แข่งกันโต อย่าแข่งกันเตี้ย

แข่งกันโต อย่าแข่งกันเตี้ย

ความดีนั้น  ยิ่งบอกต่อกันไปก็ยิ่งทรงพลังมากขึ้น  การแข่งกันทำความดีเป็นความสำเร็จแบบไม่มีผู้แพ้ และยังเป็นการสร้างทุนทางสังคมในการฝ่าวิกฤติ

          หัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศอยู่ที่สังคมเข้าใจคำว่า “พัฒนา” ดีแค่ไหน  โมเดลการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จคือโมเดลที่ส่งเสริมให้ทุกองคาพยพของประเทศสามารถเติบโตได้   เหมือนกับต้นไม้ในป่าที่แย่งกันพุ่งขึ้นไปข้างบน  เพราะมีแต่แนวทางนี้เท่านั้นที่จะเกิดป่าที่สมดุล  สมบูรณ์ และสมประโยชน์กับทุกชีวิตในระบบนิเวศ

          หากย้อนกลับมามองบรรยากาศทางการเมืองของไทยในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา  มันช่างขัดกับหลักการแข่งกันโตเสียเหลือเกิน  กลุ่มการเมืองที่เห็นต่างเอาแต่ดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม  สาดสีโจมตีกันโดยหวังจะทำให้อีกฝ่ายเตี้ยลง  พอหลงอยู่กันทัศนคติเช่นนี้นานเกินไปต่อให้เอาความจริงมาวางไว้ตรงหน้า  หากเป็นความจริงที่ไม่ตรงกับธงในใจของตัวเองแล้วก็จะเบือนหน้าหนี หรือไม่ก็บิดความจริงนั้นให้เบี้ยวไป 

          ความมุ่งมั่นทำให้ฝ่ายตรงข้ามเตี้ยลง มันไปเข้าทางนักการเมืองกับนักคิดที่มีวาระในใจตัวเองแล้วใช้คนไทยเป็นเครื่องมือ  เพราะนักการเมืองและนักคิดเหล่านี้จะเติบโตได้ดีในสังคมที่แตกแยก  เต็มไปด้วยอคติ  มีการตั้งแง่  ค่อยแต่จะตัดตอนความคิดของกันและกัน  ความสำเร็จในการเสี้ยมของคนเหล่านี้คือการสร้างภาพว่าคนเห็นต่างจากพวกเขาล้วนเป็นคนไม่ดี มีแต่คนเห็นด้วยถึงจะเป็นคนดี 

          ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น  การทำดีเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหมือนกับการซื้อเสื้อผ้า  การกู้เงิน  การทำมาค้าขาย  เนื่องจากหากใครสักคนต้องการทำดี  เขาต้องเปรียบเทียบต้นทุนจากการกระทำของเขากับประโยชน์ที่ได้รับกลับมา  เมื่อใดเขาคิดว่าประโยชน์ที่ได้มากกว่าต้นทุนที่เกิดขึ้นเขาก็จะตัดสินใจทำความดี  ในทางกลับกัน  การทำดีจะไม่เกิดขึ้นถ้าเข้าคิดว่าทำแล้วได้ไม่คุ้มเสีย  ปัญหาก็คือ  แต่ละคนมีคำนิยามของ ประโยชน์จากการทำความดี กับ ต้นทุนของการทำความดี ไม่เหมือนกัน   

          แต่ถ้าทุกคนมีคุณค่าพื้นฐานที่เหมือนกัน  เช่น  การให้เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน  การเคารพกฎหมาย  การค้นหาข้อมูลให้รอบด้านไม่เชื่อข่าวลวงข้อมูลเท็จที่มาจากคนบางคน  ท่าที่ที่เหมาะสมต่อความเห็นที่แตกต่าง  เป็นต้น  หากมีสิ่งเหล่านี้  ถึงเห็นต่างกันในบางเรื่องก็ยังสามารถเดินหน้าไปด้วยกันได้  เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นบนคุณค่าพื้นฐานชุดเดียวกัน

การทำความดียังเป็นการลงทุนเพื่อสร้างทุนทางสังคม  งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันตรงกันว่า  สังคมที่มีทุนทางสังคมสูงเป็นสังคมที่มีภูมิต้านทานเชื้อโรคทางสังคมที่เข้มแข็ง  ถึงแม้จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน  มีการกระทบกระทั่งกันบ้าง  ทุนทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการลงทุนทำความดีสะสมไว้ก็ยังจะช่วยประคับประคองสมาชิกในสังคมให้ผ่านพ้นไปได้ 

          นอกจากนี้แล้ว  สังคมที่ทุกคนแย่งกันทำดี  ยังช่วยให้การจัดสรรทรัพยากรที่มีความเท่าเทียมกันมากกว่าสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง  เมื่อความขัดแย้งลดลง  ทรัพยากรที่เคยใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งก็จะถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นเพื่อสังคมได้อีก

สังคมไทยในปัจจุบันเต็มไปด้วยปัญหาที่รอการแก้ไข  ทางออกของปัญหาบางเรื่องเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม  ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสังคมนั้น  ต้องเริ่มต้นจากตัวเรา  เมื่อเราเปลี่ยนแปลงตนเอง  คนรอบข้างจะค่อยๆ เปลี่ยนไป  ถึงวันนี้ทำดีคนเดียวก็ไม่เป็นเป็นไร  สังคมใช่ว่าจะเปลี่ยนได้ในวันเดียว  เพราะธรรมชาติของมนุษย์กลัวการเปลี่ยนแปลง  ขอให้ทำไปวันละเล็กละน้อย  อีกไม่นานคนอื่นจะเริ่มเอาเป็นตัวอย่างเอง   เรียกว่า  ทำดีคนเดียว  ได้ดีหลายคน

ความดีนั้น  ยิ่งบอกต่อกันไปก็ยิ่งทรงพลังมากขึ้น  การแข่งกันทำความดีเป็นความสำเร็จแบบไม่มีผู้แพ้  การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ยั่งยืนไม่เคยเกิดขึ้นจากความเกลียดชัง  อัตตาไม่ใช่รากฐานของการสร้างชาติ  การบิดเบือนความจริงไม่ใช่ทางออกของประเทศ  ถ้าประเทศไทย คือ บ้าน  เมื่อมีเป้าหมายเดียวกันว่าอยากจะเห็นบ้านหลังนี้น่าอยู่  ก็ควรจะวางอัตตาลงแล้วหันมาหาทางออกร่วมกัน  ยอมถอยกันคนละก้าว  แล้วคุยกันด้วยหลักคิดของการแข่งกันโตด้วยความดี  ทำแบบนี้นอกจากจะสร้างบ้านสำเร็จ  เรายังได้ช่วยกันการถีบสมาชิกตัวปลอมออกจากบ้านอีกด้วย

เริ่มต้นสิ่งที่ดีให้กับชีวิตของตัวเอง  ครอบครัว  คนรอบข้าง  แค่นี้ก่อนก็พอ  ลองคิดดูว่า  แทนที่จะตั้งหน้าตั้งตาจับผิดคนอื่น  กดคนคิดต่างให้จมลง  เปลี่ยนมาเป็นทุกคนช่วยทำความดีกันวันละครั้ง  ทุกวันจะมีความดีเกิดขึ้นกว่าหกสิบล้านเรื่อง   ทุกสัปดาห์จะมีความดีเกิดขึ้นสี่ร้อยยี่สิบล้านเรื่อง  และทุกปีจะมีความดีเกิดขึ้นถึงสองหมื่นหนึ่งพันแปดร้อยสี่สิบล้านเรื่อง  ประเทศที่เต็มไปด้วยความดีมากมายขนาดนี้จะน่าอยู่สักแค่ไหนกันหนอ.