้   แต่การลงทุนอาจมีความผันผวนที่สูงอย่างที่ผมได้กล่าวถึงไปดังนั้นนักลงทุนต้องวางแผนและระมัดระมัดการลงทุนอยู่เสมอนะครับ