หนุ่มใหญ่ชื่อ Wikipedia

หนุ่มใหญ่ชื่อ Wikipedia

ใครๆ ก็รู้จักและใช้ประโยชน์จาก Wikipedia ซึ่งเป็น website ที่ประมวลความรู้แบบ encyclopedia มีทั้งเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาไทยและอื่นๆรวม 316 ภาษา

                 ความสำคัญมิได้อยู่เพียงแค่เป็นที่นิยมอย่างมากของชาวโลกเท่านั้น     หากเป็นโครงการที่น่าอัศจรรย์มากเพราะใช้ได้สะดวก ค้นหาได้ทันใจ ไม่มีการโฆษณา  ไม่ต้องจ้างคนเขียนเนื้อหาเป็นประโยชน์มหาศาลต่อสังคมโลกและประการสำคัญไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

                        Wikipedia มาจากสองคำคือ wiki    ซึ่งในภาษาของชาวเกาะฮาไวหมายถึงรวดเร็วกับencyclopedia ซึ่งหมายถึงสารานุกรม   รวมกันจึงหมายถึงสารานุกรมที่สามารถค้นได้รวดเร็วทันใจ (คำ wiki ถูกใช้ในแวดวงคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ ..1995 โดยมีซอฟต์แวร์ชื่อ Wiki Wiki Web) Wikipedia เปิดตัวเมื่อวันที่ 15 มกราคม .. 2001   โดยมีข้อความเพื่อสื่อพันธกิจว่าสารานุกรมฟรีที่ใคร  ก็เป็นบรรณาธิการได้”   

                        Wikipedia มีอายุครบ 20 ปีเมื่อสองวันก่อน   ปัจจุบันมีข้อเขียนเป็นภาษาอังกฤษซึ่งแปลเป็นภาษาต่าง  รวม 55 ล้านชิ้น (เพียง 6.2 ล้านชิ้นก็เท่ากับหนังสือ 2,800 เล่ม)    แต่ละชิ้นเขียนโดยอาสาสมัครจากทุกแห่งหนเช่นเดียวกับงานแก้ไขปรับปรุง (งานบรรณาธิการ) ที่ไม่มีค่าจ้างให้

                        ค่าใช้จ่ายในแต่ละปีมาจากเงินบริจาคทั้งก้อนใหญ่และเล็กจากทุกมุมโลก    อ่านไม่ผิดหรอกครับที่ทั้งหมดเป็นงานอาสาสมัครที่มูลนิธิเจ้าของไม่มุ่งแสวงหากำไร     ความสำเร็จของ Wikipedia คือฝันที่เป็นจริงของ Jimmy Wales และ Larry Sanger สองหนุ่มชาวอเมริกันในวัย 50 ปีไอเดียของการทำสารานุกรมบนอินเตอร์เน็ตนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่     มีมาตั้งแต่ปี 1993 แต่ไม่ประสบความสำเร็จจนกระทั่งถึงการเปิดตัวของ Wikipedia โดยใช้แนวคิด “อาสาสมัคร” และเทคโนโลยีทันสมัยในปี 2001  

                        Wikipedia ประสบความสำเร็จเป็นลำดับจนมียอดอ่านเฉลี่ยประมาณ 495 ล้านหน้าต่อเดือน (ทุกภาษา)  ในเดือนพฤศจิกายน 2018 มีผู้อ่านรวมถึง 15,500 ล้านหน้า   เฉพาะสหรัฐอเมริกาเฉลี่ยมีผู้ใช้ 117 ล้านคนต่อเดือน

                        วิธีการสร้างหน้าก็คือในตอนต้นปล่อยให้อาสาสมัครเขียนเรื่องใดที่ตนถนัดโดยเป็นเรื่องน่ารู้และมีความสำคัญ  ความยาวเท่าใดก็ได้     เมื่อเป็นข้อเขียนสาธารณะก็ปล่อยให้คนทั่วโลกช่วยกันอ่านและแก้ไข เมื่อคนอื่นเห็นว่าที่แก้ไขนั้นยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ก็จะเสริมเพิ่มเติม กระบวนการเช่นนี้จะเกิดแล้วเกิดเล่าและผู้ดูแลเว็บจะคอยเป็นผู้กำหนดและดูแลอีกชั้น

                        ผู้ก่อตั้งทั้งสองได้วางโมเดลของการทำงานไว้ดังกล่าวและก็เป็นไปด้วยดีท่ามกลางความคาดคะเนของคนจำนวนมากว่าไม่น่าไปรอด    ตลอดเวลาที่ผ่านมามันได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามูลนิธิที่ไม่แสวงหากำไรที่อาศัยความเป็นคนมีจิตใจดีและความร่วมมือของคนทั้งโลกเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

                        ความสำเร็จที่น่าชื่นใจของโครงการนี้ แสดงให้เห็นถึงการมีจิตปรารถนาสร้างสิ่งงดงามให้แก่เพื่อนร่วมโลกโดยไม่มุ่งหวังเงินของอาสาสมัครในแต่ละสาขาที่ตนเองเชี่ยวชาญ  บริการของ Wikipedia คือ public good (สินค้าสาธารณะ) ซึ่งเป็นประโยชน์มหาศาลแก่ผู้คนอย่างมิต้องสงสัย    มันทำให้คนมีความรู้มากขึ้นได้ในแทบทุกเรื่องอย่างสะดวกโดยมีต้นทุนต่ำตามปกติรัฐมักเป็น ผู้ให้บริการ หรือจัดให้มีบริการดังกล่าว (บริการห้องสมุด    เรียนฟรี   รักษาพยาบาลฟรี)  โดยใช้รายได้จากภาษีอากร  แต่ในกรณีของ Wikipedia  นั้นบริการของสินค้าสาธารณะเช่นนี้เกิดขึ้นโดยมิได้อาศัยภาษีอากรจากภาครัฐหากใช้เงินบริจาคจากประชาชนทั่วโลกเป็นตัวขับเคลื่อน

                        สินค้าสาธารณะจากมูลนิธิเช่นนี้ช่วยลดภาระการเงินของภาครัฐและการพึ่งพิงกลไกรัฐไปเป็นอันมากและไม่น่าเชื่อว่าภาครัฐจะทำได้ดีเท่า   อย่างไรก็ดีปัญหาที่ Wikipedia ต้องเผชิญมาตลอดคือการไม่ได้รับความเชื่อถือว่าให้ข้อมูลที่แม่นยำ  ในตอนแรกไม่อาจสู้ชื่อเสียงของสารานุกรมปกติ เช่น Britannica อันยิ่งใหญ่มานับร้อย  ปีได้เลยและถูกเหยียดหยามเสียด้วยซ้ำจนกระทั่งนิตยสาร Nature ในปี 2005 ได้ศึกษาเปรียบเทียบแหล่งข้อมูล Britannica กับWikipedia และพบว่าทั้งสองมีข้อผิดพลาดของข้อเขียนโดยเฉลี่ยเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกัน

                        Wikipedia เป็นตัวอย่างที่ดีของปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า prosumer ในปัจจุบัน    กล่าวคือบุคคลเป็นได้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคในเวลาเดียวกัน (producer คืออาสาสมัครผู้เขียนและเป็นบรรณาธิการ พร้อมทั้งเป็นผู้บริโภคหรือ  consumer ในเวลาเดียวกันอีกทั้งเป็นกิจกรรมสำคัญของ Sharing Economy หรือระบบเศรษฐกิจในแนวร่วมกัน ในที่นี้คือการแชร์ความรู้อย่างเปิดกว้าง   ช่วยกันสร้างช่วยกันแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบันซึ่งเป็นการประหยัดเวลาและทรัพยากรของโลกได้เป็นอันมาก (ลองจินตนาการโลกที่ไร้ Wikipedia ว่าจะมีโสหุ้ยคือเวลา ความไม่สะดวก ฯลฯ มากเพียงใดกว่าจะได้องค์ความรู้ในปริมาณที่เท่ากัน)