เราต้องคิดหนักเรื่องอนาคตประเทศ

เราต้องคิดหนักเรื่องอนาคตประเทศ

วิกฤติโควิด-19 มาถึงเดือนนี้ก็นานกว่าหนึ่งปี เป็นหนึ่งปีที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศ

ที่สำคัญวิกฤติคราวนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาและความอ่อนแอหลายอย่างที่ประเทศมี ที่จำเป็นต้องแก้ไขเพราะจะส่งผลอย่างสำคัญต่ออนาคตของประเทศ การแก้ไขต้องมาจากกลุ่มผู้นำประเทศที่มีอำนาจเศรษฐกิจและการเมืองขณะนี้ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ต้องคิดและร่วมรับผิดชอบในการนำพาประเทศไปในทางที่ดีขึ้นเพื่ออนาคตของส่วนรวม นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ในทางเศรษฐกิจ ปัญหาสำคัญของประเทศ คือ ไม่สามารถเติบโตในอัตราที่สูงพอที่จะทำให้ชีวิตและความเป็นอยู่ของคนทั่วประเทศดีขึ้น รวมถึงยกระดับประเทศไปสู่ระดับการพัฒนาที่สูงขึ้น ทั้งที่ทรัพยากรเศรษฐกิจและศักยภาพของประเทศมีมาก ปัญหานี้เป็นผลโดยตรงจากโครงสร้างเศรษฐกิจและการบริหารประเทศที่สะสมมานาน 

หนึ่ง โมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจที่พึ่งการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อน ต้องยอมรับว่าปัจจุบันอาจไม่เหมาะสมแล้วจากเหตุผลทั้งอุปสงค์และอุปทาน  ด้านอุปสงค์ ระบบโลกาภิวัตน์ที่เป็นฐานการเติบโตของการค้าโลกปัจจุบันมีความไม่แน่นอนมาก ทั้งจากข้อพิพาททางการค้าของประเทศหลัก เช่น สหรัฐกับจีน จากความเสี่ยงของปัจจัยอย่างโรคระบาดหรือภัยธรรมชาติที่สามารถกระทบห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศได้อย่างกว้างขวาง รวมถึงความต้องการของประเทศต่างๆ ที่จะสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศตนเอง โดยลดการพึ่งพาต่างประเทศ ทั้งหมดจะกระทบการเติบโตของการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในอนาคต

 

ด้านอุปทาน ความสามารถในการแข่งขันของประเทศเราลดลงต่อเนื่อง เพราะประเทศไม่มีการลงทุนอย่างจริงจังมาเป็นเวลานานทั้งโดยภาครัฐและเอกชน ทำให้ประเทศไม่มีสินค้าใหม่ หรือการเติบโตด้านนวัตกรรมที่จะขับเคลื่อนการส่งออก การลงทุนจากต่างประเทศก็ลดลงไปมาก เพราะค่าจ้างแรงงานในประเทศแพงขึ้น บวกกับความไม่พร้อมของระบบการศึกษาและนวัตกรรมที่ทำให้ประเทศขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ นอกจากนี้ปัจจัยด้านการบริหาร เช่น การทุจริตคอรัปชันและความไม่เสถียรของนโยบาย ทำให้นักลงทุนต่างประเทศเลือกที่จะไปลงทุนประเทศอื่นแทน ผลคือเราไม่มีฐานการผลิตใหม่จากต่างประเทศเข้ามาเสริม หรือต่อยอดอุตสาหกรรมที่มีอยู่ให้ทันสมัยขึ้น การส่งออกของประเทศเราจึงชะลอ พร้อมกับความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง

 

ปัญหาด้านอุปสงค์อุปทานนี้เกิดขึ้นกับภาคท่องเที่ยวเช่นกัน คือ ธุรกิจท่องเที่ยวอ่อนไหวต่อความต้องการในต่างประเทศและมีความสามารถในการแข่งขันน้อย เห็นได้จากกลุ่มลูกค้าหลักที่เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มล่างประเภท low-end จากจีน อินเดียและรัสเซีย ที่เน้นเรื่องราคาเป็นหลัก ทำให้ภาคการท่องเที่ยวไม่มีการพัฒนาไปสู่ระดับที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงขึ้น ผลคือความสามารถในการหารายได้ของประเทศทั้งจากการส่งออกและการท่องเที่ยวนับวันจะมีข้อจำกัดมากขึ้น

 สอง เทียบกับประเทศอื่นเศรษฐกิจเราไม่มีพลังที่จะเติบโตจากภายในที่มีการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเพราะในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เราไม่เคยมีนโยบายที่จะเปลี่ยน (Shift) เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการส่งออกและการท่องเที่ยวมาเป็นการบริโภคและการลงทุนในประเทศ เหมือนที่จีนและเกาหลีใต้ทำ อีกเหตุผลหนึ่งมาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ประเทศมี ที่ประชากรส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำ ไม่มีกำลังซื้อ ไม่มีเงินออม และไม่มีความสามารถที่จะขยายการเติบโตของรายได้ สิ่งเหล่านี้ เมื่อรวมกับการไม่ลงทุนของภาครัฐและภาคธุรกิจ บวกกับระดับหนี้ครัวเรือนที่ได้เพิ่มขึ้นถึงระดับสูงสุดแล้ว เศรษฐกิจไทยก็ไม่มีพลังที่จะเติบโตจากปัจจัยภายในประเทศ ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจถูกกระทบรุนแรงเมื่อสถานการณ์ต่างประเทศพลิกผัน อย่างที่เกิดขึ้นปีที่แล้ว

 

ข้อมูลแรงงานชี้ให้เห็นถึงปัญหานี้ค่อนข้างชัดเจน ในปี 2563 ประเทศเรามีกำลังแรงงาน 38.2 ล้านคน ทำงานอยู่ในภาคบริการและการค้า 17.5 ล้านคน เกษตรกรรม 11.3 ล้านคนและการผลิตหรืออุตสาหกรรม 8.6 ล้านคน เห็นได้ว่า เกือบ 30 ล้านคนหรือร้อยละ 80 ของกำลังแรงงานอยู่ในภาคการผลิตที่มีผลิตภาพ (Productivity) ต่ำ สะท้อนข้อเท็จจริงของแรงงานส่วนใหญ่ที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือต่ำกว่า ทำให้ประเทศมีข้อจำกัดในเรื่องทักษะแรงงาน ปัญหานี้ส่งผลต่อความสามารถในการหารายได้ของประเทศ ต่อการรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อพัฒนาภาคการผลิตของประเทศในระดับที่สูงขึ้น และต่อการสร้างกำลังซื้อในประเทศและใช้กำลังซื้อผลักดันการผลิตในประเทศไปสู่การผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ นี่คือความไม่สมดุลที่เศรษฐกิจเรามีอยู่

สาม ปัญหาสองข้อแรกเป็นผลโดยตรงจากนโยบายและการบริหารประเทศที่ผ่านมา ที่มองข้ามความสำคัญและความสมดุลของโครงสร้างเศรษฐกิจ สะท้อนว่า การทำนโยบายที่ผ่านมาไม่สามารถหาจุดร่วมหรือฉันทามติในกลุ่มผู้นำทั้งในภาคการเมืองและภาคธุรกิจ ที่จะผลักดันประเทศไปสู่ความก้าวหน้าในระดับที่สูงขึ้น ตรงกันข้าม ประเทศพยายามเติบโตบนความไม่สมดุลของเศรษฐกิจที่ไม่มีการแก้ไข นอกจากนี้ปัญหาในการบริหารประเทศ เช่น การทุจริตคอรัปชัน การใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้อง และปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ก็ยิ่งบิดเบือนการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจและสร้างข้อจำกัดมากขึ้นให้กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ผลสำคัญอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือประเทศได้เป็นเหมือน “สังคมซ้อนสังคม” คือ สังคมส่วนบนที่มีอำนาจเศรษฐกิจอำนาจการเมืองและกำหนดนโยบาย กับ สังคมส่วนล่างซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีอำนาจการเมืองและอำนาจเศรษฐกิจ สองสังคมนี้ซ้อนกันอยู่และไม่มีการเชื่อมต่อในแง่ผลของนโยบายที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนทุกกลุ่มดีขึ้น เป็นเศรษฐกิจรูปตัว K แบบไทยๆ ที่ส่วนล่างของตัว K คือคนจำนวนมากที่ต้องพึ่งรัฐในเรื่องความเป็นอยู่ เห็นได้จากมาตรการเยียวยาที่ผ่านมา

ปีนี้ตั้งแต่เริ่มมีการฉีดวัคซีนและผลเบื้องต้นของวัคซีนที่ออกมาว่ามีประสิทธิภาพ ทำให้เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในความรู้สึกใหม่ คือ ความรู้สึกว่าจุดแย่สุดของวิกฤติโควิด-19 ได้ผ่านพ้นไปแล้วและเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่การฟื้นตัว หลายประเทศขณะนี้ได้มองข้ามช็อตเรื่องโควิด-19 ไปสู่การเติบโตหลังโควิด ว่าจะเติบโตอย่างไรอย่างปลอดภัย จะหาประโยชน์อย่างไรถ้าเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้ก่อน โดยมุ่งไปที่ 3 โจทย์ใหญ่เพื่อทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจและความกินดีอยู่ดีของคนในประเทศมีความยั่งยืน

หนึ่ง ใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีสนับสนุนการฟื้นตัวและการเติบโตของเศรษฐกิจ และดูแลผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีต่อการจ้างงาน การมีงานทำและความเป็นอยู่ของคนในประเทศ

สอง ส่งเสริมภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจให้มีบทบาทนำในการฟื้นตัวและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ โดยเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน และบทบาทหน้าที่ของภาคธุรกิจต่อสังคม

สาม บทบาทภาครัฐที่จะสนับสนุนบทบาทนำของภาคเอกชนในการฟื้นและสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจ ผ่านการสร้างระบบแรงจูงใจที่ถูกต้อง การลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานทั้งในด้านสาธารณูปโภค สาธารณสุข การศึกษา ระบบสวัสดิการต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน และให้ประโยชน์ต่อประชาชนอย่างทั่วถึง

            นี่คือทิศทางและความตื่นตัวที่ประเทศต่างๆ กำลังมุ่งไปเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่เข้มแข็งกว่าเดิม

คำถามคือแล้วประเทศไทยของเราจะไปอย่างไรต่อ ท่ามกลางปัญหาที่ประเทศมีอยู่ และการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก เราเตรียมพร้อมหรือยังสำหรับเศรษฐกิจโลกหลังโควิด ที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่คนในประเทศดีขึ้น คำตอบนี้ต้องมีและต้องมาจากผู้มีอำนาจเศรษฐกิจและการเมืองทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ ว่าจะพาประเทศไทยไปทางไหน เป็นเรื่องที่ต้องคิดและเป็นความรับผิดชอบต่อส่วนรวมที่ปฏิเสธไม่ได้.