เบี้ยยังชีพ: เพื่อช่วยประชาชน อย่าให้เป็นภาระ

เบี้ยยังชีพ: เพื่อช่วยประชาชน อย่าให้เป็นภาระ

จากกรณีเหตุการณ์ที่หน่วยงานรัฐ ได้เรียกร้องให้ผู้สูงอายุคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จำนวนเกือบแสนบาท จนกลายเป็นข่าวใหญ่ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์

จากกรณีเหตุการณ์ที่หน่วยงานรัฐ ได้เรียกร้องให้ผู้สูงอายุคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เนื่องจากระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่ออกใหม่กำหนดให้ผู้สูงอายุจะได้รับเบี้ยยังชีพต่อเมื่อไม่ได้รับเงินช่วยเหลือในทางอื่น หากได้รับเงินช่วยเหลือทางอื่นจะไม่ได้รับสิทธิได้เบี้ยยังชีพ และเมื่อรับเบี้ยยังชีพแล้ว ต้องคืนเงินดังกล่าวเป็นจำนวนเกือบแสนบาท จนกลายเป็นข่าวใหญ่ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงประเด็นความเป็นธรรมในช่วงที่ผ่านมา

เรื่องดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ที่เป็นปัญหาสะสมของประเทศไทย คือ ภาครัฐยังไม่สามารถบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการที่มีจำนวนมากให้เป็นเอกภาพได้ หน่วยงานรัฐต่างๆ มีภารกิจและหน้าที่ที่แตกต่างกัน จึงแบ่งบทบาทหน้าที่จัดสรรสวัสดิการที่แตกต่างกันไป ทำให้ที่ผ่านมายังไม่สามารถบูรณาการฐานข้อมูลให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ จึงทำให้ประชาชนหรือหน่วยงานกลางไม่สามารถตรวจสอบได้ในภาพรวมว่าหน่วยงานภาครัฐได้มีการจัดสรรสวัสดิการให้กับประชาชนแต่ละคนครบถ้วนหรือไม่ มีการตกหล่น หรือซ้ำซ้อนหรือไม่ อย่างไร

หน่วยงานรัฐแต่ละหน่วยงานก็ไม่เห็นภาพรวมในการช่วยเหลือสวัสดิการแก่ประชาชน เพราะดูแลเฉพาะสวัสดิการที่ขึ้นกับหน่วยงานตนเอง แต่ละหน่วยงานมีกฎหมาย กฎระเบียบของตนเอง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ากฎหมายและกฎระเบียบมีจำนวนมาก ทำให้หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีภาระในการทำงานมากขึ้น การตรวจสอบกฎระเบียบระหว่างหน่วยงานเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก มีโอกาสก่อให้เกิดความซ้ำซ้อน ล่าช้า เข้าใจผิดได้  ในขณะที่ประชาชนเองก็ไม่รู้อย่างครบถ้วนว่าตนเองมีสวัสดิการอะไรบ้าง ตกหล่น หรือได้รับซ้ำซ้อนอย่างไรหรือไม่ ประชาชนทั่วไปไม่สามารถทำความเข้าใจหรือรับทราบกฎระเบียบที่มีทั้งหมดได้ 

เบี้ยยังชีพ รวมทั้งสวัสดิการอื่นๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือประชาชน ดังนั้นจึงไม่ควรจะเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชน ภาระการตรวจสอบความซ้ำซ้อนของสวัสดิการที่รัฐจัดหาให้นั้นจึงไม่ควรเป็นหน้าที่ประชาชน หากแต่ควรเป็นการออกแบบระบบสวัสดิการที่สามารถตรวจสอบได้โดยหน่วยงานกลางในลำดับแรกหรือจะเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ก็ยิ่งดี  เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สามารถออกแบบเชิงระบบได้ ภาครัฐเองจะสามารถเห็นภาพรวมระบบสวัสดิการ เรื่องนี้นับเป็นโจทย์สำคัญ และนับเป็นหน้าที่ของภาครัฐในการบูรณาการข้อมูลกัน เพื่อให้ทราบถึงภาพรวมสถานการณ์ว่าได้จ่ายสวัสดิการให้แก่ประชาชนครบถ้วน ตกหล่นหรือซ้ำซ้อนหรือไม่

ทิศทางภาพอนาคต เราจึงต้องพัฒนามุ่งไปสู่การจัดสวัสดิการให้ตอบโจทย์ประชาชน ตามความต้องการรายบุคคล (personalized welfare) ให้มากขึ้นไม่ใช่การจัดสวัสดิการแบบเหมารวม รวมถึงแก้ปัญหาการตกสำรวจระบบสวัสดิการหรือการได้สวัสดิการซ้ำซ้อน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสวัสดิการพื้นฐานสำหรับคนสูงวัย ผู้พิการ คนจน คนด้อยโอกาสที่มีความจำเป็นเร่งด่วน การจะทำเช่นนั้นได้ระบบข้อมูลของหน่วยงานต้องบูรณาการระหว่างกันอย่างดี  นอกเหนือไปกว่านั้น ระบบสวัสดิการในอนาคตไม่ใช่แค่เพียงเป็นระบบการให้ความช่วยเหลือแบบสงเคราะห์  แต่เป็นการสร้างโอกาส พัฒนาศักยภาพด้วย ดังนั้นจุดคานงัดที่สำคัญคือการต้องมีการจัดระบบฐานข้อมูลร่วมบูรณาการงานและจัดสวัสดิการที่ตรงกับความต้องการพร้อมๆ กับตอบโจทย์ความท้าทายอนาคต

ในปัจจุบัน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมีมาก ซึ่งเป็นโอกาสในการจัดสวัสดิการทางสังคมได้ดีขึ้น  ตัวอย่างเช่น มีความเป็นไปได้ในทางเทคโนโลยีที่จะทำให้คนไทยทุกคนสามารถตรวจสอบสิทธิสวัสดิการได้ผ่านการใช้แอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ เว็บไซต์หรือตู้เอทีเอ็ม ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ง่ายทุกที่ ทุกเวลา รวมถึงการพัฒนาระบบให้มีระบบการแจ้งเตือนสวัสดิการไปยังโทรศัพท์มือถือเพื่อให้ทุกคนสามารถทราบสถานะ ติดตามตรวจสอบได้  หรืออาจพัฒนาระบบการโอนเงินตรงให้กลุ่มเป้าหมายผ่านแอพลิเคชั่นหรือระบบบล็อคเชน การโอนเงินช่วยเหลือฉุกเฉินให้ทุกครัวเรือนผ่านการเชื่อมโยงทะเบียนบ้านกับบัญชีธนาคาร การรักษาผู้ด้อยโอกาสเบื้องต้นที่ไม่มีค่าเดินทางไปโรงพยาบาลผ่านระบบการแพทย์ทางไกล (tele-medicine) การพิสูจน์บุคคลจากระบบจดจำใบหน้าอัตโนมัติ หรือการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) วิเคราะห์และจัดสวัสดิการแบบเฉพาะเจาะจงรายบุคคล ซึ่งเกิดขึ้นจริงแล้วในต่างประเทศ

การให้บริการโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ประชาชนอย่างแท้จริง  จะเป็นการพลิกโฉมการให้บริการภาครัฐ  ซึ่งเราจะต้องร่วมกันคิด และกล้าตัดสินใจเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง.

 *บทความโดย ประกาย ธีระวัฒนากุล สถาบันอนาคตไทยศึกษา Facebook.com/thailandfuturefoundation