ช่วยลดฝุ่น PM2.5  จัดการและลดการเผา เกษตรกรเราทำได้....

ช่วยลดฝุ่น PM2.5  จัดการและลดการเผา  เกษตรกรเราทำได้....

ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นทั้งช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตที่เกษตรกรรอคอย และช่วงเวลาที่มลพิษจากฝุ่นละออง โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5

ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ของทุกปี ถือเป็นช่วงความสุขของเกษตรกรหลายๆ คน เพราะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร ขายและเกิดรายได้ แต่ในทางกลับกันช่วงเวลานี้มักเกิดปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในอากาศ  จนหลายคนเรียกว่า ฤดูฝุ่น ฤดูหมอกควัน หรือแม้แต่หิมะดำ (เขม่าควันดำใบอ้อย) ซึ่งการเผาทางเกษตรในที่โล่ง ก็เป็นแหล่งกำเนิดหนึ่งของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5  ด้วย แม้จะมีสัดส่วนไม่มากเท่าแหล่งกำเนิดจากยานพาหนะจากเครื่องยนต์ดีเซล ก็ตาม

การที่ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจกระจายทั่วทุกภาคของประเทศ แต่ได้มุ่งเพิ่มปริมาณผลผลิตเป็นหลัก โดยขาดการจัดการที่ดี  จึงนิยมใช้วิธีการเผาสำหรับการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก โดยเฉพาะข้าวนาปรัง ซึ่งพบการเผามากที่สุด รองลงมาเป็น อ้อยโรงงาน ข้าวนาปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  

การเผาเศษวัสดุทางการเกษตร เกี่ยวข้องกับเรื่องการลดต้นทุนจ้างแรงงาน สะดวก รวดเร็ว ทำให้รอบการผลิตพืชได้เร็วขึ้น การเก็บเกี่ยว รวมรวม และขนส่งผลผลิตได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังเกี่ยวข้องกับความเชื่อว่าช่วยควบคุมศัตรูพืชและโรคพืช ทำให้ไถพรวนง่ายขึ้นด้วย แม้ว่าปัจจุบันจะมีการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรมาช่วยในการเตรียมดินและการเก็บเกี่ยว ซึ่งได้ช่วยลดการเผาได้บ้าง แต่เครื่องจักรกลเหล่านั้นยังมีราคาสูงและเป็นภาระในการบำรุงรักษา ทำให้เรายังคงพบเห็นการเผาในพื้นที่ยังคงเกิดขึ้นทั้งในชนบทและในเมือง

ความจริงแล้ว เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรแทบทุกส่วนล้วนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศการเกษตร  หากมีการจัดการและการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม

จึงเริ่มมีเกษตรกร ผู้สนใจ และหน่วยงานต่างๆ ริเริ่มดำเนินการแนวปฏิบัติที่ดี เพื่อช่วยลดการเผาในพื้นที่เพาะปลูก อาทิ ส่วนของฟางและตอซังข้าว เกษตรกรสามารถไถกลบตอซัง เป็นปุ๋ยพืชสด ฟื้นฟูสภาพดิน อัดฟางข้าวเป็นก้อน ใช้เลี้ยงสัตว์ จำหน่ายเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม เพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ยและทำเป็นโรงเรือนจากตอซังและฟางข้าว ทำฟางข้าวปรุงแต่งเสริมธาตุอาหารเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้อง ผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ได้

ส่วนใบอ้อย เกษตรกรสามารถอัดใบอ้อยเป็นก้อน ส่งขายให้โรงงานน้ำตาล เป็นเชื้อเพลิงผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า สร้างรายได้เพิ่ม หรือสับและคลุกใบอ้อยลงในแปลงให้ย่อยเป็นปุ๋ยตามธรรมชาติและตัดใบอ้อยปกคลุมหน้าดิน และในส่วนของต้น ซัง และใบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สามารถผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ โดยการไถกลบเร่งการย่อยสลาย ทำปุ๋ยหมักจากซังข้าวโพด ช่วยลดต้นทุนการใส่ปุ๋ย การปลูกพืชในฤดูกาลต่อไป หรืออัดก้อนใบข้าวโพด ปรุงแต่งเสริมธาตุอาหารไปใช้เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

การปรับใช้หลักการจัดการมลพิษซึ่งเริ่มจากการป้องกัน การควบคุม การใช้ประโยชน์ และการลดการเผา เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการจัดการเพื่อลดการเผาในพื้นที่เกษตรและลดปัญหาฝุ่น PM2.5  อย่างรอบด้าน  

  • การป้องกันไม่ให้เกิดการเผา ต้องรณรงค์และส่งเสริมให้ทำเกษตรแบบปลอดการเผา ส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อม ๆ กับมีการสนับสนุนเทคโนโลยีในเขตเกษตรกรรมทดแทนการเผา
  • การควบคุมการเผา จำเป็นอย่างยิ่งต้องจัดระเบียบการเผา พร้อมวางแผนและแจ้งการเผา การจัดการระบบแปลงให้เครื่องจักรกลเข้าพื้นที่ได้สะดวก กำหนดเขตห้ามเผาและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รวมถึงควบคุมและกำจัดพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่ใกล้เคียง
  • การใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตร ครอบคลุมทุกวัสดุทางการเกษตรทุกประเภท พัฒนานวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่า ด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมจัดการระบบตลาดรองรับ
  • การลดการเผา ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยกลไก กติกาในระดับพื้นที่ร่วมในการจัดการ อาจต้องมีข้อบัญญัติท้องถิ่น มีหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อเฝ้าระวังและติดตาม พร้อมมีศูนย์บริหารการจัดการเผาจังหวัดเพื่อร่วมบริหารและสั่งการ เป็นต้น

แม้การเปลี่ยนพฤติกรรมการเผาของเกษตรกรไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะเปลี่ยนแปลงกันได้ในช่วงเวลาสั้นๆ เพราะเกี่ยวข้องกับต้นทุนการผลิตและความเคยชินที่ทำกันมานาน ดังนั้น การส่งเสริมพร้อมสร้างแรงจูงใจแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือใช้มาตรการแบบผสมผสาน มีการลงโทษ จับ และปรับกันบ้าง ก็จะมีผลทางการปฏิบัติได้

ที่ผ่านมา ภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตระหนักและเห็นความสำคัญในการแก้ปัญหาการเผา ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาฝุ่น PM2.5   และได้หยิบยกให้เป็นวาระที่สำคัญของประเทศ พร้อมกำหนดเป็นแนวทางและปฏิบัติการตามมาตรการภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเมื่อปลายปี 2562  เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการควบคุม กำกับดูแล และลดการระบายมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด ให้คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน  

การจัดการการเผาในพื้นที่เกษตรมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน จำเป็นต้องมีเจ้าภาพหลักเป็นผู้ขับเคลื่อน และร่วมบูรณาการความร่วมมืออย่างจริงจัง  โดยเฉพาะความร่วมมือกับเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันมีทางเลือก มีแนวทางปฏิบัติที่ดี และเริ่มปรับตัวกันมากขึ้น

 *บทความโดย วิลาวรรณ น้อยภา ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อม สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย