อียูผลักดันเทคโนโลยี AI เพื่อรับมือโควิด

อียูผลักดันเทคโนโลยี AI เพื่อรับมือโควิด

การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) กลายเป็นหัวข้อที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

        เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ยังเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนที่สำคัญในการเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจและสังคม “สีเขียวและดิจิทัล” ตามนโยบายของอียู

        ในปี 2563 อียูได้มีการเพิ่มงบประมาณสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์ ขึ้น 3 เท่าเป็น 1,500 ล้านยูโร (จาก 500 ล้านยูโร เมื่อปี 2560) ซึ่งเป็นการย้ำให้เห็นว่าอียูให้ความสำคัญด้านการพัฒนา AI เพิ่มมากขึ้น และสำหรับพัฒนาการที่น่าจับตาในปีนี้ ได้แก่ ร่างกฎหมายด้าน AI ของอียู และแผนการดำเนินการร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอียู (coordinated plan) ซึ่งอียูมีกำหนดที่จะการเผยแพร่เอกสารทั้ง 2 ฉบับในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่ถึง 1 เดือนเท่านั้น

        เมื่อปีต้นปีที่แล้ว อียูได้มีการเผยแพร่เอกสารสำคัญด้านการพัฒนา AI 2 ฉบับเช่นกัน ได้แก่

        1.สมุดปกขาวเรื่อง “Artificial Intelligence - A European Approach to Excellence and Trust” โดยระบุแผนการออกกฎหมายที่จะครอบคลุมมิติเทคโนโลยี จริยธรรม กฎหมาย สังคมและเศรษฐกิจของ AI

        2.เอกสาร “Ethics Guidelines for Trustworthy AI” เพื่อกำหนดแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่มีความก้าวหน้า มีจริยธรรม และปลอดภัย โดยมุ่งสร้าง “AI ที่เชื่อถือได้” ตามที่ทีมงานไทยยุโรปได้เคยรายงานไว้ (โดยสามารถอ่านย้อนหลังได้บน Thaieurope.net)

      ในฉบับนี้ ทีมงานฯ จะรายงานเพิ่มเติมถึงโอกาสและความท้าทายของการพัฒนาเทคโนโลยี AI เพื่อใช้ในการแพทย์และสุขภาพ รวมถึงการนำเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ในอียู

โอกาสของการพัฒนาเทคโนโลยี AI

        เทคโนโลยี AI มีศักยภาพในการช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจอียู เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมสามารถนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้รวดเร็วและมีความแม่นยำสูงและใช้ทรัพยากรน้อย ตั้งแต่การรักษาโรคไปตลอดจนการลดผลกระทบจากการภาคการเกษตรต่อสิ่งแวดล้อม

        รวมถึงการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการเชื่อมต่อและพัฒนายานพาหนะไร้คนขับ เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า และการวินิจฉัยโรคโดยใช้ AI ช่วยเพื่อความแม่นยำ ซึ่งนับเป็นตัวอย่างบางส่วนของการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งทีมงานฯ คาดการณ์ว่าการใช้เทคโนโลยี AI ในชีวิตประจำวันจะกลายเป็น “new normal” แน่นอน

ปัจจุบันมีการใช้ AI ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ และภาครัฐมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ เพื่อช่วยรับมือกับวิกฤติโควิดและทุ่นแรงบุคลากรทางการแพทย์ที่ขาดแคลน

ในสมุดปกขาว อียูได้เสนอให้พิจารณาจัดอุตสาหกรรมการแพทย์ฯ ให้อยู่ในกลุ่มเทคโนโลยี AI ที่มีความเสี่ยงสูง (high-risk AI applications) เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีความอ่อนไหวและมีผลกระทบสูง เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการขนส่ง อุตสาหกรรมพลังงาน และกิจการภาครัฐที่สำคัญ

หมายความว่าการประยุกต์ใช้ AI ในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวต้องเป็นไปตามแนวทางปฏบัติของอียู อาทิ การเก็บรักษาข้อมูล การให้ข้อมูลแก่สาธารณะ และการควบคุมดูแลโดยมนุษย์ เป็นต้น

การนำเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ในอียู

        ส่วนในบริบทของของวิกฤตโควิด-19 นาง Lucilla Sioli ผู้อำนวยการด้าน AI และอุตสาหกรรมดิจิทัล กระทรวงโทรคมนาคมของอียู ได้กล่าวถึงบทบาทสำคัญของ AI ในการช่วยจัดการกับวิกฤตโควิด-19 ในอียู ได้แก่

         1) ช่วยเร่งการพัฒนาวัคซีนและยาป้องกันโควิด-19

        2) ช่วยระบุวิธีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 (ในระรอกแรก)

        3) ช่วยแพทย์วินิจฉัยภาพเอ็กซ์เรย์ปอดของผู้ติดเชื้อโควิด

       นาง Lucilla เน้นย้ำว่า AI นั้นเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูง มีโอกาสในการพัฒนาและนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อีกเยอะ

        นาง Loubna Bouarfa ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัท Okra Technologies กล่าวว่า “ความรวดเร็วและข้อมูล คือ สกุลเงินใหม่ของยุคปัจจุบัน” โดยชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์เพื่อเร่งกระบวนการต่างๆ อาทิ ความสำเร็จในการย่นระยะการคิดค้น ผลิต และแจกจ่ายวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 จากปกติที่อาจต้องใช้เวลาถึง 10 ปีในการผลิตวัคซีนสู่ตลาด เหลือเพียง 10 เดือนเท่านั้น

อียูลงทุนในการพัฒนาเครื่องมือ AI เพื่อใช้ในการตรวจวินิจฉัยเคสโควิด-19 ภายในหนึ่งนาที โดยอัลกอริทึมจะใช้ภาพที่รวบรวมโดยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Tomography: CT) เพื่อตรวจหาเคสที่สงสัยว่าจะเป็นการติดเชื้อโควิด-19 และแจ้งเตือนแพทย์ที่ทำการเอ็กซเรย์ทันที ซึ่งเป็นการลดการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ช่วยให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น และยังเป็นการลดความเสี่ยงของการติดเชื้อข้ามสายพันธุ์อีกด้วย

        เมื่อปลายปี 2563 อียูได้สั่งซื้อหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคจำนวน 200 ตัว เพื่อแจกจ่ายให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ในอียู ซึ่งหุ่นยนต์นี้ใช้ไฟยูวีในการฆ่าเชื้อโรคภายในห้องผู้ป่วย โดยผู้บังคับหุ่นยนต์จะสั่งงานจากภายนอกห้อง เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อไวรัสและแสงยูวี

         กระบวนการฆ่าเชื้อโรคภายในห้องใช้เวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้น ซึ่งเป็นการประหยัดเวลาและลดความเสี่ยงของบุคลกรทางการแพทย์ รวมถึงเป็นการป้องกันและลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิดในโรงพยาบาล

          ทั้งนี้ การใช้ไฟยูวีแทนสารเคมีในการฆ่าเชื้อโรคนั้นเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า เนื่องจากบุคลากรไม่จำเป็นต้องสัมผัส ขนย้าย หรือ จัดเก็บสารเคมีอันตรายที่มีฤทธิ์กัดกร่อน

          ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 ก.พ. นี้ อียูได้นำส่งหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรครอบแรกจำนวน 31 ตัวให้แก่โรงพยาบาลในสโลวาเนียเป็นแห่งแรก ตามด้วย เบลเยียม เดนมาร์ก เยอรมนี เอสโตเนีย ไอร์แลนด์ กรีซ สเปน โครเอเชีย ลิทัวเนีย ลักซัมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์

        อีกเทคโนโลยีที่มองข้ามไม่ได้ คือ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ซึ่งภายใต้โครงการ Exscalate4Cov ของอียู ได้ทำการทดลองซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีความซับซ้อนที่สุด เพื่อสำรวจวิธีการใหม่ ๆ ในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเบื้องต้นพบว่า ยารักษาโรคกระดูกพรุน (raloxifene) เป็นยาที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดและอาจสามารถนำมาใช้เพื่อลดอาการโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยได้

      เป้าหมายปัจจุบันของโครงการนี้ มุ่งเสริมสร้าง "ห้องสมุดโมเลกุล" และค้นหาโมเลกุลใหม่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นยารักษาเชื้อไวรัสโควิด-19

ความท้าทายของการพัฒนาเทคโนโลยี AI

        ทั้งนี้ เทคโนโลยี AI นั้นมีข้อจำกัดเช่นกัน อาทิ การทำงานของ AI นั้นขาดความโปร่งใส และในบางกรณีก็ไม่สามารถอธิบายถึงกระบวนการทำงานของ AI ได้ ซึ่งอียูมองว่าประเด็นนี้ อาจเป็นช่องว่างให้มีการละเมิดสิทธิในการใช้ข้อมูลได้ อีกทั้งยังมีประเด็นถกเถียงเรื่องความรับผิดชอบ (liabilities) เนื่องจาก AI นั้นมิใช่บุคคลหรือบริษัท

           เพราะฉะนั้นในกรณีเกิดความผิดพลาด ความรับผิดชอบควรตกอยู่กับบริษัทผู้ผลิตและ/หรือผู้ให้บริการ AI ดังนั้น อียูจึงต้องการเสนอร่างกฎหมายที่รักษาสมดุลระหว่างการพัฒนา AI และการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้แก่ประชาชนอียู ซึ่งเป็นความท้าทายของการออกร่างกฎหมายฯ นี้

        ในส่วนของการแข่งขันระดับโลกระหว่างสหรัฐฯ จีน และยุโรปในการเร่งพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่มีความฉลาดเพิ่มมากขึ้นนั้น อียูมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำในการเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา AI ที่ทันสมัยและใช้ประโยชน์จากศักยภาพของ AI อย่างเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันอียูยังต้องการผลักดันค่านิยมของอียูที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (human-centric approach) มีจริยธรรม ปลอดภัย และที่สำคัญต้องเคารพสิทธิของประชนด้วย

ทั้งนี้ ประเด็นต่าง ๆ ที่ภาคประชาสังคมและประชาชนอียูบางส่วนยังมีข้อกังวล ได้แก่ มาตรฐานและความปลอดภัยของ AI รวมถึงประเด็นด้านจริยธรรมและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าที่มีกระแสต่อต้านมากมาย ดังนั้น อียูจึงเน้นแนวทางในการพัฒนา AI ควบคู่ไปกับการเสนอกรอบกฎหมายที่เหมาะสม เพื่อควบคุม AI ให้อยู่ในกฎเกณฑ์และไม่ละเมิดค่านิยมของอียู

        ขณะนี้ ประเทศสมาชิกและคณะกรรมาธิการยุโรปกำลังร่วมกันพัฒนากรอบกฎหมายสำหรับกลุ่มเทคโนโลยี AI ที่มีความเสี่ยงสูง และแผนการดำเนินการร่วมกัน เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของแต่ประเทศสมาชิกและอียูให้สอดคล้องกัน โดยร่างกรอบกฎหมายฯ นี้ สร้างขึ้นจากความแข็งแกร่งของอียูในด้านต่าง ๆ

           อาทิ กฎหมาย GDPR งานวิจัยที่เป็นเลิศ ความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ยานยนต์และหุ่นยนต์ กรอบกฎหมายที่มั่นคง และความหลากหลายทางวัฒนธรรม อีกทั้งกฎหมายนี้ จะเป็นการสร้าง level playing field ด้าน AI ในอียูอีกด้วย ซึ่งทางทีมงานฯ จะคอยติดตามพัฒนาการกฎหมายอียู และประเด็นที่น่าสนใจมารายงานในฉบับหน้า.