การคิดเชิงบวกเมื่อเริ่มสูงวัย

การคิดเชิงบวกเมื่อเริ่มสูงวัย

สินค้าและบริการสำหรับผู้สูงวัยมักจะตอกย้ำในเชิงลบ แต่แนวโน้มที่พบในปัจจุบันคือแบรนด์ต่างๆ จะเริ่มหันมาใช้คำที่เป็นเชิงบวกกันมากขึ้น

       ประเทศไทยกับความเป็นสังคมผู้สูงอายุนั้นเป็นสิ่งที่หนีกันไม่พ้น ตัวเลขจากองค์การสหประชาชาติระบุว่าในปี ค.ศ. 2025 คนไทยที่อายุเกิน 65 จะมีร้อยละ 16.2 ของประชากรทั้งหมดและในปี ค.ศ. 2030 ร้อยละ 19.6 จากนั้นก็จะเพิ่มไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นร้อยละ 30.3 ในปี ค.ศ. 2055 หรืออาจจะกล่าวได้ว่าในเวลาอีกไม่เกิน 35 ปี คนไทยที่อายุเกิน 65 จะมีเกือบหนึ่งในสามของคนไทยทั้งหมด ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดขึ้นแต่กับประเทศไทยอย่างเดียวแต่เป็นสิ่งที่กำลังเกิดข้ึนทั่วโลกและนำไปสู่การเติบโตสำหรับธุรกิจหลายๆ ประเภทที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ

        โดยส่วนใหญ่แล้วธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมักจะเป็นในเรื่องของการ เยียวยาหรือบรรเทาความสูงวัยที่กำลังมาเยือน ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ผิวพรรณ ร่างกาย หรือ แม้กระทั่งจิตใจ รวมถึงบรรดาสินค้าหรือบริการต่างๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงวัย เป็นต้น จะสังเกตได้ว่าสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงวัยส่วนมากมักจะตอกย้ำถึงวัยที่เพิ่มขึ้น ข้อความหรือสื่อทางการตลาดที่ออกมาส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นในเชิงลบที่ย้ำความสูงวัยมากขึ้น อย่างไรก็ดีในปัจจุบันเริ่มมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดของสินค้าสำหรับผู้สูงวัยใหม่ เป็นการเน้นในด้านบวกมากขึ้น

        ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิวสำหรับผู้สูงวัยหรือกำลังจะเข้าสู่ความสูงวัย ทั่วโลกแล้วอุตสาหกรรมนี้มีการเติบโตเกือบร้อยละ 8 ในช่วงปี ค.ศ.2013-2019 ขณะที่ในปี 2020 ที่ผ่านมาก็มีมูลค่าอุตสาหกรรมทั่วโลกถึง $58.5 billion โดยที่มีการคาดการณ์ว่าในปี 2026 อุตสาหกรรมดังกล่าวจะมีมูลค่าถึง $88.3 billion สำหรับในประเทศไทยเองยังไม่มีตัวเลขออกมา แต่กระแสความนิยมไม่น่าจะแพ้ประเทศอื่นๆ สังเกตได้จากลูกค้าหลักของเคาน์เตอร์เครื่องสำอางต่างๆ ในห้างสรรพสินค้าได้เลย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเทศกาลลดราคา)

        ที่ผ่านมานั้นบริษัทที่ผลิตเครื่องสำอางและการดูแลผิวสำหรับผู้สูงวัย มักจะชูจุดขายในเรื่องของการต่อต้านหรือชะลอความสูงวัยหรือ Anti-aging ทำให้มีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่จะซื้อทุกผลิตภัณฑ์ที่มีคำว่า Anti-aging ที่ขวางหน้า แต่ในปัจจุบันเริ่มมีแนวโน้มใหม่ที่สำคัญนั้นคือการเลิกชูคำว่า Anti-aging ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและการดูแลผิว ทั้งนี้เนื่องจากว่าคำว่า Anti-aging นั้นจะเป็นคำที่จะออกในเชิงลบนั้นคือการต่อต้านหรือชะลอต่อความสูงวัย นอกจากนี้ยังให้ความรู้สึกกับผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์ Anti-aging เหมาะสำหรับผู้สูงวัยที่ต้องการชะลอหรือยับยั้งร่องรอยของความสูงวัย ในขณะที่จริงๆ แล้วผู้ที่ยังไม่สูงวัยก็สามารถใช้ผลิตภัณฑ์​เหล่านี้ได้เช่นเดียวกัน

        แนวโน้มที่พบในปัจจุบันคือแบรนด์ต่างๆ จะเริ่มหันมาใช้คำที่เป็นเชิงบวกกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคำว่า ‘glow’ หรือ ‘radiance’ หรือ ‘luminosity’ ซึ่งล้วนเป็นคำที่ชวนคิดในเชิงบวกว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เมื่อใช้แล้วจะทำให้ใบหน้าและผิวพรรณเปล่งประกาย มีน้ำมีนวล มากกว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลบริ้วรอย หรือ ชะลอความเหี่ยวย่นบนใบหน้า

        ตัวอย่างข้างต้นเป็นตัวอย่างเล็กๆ ของแนวคิดที่หันมาเน้นทัศนคติหรือมุมมองในเชิงบวกเกี่ยวกับความสูงวัยหรือที่บางคนเรียกกันว่า Positive Aging ซึ่งเป็นแนวคิดที่ครอบคลุมทั้งความคิด ทัศนคติ ประสบการณ์ เกี่ยวกับสิ่งดีๆ ของความเป็นผู้สูงวัย ซึ่งตรงข้ามกับในอดีตที่มักจะเชื่อว่าการก้าวสู่ความเป็นผู้สูงวัยแล้วก็จะเป็นช่วงปลายของชีวิต เป็นช่วงที่ผ่านพ้นวัยสดใสของชีวิตไปแล้ว

        ปัจจุบันมีตัวอย่างและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Positive Aging อย่างมากมาย อย่างเช่น พบว่ากลุ่ม Baby Boomer (ผู้ที่มีวัย 57 ปีข้ึนไป) เป็นกลุ่มที่เข้าไปเป็นสมาชิกสถานออกกำลังกายมากที่สุด หรือ เป็นกลุ่มที่ใช้เวลาเกือบห้าชั่วโมงต่อวันกับ Smartphones รวมทั้งเป็นกลุ่มที่มีการสั่งซื้อของออนไลน์มากที่สุด

        เมื่อมองในเชิงโอกาสทางธุรกิจ สินค้าและบริการสำหรับผู้สูงวัยในอนาคตไม่จำเป็นจะต้องเน้นแต่การช่วยเหลือ อำนวยความสะดวก หรือ ชะลอวัยเท่านั้น แต่สามารถเป็นสินค้าหรือบริการที่เน้นในมุมของ Positive Aging ได้เช่นเดียวกัน.