ทำไมบางประเทศแก้ปัญหาโรคระบาด/เศรษฐกิจตกต่ำได้ดีกว่า

ทำไมบางประเทศแก้ปัญหาโรคระบาด/เศรษฐกิจตกต่ำได้ดีกว่า

Bloomberg จัดอันดับประเทศที่รับมือ และมีโอกาสฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2563

สถิติที่เราเห็นทางสื่อทุกวันมักจะเสนอประเทศที่คนติดเชื้อโควิค-19 สูงที่สุดตามลำดับ เช่น สหรัฐอินเดีย บราซิล รัสเซีย อังกฤษ ฯลฯ แต่กล่าวถึงประเทศที่มีคนติดเชื้อและเสียชีวิตอันดับท้ายๆ น้อย เราน่าจะวิจัยหาข้อมูลการเพิ่มขึ้นว่าบางประเทศจัดการทั้งเรื่องโรคระบาดและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าประเทศอื่นอย่างไร

Bloomberg องค์กรธุรกิจด้านข้อมูลข่าวสารทางเศรษฐกิจและธุรกิจของโลก จัดอันดับประเทศที่รับมือและมีโอกาสฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โรคระบาดโควิดเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2563 ให้คะแนน 15 ประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดตามลำดับดังต่อไปนี้ 1. นิวซีแลนด์ 2. ญี่ปุ่น 3. ไต้หวัน 4. เกาหลีใต้ 5. ฟินแลนด์ 6. นอร์เวย์ 7. ออสเตรเลีย 8. จีน 9. เดนมาร์ก 10. เวียดนาม 11. สิงคโปร์ 12. ฮ่องกง 13. แคนาดา 14. เยอรมัน 15. ไทย Bloomberg อธิบายเหตุผลกว้างๆ ว่า เป็นเพราะประเทศเหล่านี้มีรัฐบาลและระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ ประชาชนไว้วางใจและยินดีปฏิบัติตามนโยบายคำชี้แนะของรัฐบาล และเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางเศรษฐกิจน้อย มีระบบให้บริการสาธารณสุขพื้นฐานและสวัสดิการสังคมที่ค่อนข้างดี

บทวิเคราะห์ชิ้นนี้เขียนก่อนที่ไทยจะเจอโรคระบาดรอบ 2 ตอนต้นปี ๒๕๖๔ ซึ่งสถิติผู้ติดเชื้อสูงกว่ารอบแรก และถึงเดือนมีนาคมตอนนี้ยังอยู่ในภาวะเสี่ยงอยู่มาก แนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจก็ยังไม่ชัดเจน เท่าที่ผมพยายามติดตามข้อมูลจากบทความแหล่งต่างๆ เท่าที่จะหาได้ทางออนไลน์

ประเทศที่อยูลำดับต้นๆเหล่านี้มีส่วนที่คล้ายกัน เช่น ตัดสินใจปิดประเทศ ปิดเมือง และปิดกิจกรรมที่คนมาชุมนุมกันค่อนข้างเร็วและเอาจริงเอาจัง บางประเทศมีการตรวจหาเชิงรุก การควบคุมการกักกันคนเดินทาง คนเสี่ยง และการติดตามการเดินทางของประชาชนทางแอพพลิเคชั่นออนไลน์อย่างเอาการเอางานมาก บางประเทศมีการตรวจบัตรประชาชนสำหรับคนเข้าไปในบางพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังที่เป็นประโยชน์ได้ส่วนใหญ่ใช้แอพพลิเคชั่นผ่านโทรศัพท์มือถือ

แม้แต่ประเทศที่มีการระบาดรอบ 2 เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ เขาก็สามารถบริหารการจัดการได้ดี บางประเทศไม่ได้ล็อกดาวน์ปิดเมือง ปิดกิจการ อย่างหว่านแหหรือเนิ่นนาน มีการผ่อนคลายเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ แต่มีการควบคุมตรวจตาเรื่องการใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง การทำความสะอาด การตรวจหากลุ่มเสี่ยง การกักตัว ฯลฯ อย่างเข้มงวดแบบคงเส้นคงวา บางประเทศอาจเป็นรัฐบาลที่เข้มงวด ประชาชนเคยชินที่จะปฏิบัติตาม แต่บางประเทศทั้งรัฐบาลมีประสิทธิภาพ ประชาชนก็มีวัฒนธรรมในการดูแลสุขภาพตนเองและให้ความร่วมมือกับนโยบายป้องกันโรคติดต่อครั้งนี้อย่างมีวินัยดี (เช่น สิงคโปร์ควบคุมติดตามดูแลนักศึกษาในมหาวิทยาลัยได้อย่างละเอียดรอบคอบมาก)

ในแง่เศรษฐกิจ รัฐบาลบางแห่งใช้งบประมาณในการช่วยเหลือคนตกงานคนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเสียหายมาก ทั้งเงินช่วยเหลือโดยตรง ทั้งการลดภาษี รวมทั้งบางประเทศลดภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราว บางประเทศปฏิรูปเพิ่มเก็บภาษีคนรวยและลดภาษีคนมีรายได้น้อยด้วย  มีการใช้งบประมาณเพื่อการสาธารณสุข การศึกษา การฝึกอบรมให้คนปรับตัวไปทำงานใหม่ สังคมสวัสดิการด้านต่างๆ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น การฟื้นฟูอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (สิงคโปร์ใช้งบแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำช่วงนี้ถึงราว 20% ของ GDP)

 ประเทศที่ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคระบาดได้ดี มักจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ค่อนข้างดีด้วย เศรษฐกิจตกต่ำน้อยกว่าและมีโอกาสฟื้นได้เร็วกว่าประเทศอื่น ข้อน่าสังเกตคือมักจะเป็นรัฐบาลที่ค่อนข้างมีความรู้ เชื่อแพทย์ เชื่อนักวิทยาศาสตร์ มีนโยบายที่ก้าวหน้า รับความเป็นธรรม เมื่อเทียบกับประเทศ เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ อินเดีย บราซิล ที่มีรัฐบาลที่มีความคิดแบบหัวเก่า และประเทศมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงมาก

ความจริงมีประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจมากกว่า 15 ประเทศแรกที่ Bloomberg จัดอันดับไว้ อย่างจีน แม้จะมีสถิติคนติดเชื้อโควิดสูงหลัก 8 หมื่นเศษ  แต่มีผู้เสียชีวิตน้อย ออสเตรเลียก็พอใช้ได้) ประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ ทำได้ดีโดยเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน ก็มีเช่น ไอซ์แลนด์ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กรีก ลิธัวเนีย อาร์เจนตินา

ขณะเดียวกันก็น่าจะศึกษาด้านลบว่าทำไมบางประเทศจัดการกับโรคระบาดได้ค่อนข้างแย่ บางประเทศ เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมที่ร่ำรวย มีวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีก้าวหน้า แต่ปัญหาคือมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงมาก มีคนจนมาก บริการสาธารณสุขและสวัสดิการสังคมอื่นๆ สำหรับประชาชนทั่วไปไม่ค่อยดีหรือไม่ทั่วถึงสำหรับคนรายได้ต่ำ  ประชาชนบางประเทศมีวัฒนธรรมเสรีนิยม ชอบความสนุกสนาน ชอบบริโภคมากเกินไป ไม่ค่อยเชื่อถือ ไม่สนใจคำเตือนของรัฐบาล เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส สวีเดน สเปน อิตาลี

สถิติจัดอันดับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อโควิค-19 จัดอันดับตามสถิติผู้ติดเชื้อที่ยืนยันแล้ว แต่อัตราการเสียชีวิตนั้นแตกต่างกันไป บางประเทศอัตราเสียชีวิตต่ำ โดยเปรียบเทียบกับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนไล่เลี่ยกัน เช่น รัสเซียต่ำกว่าอังกฤษ ขณะที่ฝรั่งเศส เยอรมัน โปแลนด์ อัตราเสียชีวิตก็ค่อนข้างต่ำ อาจจะเป็นเพราะมีการสาธารณสุขที่ดีกว่าหรือประชาชนไม่จนมาก มีภูมิต้านทานดีกว่า แต่ยังไม่ได้มีการวิจัยอย่างละเอียด

ไทยตอนนี้ตามสถิติจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ลำดับที่ด้อยกว่าฮ่องกง นิวซีแลนด์ ไต้หวัน ฯลฯ ประเทศที่อยู่อันดับท้ายๆ ของโลกมักเป็นประเทศเล็กๆ ในหมู่เกาะ หรือบางประเทศในแอฟริกา ซึ่งพึ่งพาตนเองได้ มีการติดต่อกับเศรษฐกิจโลกน้อย แนวการพัฒนาแบบพึ่งตนเองได้มากขึ้นและเน้นการพัฒนาแนวสีเขียวอย่างเป็นธรรมมากขึ้น (Green and Fair) จึงเป็นทางเลือกที่ดี แต่บางประเทศในแอฟริกาและตะวันออกกลางบางประเทศที่ใหญ่หน่อย พัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรมมากก็มีปัญหามากเช่นกัน

ประสบการณ์เรื่องโรคระบาดโควิดครั้งนี้ สอนให้เรารู้ว่าประเทศที่จะแก้ปัญหาทั้งโรคระบาดและเศรษฐกิจได้ดีขึ้นอยู่กับการพัฒนาความรู้สติปัญญา วัฒนธรรม ด้านการมีวินัยในการร่วมมือกันทั้งของประชาชน และชนชั้นนำ ที่ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม  เห็นว่าคุณภาพชีวิตประชาชน สำคัญกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความทันสมัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือการเติบโตของประชาธิปไตยแบบทุนนิยมล้วนๆ   ไทยยังแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ/ชะลอตัว ได้ไม่ดีนัก เพราะระบบเศรษฐกิจไทยมีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนมาก และรัฐบาลยังคิดแก้ปัญหาในกรอบคิดส่งเสริมการเติบโตแนวทุนนิยมอุตสาหกรรม  ที่เอื้อธุรกิจใหญ่ คนชั้นกลางเป็นหลัก  ไม่ได้มุ่งช่วยคนจนให้มีงานทำ มีรายได้แบบพึ่งตนเองได้มากขึ้นอย่างจริงจัง ยังไม่คิดในเชิงปฏิรูประบบเศรษฐกิจสังคมทั้งระบบอย่างแท้จริง

 คนไทยควรอ่านศึกษาวิจัยบทเรียนจากต่างประเทศที่แก้ไขปัญหา/ปรับตัวได้ดี สร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ ที่เน้นการกระจายผลผลิตทางเศรษฐกิจสังคมอย่างเป็นธรรมและเน้นการฟื้นฟูอนุรักษ์สิงแวดล้อม  (fair and green) มากกว่าความเจริญเติบโตทางวัตถุที่เป็นตัวสร้างวิกฤติ เพื่อที่เราจะเผชิญวิกฤติครั้งนี้และครั้งต่อๆ ไปได้ดีกว่าขณะนี้.