รู้จักว่าที่ผู้คุมกฎตลาดหุ้นสหรัฐ… ยุคไบเดน

รู้จักว่าที่ผู้คุมกฎตลาดหุ้นสหรัฐ… ยุคไบเดน

ในบรรดาบุคคลที่ผู้นำสหรัฐ โจ ไบเดน ทยอยเลือกเข้ามาเป็นทีมงานของรัฐบาลสหรัฐ บุคคลที่ผมชื่นชมมากที่สุด ได้แก่ แกรี เกนสเลอร์ 

แกรี เกนสเลอร์ เตรียมที่จะได้รับเลือกจากไบเดนเข้ามาเป็นเบอร์ 1 ของคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ U.S. Securities and Exchange Commission หรือ ก.ล.ต.ของสหรัฐ ก่อนที่ผมจะวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ชื่นชอบเกนสเลอร์ จะขอพาท่านผู้อ่านมารู้จักกับเขาแบบคร่าวๆ ดังนี้ 

แกรี เกนสเลอร์ จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยชื่อดัง มีประสบการณ์การทำงานจากโกลด์แมน ซัคส์ เป็นระยะเวลา 18 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เคยเป็นหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแบบจำลองบริหารความเสี่ยง  รวมถึงเคยเป็นผู้บริหารของโกลด์แมน ซัคส์ ที่มีอายุน้อยที่สุด หากใครได้มีโอกาสติดตามข่าวคราวช่วงวิกฤติซับไพร์ม น่าจะรู้จักเกนสเลอร์เป็นอย่างดี เนื่องจากเขาเป็นหัวหน้าหน่วยงานกำกับตลาดอนุพันธ์การเงินหรือ Commodity Futures Trading Commission(CFTC) ของสหรัฐ และมีบทบาทอย่างสูงในการห้ามไม่ให้แบงก์ขนาดใหญ่ทำธุรกรรมลงทุนที่เสี่ยงๆในพอร์ตของตนเองหรือ Proprietary trading

 หลังจากทำงาน 4 ปีระหว่างช่วงรับมือกับวิกฤติซับไพร์มในฐานะหัวหน้าผู้กำกับตลาดอนุพันธ์ ของสหรัฐ เขาได้หันมาทำงานด้านวิชาการและการสอนเกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่มหาวิทยาลัย MIT จนเมื่อปลายปีที่แล้ว ทางไบเดนก็ได้ชักชวนให้ทางเกนสเลอร์ มารับตำแหน่งผู้นำ ก...ของสหรัฐ 

ผมมีเหตุผลอยู่ 4 ประการ ที่ทำให้ชื่นชอบที่เกนสเลอร์จะมารับตำแหน่งใหม่ ดังนี้

 หนึ่ง ‘ความตงฉิน’ ที่เขาแสดงออกมาอย่างชัดเจนในช่วงที่กุมบังเหียนหัวหน้า หน่วยงานกำกับตลาดอนุพันธ์ของสหรัฐนั้น น่าจะใช้คำว่า ใจถึง พึ่งได้ก็ไม่ถือว่าเกินกว่าความเป็นจริง ทำให้เขาน่าจะกล้าลุยกับบริษัทในวอลล์สตรีทอีกครั้ง

 สอง ในฐานะที่ผมเองเคยผ่านงานด้านบริหารความเสี่ยงมากว่า 10 ปี ทำให้ทราบดีว่า สำหรับในยุคที่ตลาดเงินตลาดทุนกำลังเข้าสู่การ Disruption แบบที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การที่จะหามือระดับเกนสเลอร์เข้ามาทำงานนี้ ถือว่าไม่ใช่ว่าจะหาได้ง่ายๆ ผมมองว่าเขามีความกระหายในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆทั้งด้านความเป็นไปของตลาดการเงิน รวมถึงด้านวิชาการด้านการเงินและการบริหารความเสี่ยงที่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา

 สาม เกนสเลอร์ถือเป็นหนึ่งในผู้ที่เข้าใจในบล็อกเชนและสกุลเงินคริปโต้ แบบชนิดถึงแก่นในระดับจุลภาค ณ ตรงนี้ การที่สหรัฐจะเดินเกมต่อในด้านตลาดทุนภายใต้ยุคบล็อคเชนและสกุลเงินคริปโต้แบบถูกทางในเวทีโลกให้ได้นั้น น่าจะขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของหัวหน้าทีมกลต.สหรัฐเป็นอย่างมาก การที่มีเกนสเลอร์จะเข้ามาเป็นผู้นำทิศทางของตลาดทุนสหรัฐในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ ย่อมมีโอกาสสูงขึ้นที่จะทำให้สหรัฐสามารถฝ่าด่านนี้ไปแบบที่ยังเป็นเบอร์หนึ่งด้านตลาดทุนของโลกได้อีกเป็นระยะเวลายาวนาน

 ท้ายสุด ผมมองว่าจะหาคนที่เคยทำงานอยู่ในฐานะผู้เล่นในตลาดทุน วงการวิชาการ และวงการผู้กำกับตลาดทุน พร้อมๆกันได้น้อยมาก การที่ไบเดนเลือกเขา ถือได้ว่าหาผู้นำด้านตลาดทุนในยุคเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีได้ตรงปกแบบสุดๆ

 สำหรับผลกระทบจากการที่เกนสเลอร์กำลังจะเข้ามาเป็นผู้คุมกฎตลาดหุ้นสหรัฐ น่าจะมีดังนี้ 

  1. เฮดจ์ฟันด์ บริษัทกองทุนรวม บริษัทแนว Fintech และบริษัทผู้ออกตราสารการเงินด้านอนุพันธ์ต่างๆ น่าจะต้องมีความโปร่งใสในการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของตนเอง ให้กับลูกค้ามากขึ้น รวมถึงต้องมีเงินกองทุนสำรองเพื่อรองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในสัดส่วน ต่อมูลค่าหลักทรัพย์ให้สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
  2. การนำบริษัทนอกตลาดจะเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นแบบวิธีใหม่ๆที่ไม่ใช่เข้ามาตรงๆในช่องทางปกติแบบ Initial Pubilc Offering (IPO) น่าจะต้องมีกฎเกณฑ์ที่เข้มข้นขึ้นกว่าในปัจจุบัน
  3. ปรากฏการณ์ที่คนดังอย่าง อิลอน มัสก์ จะมาต่อล้อต่อเถียงกับกลต.สหรัฐผ่านทางทวิตเตอร์ น่าจะเกิดขึ้นได้ยากขึ้น เนื่องจากหากเกิดขึ้นอีก ทางเกนสเลอร์คงจะมีความเด็ดขาดในการหามาตรการมาจัดการกับบริษัทจดทะเบียนดังกล่าว
  4. ตลาดสกุลเงินคริปโต้ในสหรัฐ น่าจะมีความโปร่งใสในการซื้อขายกันมากขึ้นกว่านี้อีกเยอะ และได้รับการกำกับแบบรัดกุมกว่านี้ รวมถึงน่าจะมีการใช้ระบบบล็อกเชนในวงการตลาดทุนสหรัฐ มากขึ้นกว่าปัจจุบันเป็นอันมาก
  5. กฎเกณฑ์เกี่ยวกับศูนย์กลางการซื้อขายหรือ Exchange ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ Artificial Intelligence (AI) รวมถึง Deep learning ในการเทรดตราสารทางการเงิน และทำธุรกิจเกี่ยวกับด้านตลาดทุน จะได้รับการกำกับแบบที่ทันสมัย และรู้ทันเทคโนโลยีมากขึ้นกว่าในตอนนี้อีกแบบก้าวกระโดด