BIG3: เครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ของเกาหลีใต้

BIG3: เครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ของเกาหลีใต้

ท่ามกลางเศรษฐกิจในยุคโควิด-19 ที่ซบเซา เกาหลีใต้ เริ่มมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ เมื่อรัฐบาลเริ่มประกาศแผนการใหม่ที่จะสนับสนุน 'BIG3'

ท่ามกลางเศรษฐกิจในยุคโควิด-19 ที่ซบเซา โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ตกต่ำทั่วโลก ส่งผลให้เกือบทุกประเทศมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงและติดลบในปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน วิกฤตการณ์โควิดยังไม่จบสิ้น แต่เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ทุกประเทศต่างกำลังต่อสู้กับการระบาดรอบใหม่ ควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดซ้ำ พร้อมกับเริ่มมีความหวัง จากวัคซีนที่เริ่มทยอยทดลองจนประสบความสำเร็จ และเริ่มมีการดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนภายในประเทศบ้างแล้ว แต่ยังคงต้องรออีกระยะ 1-2 ปี กว่าที่วิกฤตครั้งนี้จะคลี่คลายอย่างแท้จริง ในด้านเศรษฐกิจ นอกจากการเยียวยาประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 พร้อมไปกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับคืนมา บางประเทศกำลังเริ่มขยับ เพื่อวางยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจใหม่สู่อนาคต ผู้เขียนเริ่มเห็นสัญญาณนี้ในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศจีน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ 


ประเทศเกาหลีใต้ เริ่มมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ เมื่อรัฐบาลเริ่มประกาศแผนการใหม่ที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เรียกว่า "บิ๊กทรี" (BIG3) อันประกอบด้วย อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระบบ หรือชิป SoC (System-on-a-chip) ซึ่งเป็นชิพแบบที่มีระบบประมวลผลฝังอยู่ในชิพตัวเดียว  อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต (future of car) และอุตสาหกรรมไบโอเฮลท์ (Biohealth) ที่เน้นด้านสุขภาพและชีวภาพ


โดยที่ผ่านมา แม้จะเกิดวิกฤตโควิดขึ้นตลอดช่วงปี 2020 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกาหลีใต้เรียกว่า “บิ๊กทรี”นี้ กลับเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าและเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ซึ่งปี 2020 ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 33.7 % จากปี 2019 การส่งออกชิป SoC เพิ่มขึ้น 18% ทำให้ยอดส่งออกเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์ไบโอเฮลท์เพิ่มขึ้นถึง 36.9% เป็น 21.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้สำหรับปี 2022 ไปแล้ว 


เกาหลีใต้เล็งเห็นแนวโน้มอนาคตที่อุตสาหกรรมบิ๊กทรีจะเติบโตขึ้นอีกมาก เช่น ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าน่าจะเติบโตกว่า 50% ชิป SoC จะเพิ่มขึ้นระหว่าง 5-7% ต่อปี และผลิตภัณฑ์ไบโอเฮลท์ก็มีทิศทางที่ดีมากในยุคหลังโควิดที่คนทั่วโลกใส่ใจสุขภาพมากขึ้น 
ดังนั้น นับจากปี 2021 นี้ จึงเป็นปีสำคัญที่ประเทศเกาหลีใต้วางแผนการที่จะสร้างรากฐานให้อุตสาหกรรมบิ๊กทรีเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนสำคัญของประเทศในอนาคต โดยวางเป้าหมายว่า โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระบบของเกาหลีใต้จะกลายเป็นอันดับ 1 ของโลก เกาหลีใต้จะสร้างให้ประเทศเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮโดรเจนชั้นนำของโลกเพื่อตอบโจทย์ยานยนต์แห่งอนาคต (future of car) ที่เป็นยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเกาหลีใต้จะยกระดับไบโอเฮลท์ของเกาหลี หรือย่อว่า K-bio ให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมส่งออก 5 อันดับแรกของประเทศ


เพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เกาหลีใต้วางแผนการลงทุนเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรม “บิ๊กทรี” โดยเพิ่มงบประมาณสนับสนุนขึ้น 37% จากปี 2020 หรือจากเดิม  3.1 ล้านล้านวอน (ประมาณ 84,000 ล้านบาท) เป็น 4.2 ล้านล้านวอน (ประมาณ 114,000 ล้านบาท) ในปี 2021 


นอกจากเงินลงทุนแล้ว เกาหลีใต้ยังให้ความสำคัญสูงกับการลดกฎระเบียบ (deregulation) ในอุตสาหกรรม และการส่งเสริมการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมและความร่วมมือทั่วทั้งอุตสาหกรรม เช่น การช่วยเหลือซัพพลายเออร์รถยนต์แบบเก่าที่เป็นระบบเครื่องยนต์สันดาปภายในให้สามารถเปลี่ยนตัวเองใหม่เป็นซัพพลายเออร์ของยานยนต์ในอนาคต ส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมชิป SoC  สร้างโครงสร้างพื้นฐานและสร้างข้อมูลขนาดใหญ่ทางชีวภาพเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมไอโอเฮลท์ เป็นต้น


นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังมีนโยบายการส่งเสริมเฉพาะรายอุตสาหกรรมของ “บิ๊กทรี” (BIG3) อย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต เน้นเพิ่มสถานีเติมไฮโดรเจน (hydrogen fueling station) โดยการเพิ่มอุปกรณ์เติมไฮโดรเจนให้ได้เป็น 110 ชิ้นภายในครึ่งแรกของปี 2021 พร้อมกับการจัดหาสถานที่ที่เหมาะสมทั้งพื้นที่สาธารณะและปั้มน้ำมันที่มีอยู่เดิมเพื่อเปลี่ยนเป็นสถานีเติมไฮโดรเจน 200 แห่ง และการอำนวยความสะดวกในการสร้างสถานีเติมไฮโดรเจน รวมทั้งจัดหาเงินสนับสนุนประมาณ 90 ล้านวอนต่อสถานี (ประมาณ 2.4 ล้านบาท) เผื่อไว้สำหรับการขาดทุน


ในกรณีอุตสาหกรรมชิป SoC รัฐบาลส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่และเน้นการทำงานร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อเร่งจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการตั้งโรงงานผลิตชิป เช่น ระบบน้ำประปา ระบบการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นการส่งเสริมการลงทุนในโรงงานผลิตชิป รวมถึงการขยายการลดหย่อนภาษีไปยังการลงทุนและการวิจัยการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับสูงนี้ให้มากกว่าการลดหย่อนภาษีสำหรับ R&D ทั่วไป 


การส่งเสริมอุตสาหกรรมไบโอเฮลท์ (Biohealth) เน้นการปรับปรุงกฎระเบียบด้านสุขภาพ ปฏิรูปกฎระเบียบด้านการดูแลสุขภาพ เช่น เรื่องยีนบำบัด (gene therapy) การออกแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลสุขภาพ (health data) รวมทั้งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น


เราจะเห็นได้ว่าความเคลื่อนไหวในการส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคตหรือเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ของเกาหลีใต้ครั้งนี้มีความน่าสนใจและดูตอบโจทย์โลกอนาคตหลังโควิดเป็นอย่างมาก และเป็นตัวอย่างที่ดีของการดำเนินการของประเทศที่ในขณะที่กำลังแก้ไขวิกฤตโควิด ก็พร้อมกับวางแผนลงทุนเพื่ออนาคต ซึ่งอย่าลืมว่า เกาหลีใต้มีประสบการณ์การเติบโตขึ้นอย่างมหาศาล หลังจากเผชิญวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ทั้งการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของเกาหลีใต้ที่โด่งดังและทำรายได้มหาศาลเข้าประเทศจนถึงปัจจุบันก็เกิดขึ้นในช่วงหลังวิกฤตครั้งใหญ่ครั้งนั้น โมเดลเศรษฐกิจใหม่ของประเทศคืออะไร ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันคิดเพื่ออนาคตกันตั้งแต่วันนี้ 

*บทความโดย ธราธร รัตนนฤมิตศร

สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/