เส้นทาง Deep Tech สู่ Big Tech   

เส้นทาง Deep Tech สู่ Big Tech   

วงการนวัตกรรมทั่วโลกต่างมองว่าปี 2021 จะเป็นปีทองของ Deep Tech เพราะความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในทศวรรษใหม่นี้

         เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในทศวรรษใหม่นี้ ไม่ว่าจะด้าน Deep Learning, Quantum Tech หรือ Biotech อยู่ในจุดที่สุกงอมเต็มที่และกำลังถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาและต่อยอดเชิงพาณิชย์  ในสายตาของนักลงทุน 10 ปีที่แล้วคือยุคของ Consumer Internet ในขณะที่อนาคต 5-10 ปีข้างหน้าจะเป็นยุคของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนตั้งแต่เรื่องของ อาหาร พลังงาน การทำงาน การใช้ชีวิต และการดูแลสุขภาพ  แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเชิงลึกหรือ Deep Tech กำลังเกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดดทั่วโลก

ข้อมูลจาก Dealroom.co ระบุว่ามูลค่าของธุรกิจ Deep Tech เกิดใหม่ในยุโรปหลังปี 2000 เติบโตขึ้นเกือบ 4,000 เปอร์เซ็นต์จากมูลค่า 5,000 ล้านยูโรในปี 2010 พุ่งสู่เกือบ 2 แสนล้านยูโรในปี 2020

             เส้นทางการเติบโตของบริษัท Deep Tech ชั้นนำทั่วโลกต่างมีเส้นทางที่คล้ายคลึงกันนั่นคือ

 1) ทีมงานผู้ก่อตั้งเกือบทั้งหมดเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

2) เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาจากงานวิจัยในมหาวิทยาลัยและ Spin out ออกมาเป็นธุรกิจ

3)  เงินลงทุนก้อนแรกโดยส่วนใหญ่มาจากการสนับสนุนของภาครัฐ

4) การระดมทุนรอบถัดไปมักจะเกิดขึ้นหลังจากได้เป็นพันธมิตรกับองค์กรธุรกิจที่เป็นผู้นำอุตสาหกรรม

5) การเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โดยส่วนใหญ่ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี  

 สำหรับตัวอย่างของ Deep Tech ที่ประสบความสำเร็จ หนึ่งในตัวอย่างนั้นก็คือ BioNTech ผู้พัฒนาเทคโนโลยี Messenger RNA (mRNA) ที่นำมาใช้เป็นวัคซีน Covid-19  BioNTech ก่อตั้งโดยนักวิจัยสองสามีภรรยาจากมหาวิทยาลัย Mainz ในเยอรมนี ใช้เวลา 11 ปี เติบโตจากการเป็นแล็บพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการรักษาโรคมะเร็ง สู่ IPO ในปี 2019 และล่าสุดมีมูลค่าบริษัทอยู่เกือบ 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าย้อนกลับไปดูเส้นทางของ BioNTech ในช่วง 10 ปีแรกของการทำธุรกิจบริษัทขับเคลื่อนด้วยแรงสนับสนุนของภาครัฐ (EU) เป็นหลัก

 การระดมทุน Series A เพิ่งจะเกิดขึ้นในช่วงปี 2018 หลังจากที่เริ่มได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ Pfizer ในการนำเอาเทคโนโลยี mRNA ไปใช้พัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจุดนี้ถือเป็นจุดหักเหที่ทำให้ BioNTech ได้โอกาสในการก้าวไปสู่ความเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ การจับมือเป็นพันธมิตรกับ Pfizer ทำให้ BioNTech ได้มีช่องทางในการนำเอาเทคโนโลยี mRNA ไปใช้พัฒนาวัคซีน Covid-19 ซึ่งเปรียบเสมือนตัวเร่งที่ทำให้ธุรกิจเติบโตรวดเร็วแบบเหนือความคาดหมาย และล่าสุดก็ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทยายักษ์ใหญ่ในจีน Fosun Pharma เพื่อผลิตและกระจายวัคซีนกว่า 100 ล้านโดสให้กับประเทศจีน

 ในยุคที่โอกาสของ Deep Tech กำลังกระจายตัวอยู่ในแทบจะทุกอุตสาหกรรม องค์กรใหญ่ต่างเร่งมือที่จะหาพันธมิตรที่มีเทคโนโลยีมาเดินร่วมทางเพื่อทำให้เกิดโซลูชั่นใหม่ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาและสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ ความท้าทายจากนี้ไปไม่ได้อยู่ที่เรื่องของการเฟ้นหาเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียว แต่คือจะสร้างระบบนิเวศอย่างไรให้นักวิจัยและสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีเชิงลึกมีแรงจูงใจในการปั้นธุรกิจและสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการเติบโตได้ตรงจุดและทันการณ์ เหนือสิ่งอื่นใดสามารถเข้าถึงช่องทางในการเป็นพันธมิตรกับภาคธุรกิจเพื่อนำเทคโนโลยีไปต่อยอดให้เกิดการใช้งานได้ในวงกว้าง.