ทิศทาง Corporate Venture Building

ทิศทาง Corporate Venture Building

เพิ่งย่างเข้าปี 2021 หลายองค์กรใหญ่ก็เดินเครื่องเต็มสูบกับการเร่งสร้างธุรกิจใหม่ในรูปแบบที่เป็น Corporate Venture Building

            Corporate Venture Building คือการสร้างกลุ่มธุรกิจใหม่ในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับการปั้นสตาร์ทอัพในองค์กร แต่มีการลงทุนทรัพยากรขององค์กรลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ล่าสุดบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของโลก  BP British Petroleum ประกาศว่าจะสร้างบริษัทที่เป็นยูนิคอร์นขึ้นมาให้ได้ 5 บริษัทภายในปี 2025 โดยเน้นธุรกิจใหม่ในกลุ่ม Digital, พลังงานสะอาด และ กลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ผ่านมาองค์กรใหญ่ในธุรกิจการเงินและพลังงาน ได้ลองผิดลองถูกกับการเป็น “Venture Builder” มานาน บางองค์กรเลือกเส้นทางการปั้นผู้บริหารองค์กรให้มารวมกลุ่มทำสตาร์ทอัพภายในองค์กร(Internal Startup)เพื่อแตกยอดธุรกิจ บ้างก็หันไปจับมือกับสตาร์ทอัพเพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดธุรกิจใหม่

             ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมากับยุทธศาสตร์การปั้นธุรกิจใหม่ขององค์กรขนาดใหญ่  ข้อมูลที่ McKinsey ทำการสำรวจกับ 800 บริษัททั่วโลกในทุกอุตสาหกรรม ระบุว่าความสำเร็จของการสร้างธุรกิจที่แตกออกมาจากธุรกิจเดิมและสามารถสเกลขนาดของธุรกิจได้มีเพียงแค่ 24% เท่านั้น

อีกข้อมูลที่น่าสนใจก็คือในยุคก่อนโควิดช่วงปี 2017-2019  ผู้บริหารองค์กรประมาณ 30% มองว่าองค์กรมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะเร่งสร้างธุรกิจใหม่เพื่อหาช่องทางรายได้ใหม่และลดความเสี่ยงของอุตสาหกรรมเดิม แต่ปลายปีที่แล้วผลสำรวจออกมาชัดเจนว่า เกินกว่า 50% ของผู้บริหารองค์กรเห็นว่าการสร้างธุรกิจใหม่เป็นสิ่งที่รอไม่ได้แล้ว

และนี่คือยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญอันดับหนึ่งขององค์กร เป้าหมายหลักสามอันดับแรกของการเร่งสร้าง New Venture ให้เกิดขึ้นก็คือ 1) สร้างช่องทางรายได้ทางใหม่  2) สร้างธุรกิจใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของลูกค้าและผู้บริโภค 3) สร้างธุรกิจที่จะทำให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและลดแรงเสียดทานของ Industry Disruption ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ บริษัทในกลุ่มพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ พยายามจะสร้างกลุ่มธุรกิจใหม่ในด้านพลังงานสะอาด ค้าปลีก Healthcare และ Digital Services

         การเดินหน้าสู่วิถีใหม่ทำให้องค์กรต้องหาช่องทางที่หลากหลายในการสร้างธุรกิจ จากเดิมที่โฟกัสการสร้าง New Venture บนพื้นฐานของธุรกิจและทรัพยากรที่มีอยู่เดิม สิ่งที่เห็นในวันนี้คือการ “Pivot” ปรับเปลี่ยนทิศทางไปให้ความสนใจกับธุรกิจที่พัฒนาจากงานวิจัยขั้นสูงหรือ Frontier Technology มากขึ้น และใส่ความพยายามที่จะปั้นธุรกิจใหม่ในรูปแบบของการสร้าง Portfolio มากกว่าการให้ความสำคัญกับธุรกิจรายตัว นั่นคือการแบ่ง New Venture ออกเป็นสามกลุ่ม 1) ต่อยอดธุรกิจเดิมบนช่องทาง/ผลิตภัณฑ์/บริการใหม่ 2) ร่วมมือกับสตาร์ทอัพเพื่อทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพสเกลได้บนทรัพยากรขององค์กรใหญ่ 3) ปั้นธุรกิจ Frontier technology ที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกใหม่ๆ โดยไม่ได้มีฐานเดิมมาก่อนเลย

       การสร้างธุรกิจใหม่ภายในองค์กรกำลังถูกมองด้วยมุมมองใหม่ ที่ไม่ได้คาดหวังแค่ผลลัพธ์ระยะสั้น แต่มองยาวไกลไปถึงการสร้างธุรกิจสำหรับ 10-20 ปีข้างหน้า ปรากฎการณ์นี้ทำให้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่า นวัตกรรมองค์กรในอนาคตน่าจะนำไปสู่อะไรที่มากกว่านวัตกรรมที่หวังผลเชิงพาณิชย์ แต่เป็นนวัตกรรมที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้คนและโลกที่กำลังบอบช้ำใบนี้.