Frontier Innovation ทางออกอนาคต  

Frontier Innovation ทางออกอนาคต  

เกาะติดความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ในไทย ที่มี Market Cap ระดับหลายหมื่นล้าน กับธุรกิจที่เรียกว่า Frontier Innovation

              ความเคลื่อนไหวในระยะนี้ก็คือ หลายองค์กรกำลังเร่งเดินสายลงทุนกับกองทุนต่างประเทศที่ลงทุนในสตาร์ทอัพที่พัฒนา Frontier Technology หรือถ้าเป็นองค์กรได้เคยลงทุนผ่านกองทุนมาแล้ว ก็เริ่มจะขยับไปลงทุนแบบ Direct Investment กับสตาร์ทอัพในกลุ่มนี้  ซึ่งเป้าหมายการลงทุนเป็นการลงทุนเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจอนาคตและเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ก่อนผู้เล่นรายอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน ผู้บริหารหลายรายมองว่าการพัฒนาสตาร์ทอัพในกลุ่มนี้ของไทยมีทางเป็นไปได้ อาจจะง่ายกว่าการสร้าง Digital Startup เสียด้วยซ้ำเพราะยังไม่มียักษ์ใหญ่ครอบครองตลาดและยุคนี้คือจุดเปลี่ยนของเทคโนโลยีที่จะทำให้โอกาสการสร้างนวัตกรรมพลิกโลก มีทางเป็นไปได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีเงินทุนมหาศาล ณ จุดเริ่มต้น

        ที่ผ่านมาเราจะได้ยินคำว่า “Frontier Research” ที่เกี่ยวโยงกับงานวิจัยระดับแนวหน้าที่มักจะถูกพัฒนาขึ้นจากโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยเพื่อมุ่งไปสู่การค้นพบสิ่งใหม่เช่น การพัฒนาด้านชีวสารสนเทศที่จะนำไปสู่การค้นพบวิธีการรักษาโรคแบบใหม่ หรือการนำเอาวัตถุดิบจากธรรมชาติมาพัฒนาโปรตีนทางเลือกที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าเนื้อสัตว์จากธรรมชาติ หรือถ้าเป็นงานวิจัยในกลุ่มพลังงานก็จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทางเลือกหรือเทคโนโลยีในการกักเก็บพลังงานเพื่อการใช้งานในอุตสาหกรรม แต่สิ่งที่น่าเสียดายก็คือ เรายังไม่เห็นงานวิจัยระดับแนวหน้าของไทยสามารถเลื่อนขั้นขึ้นไปเป็นนวัตกรรมที่สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ ปัญหาและอุปสรรคไม่ได้อยู่ที่การขาดองค์ความรู้หรือบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ แต่จุดอ่อนที่สุดของเรากลับอยู่ที่เรื่องของการสร้างระบบนิเวศ ที่จะสามารถ Commercialize เทคโนโลยีขั้นสูงได้ ซึ่งที่ผ่านมางานวิจัยที่เป็น Frontier Tech ส่วนใหญ่มักจะจบลงที่การขาย Patent ให้กับบริษัทขนาดใหญ่หรือ Licensed Technology  ออกไปโดยที่ไม่ได้ขับเคลื่อนให้เกิดธุรกิจได้อย่างจริงจัง

          ปี 2021 กำลังเป็นจุดเปลี่ยนที่คนในวงการนวัตกรรมโลกมองว่า นี่คือยุคของ Frontier Innovation และธุรกิจเทคโนโลยีที่อยู่ในกลุ่มนี้ไม่ว่าจะเป็น New Food, New Energy, New Medicine หรือ New Tech อย่างเช่น Quantum Computing หรือ กระทั่ง Space Technology กำลังเดินหน้าเข้าสู่กระแสหลัก ข้อมูลของ Pitchbook ระบุว่าในปี 2020 เงินลงทุนจากกองทุนของ VC และการเข้าลงทุนของ CVC ในกลุ่มสตาร์ทอัพที่เป็น Frontier Tech ในหลายกลุ่มได้ขยับตัวเข้าสู่จุดที่เป็น All Time High โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม New Energy ที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 5 เท่าด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า ห้าแสนล้านเหรียญ ส่วนกลุ่มอื่นก็ได้รับเงินลงทุนแตะจุดสูงสุดเช่น กลุ่ม BioTech/Health มีเงินลงทุนกว่า สองหมื่นล้านเหรียญ กลุ่ม New Food กว่าสองพันล้านเหรียญฯ และที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือกลุ่ม Space Technology ที่มีเม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้นจนแตะ หกพันล้านเหรียญ

          ก้าวต่อไปของประเทศจากนี้ไป การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวผ่านกับดักรายได้ปานกลางคือการแข่งขันกันด้วยองค์ความรู้และการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งถ้าเราจะตกรถไฟขบวนนี้แบบเดียวกับที่เราตกขบวนไปแล้วในการทำให้เกิดยูนิคอร์นในกลุ่มดิจิทัลสตาร์ทอัพ แล้วอะไรจะเป็นความหวังใหม่ที่เข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจอนาคต?.