โควิด-19 กับความเป็นมนุษย์ของคน

โควิด-19 กับความเป็นมนุษย์ของคน

ผมจะมาชวนพวกเราคุยและคิดในเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ ซึ่งสัมพันธ์กับวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่เป็นปัญหาใหญ่ของคนทั้งโลกในปัจจุบัน 

        ก่อนที่จะไปพูดถึงเรื่องโควิด-19ที่สัมพันธ์กับความเป็นมนุษย์ของคน  ผมขอตีความตามความเข้าใจของผมก่อนว่า คนก็คือคน คือใครก็ตามที่เกิดมาก็เป็นคนแล้ว  แต่ถ้าไม่พัฒนาจิตใจให้สูง มีคุณธรรม รู้จักผิดชอบชั่วดี  คนๆนั้นก็เป็นคนอยู่อย่างนั้น  แต่ถ้าเขาได้รับการอบรมสั่งสอนและพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้น เขาก็จะกลายเป็นมนุษย์

              ความแตกต่างมันอยู่ตรงนี้นะครับ

              ทีนี้ผมจะมาชวนพวกเราคุยและคิดในเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ซึ่งสัมพันธ์กับวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่เป็นปัญหาใหญ่ของคนทั้งโลกในปัจจุบัน  โดยผมจะแบ่งคร่าวๆออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

ระดับที่ ๑  เห็นแก่เงิน

              เมื่อเร็วๆนี้มีข่าวว่าองค์การตำรวจสากล หรือ Interpol ได้ประเมินว่าสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ขายกันอยู่ทางออนไลน์มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นของปลอมถึงกว่าร้อยละ 10  และก็มีรายงานด้วยว่าในช่วงโควิด-19ระบาด อันทำให้มีความต้องการวัคซีนกันอย่างมากทั่วโลกนั้น  ก็ได้มีมิจฉาชีพบางกลุ่มที่อาจเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์หรือนักเคมีกำลังทำวัคซีนปลอมออกมาขาย  โดย เห็นแก่เงิน และหวังรวยจากซากศพของเพื่อนร่วมโลก

              พวกนี้เป็นพวกจิตใจต่ำสุดอย่างเหลือประมาณ เรียกได้ว่าไม่มีความเป็นมนุษย์อยู่เลย

ระดับที่ ๒  เห็นแก่ตัว

              เมื่อไม่นานมานี้มีตัวเลขออกมาแสดงว่าประเทศร่ำรวยมาก เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ได้สั่งจองวัคซีนสำหรับการป้องกันโควิด-19ไปใช้กับประชาชนในประเทศของตนเองเป็นจำนวนกว่า 50% ของปริมาณวัคซีนที่โลกจะผลิตได้  ทั้งที่ประชากรในประเทศเหล่านั้นรวมกันแล้วมีเพียง 14% ของประชากรโลก   แถมบางประเทศ(ขอไม่เอ่ยชื่อประเทศ)ก็ได้สั่งจองวัคซีนเกินความต้องการใช้ในประเทศของตนไปถึง 5 เท่า  ซึ่งนั่นหมายความว่าประเทศยากจนและ/หรือร่ำรวยปานกลางอาจไม่มีวัคซีนเพียงพอที่จะนำมาใช้กับประชากรของตน    และเมื่อถึงจุดโควิด-19ระบาดรุนแรงในอนาคต (ซึ่งหวังว่าเหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นจริง)  ประชากรในประเทศเหล่านั้นก็คงล้มตายเป็นใบไม้ร่วง  เหตุการณ์แย่งชิงวัคซีนจนเกินเลยเช่นว่านี้มาจากความเห็นแก่ตัวของประเทศร่ำรวยมากเหล่านั้นนั่นเอง

              พวกนี้จะถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเป็นมนุษย์อยู่หรือไม่ประการใด  เราคงต้องพิจารณาและวิเคราะห์กันดู  ซึ่งคำตอบคงแตกต่างกัน

ระดับที่ ๓  เห็นแก่อะไรดี

              ความเป็นมนุษย์ในระดับที่จะชวนคุยชวนคิดต่อไปนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะสรุปได้ง่ายๆเหมือนสองกรณีแรกแล้ว  แต่เป็นเรื่องที่จะต้องคิด วิเคราะห์ และถกเถียงกันมากพอดูกว่าจะได้คำตอบ  ถึงได้คำตอบมาก็ไม่ใช่จะเป็นคำตอบที่ไม่มีคนไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน  และเขาเหล่านั้นอาจไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงจนขัดขวางไม่ให้คำตอบนั้นได้รับการนำไปปฏิบัติเสียด้วยซ้ำ

              ความเป็นมนุษย์ในกรณีนี้เกี่ยวกับการเลือกที่จะฉีดวัคซีนป้องกันการติดโควิด-19ว่าจะฉีดให้กลุ่มใดก่อน  แน่ละเราควรฉีดให้แก่กลุ่มที่เสี่ยงที่สุดก่อน คือ กลุ่มผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ที่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยเป็นประจำ  แต่กลุ่มต่อไปล่ะควรจะเป็นใคร  ฟากประเทศตะวันตกส่วนใหญ่มุ่งไปทางฉีดให้กับผู้สูงวัย โดยอาศัยความรู้และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ว่ากลุ่มนี้เมื่อติดไวรัสโควิด-19แล้วโอกาสเสียชีวิตสูงมาก  จึงควรได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มต่อไป   ในขณะที่บางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ตั้งเป้าที่จะฉีดให้กับประชากรวัยทำงาน คือ ในช่วงอายุ 18-59 ปีก่อนกลุ่มอื่น  เหตุผลของผู้นำอินโดนีเซียคือความไม่มั่นใจต่อผลเสียหรือผลข้างเคียงที่จะมีต่อผู้สูงอายุ เพราะการทดลองที่ผ่านมาได้ทำเฉพาะกับคนหนุ่มสาวที่แข็งแรงกว่าคนสูงวัยเท่านั้น  ข้อสรุปเกี่ยวกับความเสี่ยงจึงยังไม่ชัด  และอินโดนีเซียไม่อยากเสี่ยงกับเหตุการณ์เช่นว่านี้

              แต่มันยังมีอีกมุมหนึ่งที่ยังไม่มีคนคิดถึง หรือคิดแล้วแต่ไม่กล้านำมาเสนอให้พิจารณา(อาจจะเพราะกลัวทัวร์ลง)  มุมมองที่ว่านี้มาจากความจริงที่ว่าสังคมโลกรวมทั้งสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย  นั่นหมายความว่าสัดส่วนของคนสูงอายุซึ่งผลิตภาพต่ำกว่าคนหนุ่มสาวจะสูงขึ้นๆทุกปี   และสุดท้ายก็จะตกเป็นภาระของคนหนุ่มสาวและคนในวัยทำงานที่ต้องแบกในการดูแลและรักษาผู้สูงอายุเหล่านั้นต่อไปและตลอดไปทั้งที่ผลิตภาพของเขาเหล่านั้นต่ำลงๆดังที่กล่าวมาแล้ว    และนอกจากนี้ช่วงชีวิตที่เหลือของกลุ่มผู้สูงอายุเหล่านั้นคงมีอยู่ได้อีกไม่นาน  มันจะคุ้มกับสังคมโดยรวมกว่าหรือไม่ที่จะฉีดวัคซีนโควิด-19ให้แก่คนหนุ่มสาวและคนในวัยทำงานมากกว่าที่จะฉีดให้ผู้สูงอายุก่อน เพราะคนกลุ่มหนุ่มสาวนี้จะเป็นกลุ่มคนที่ผลักดันให้เศรษฐกิจกลับฟื้นขึ้นมาได้เร็วกว่าและดีกว่า  ซึ่งถ้ามองในมุมมองนี้การกระทำเช่นนี้ก็เหมือนกับระดับ ๑ ที่กล่าวมา คือ การเห็นแก่เงินนั่นเอง

              การตัดสินใจในประเด็นนี้ละที่ต้องมาวัดกันที่ความเป็นมนุษย์ของคน  ถ้าเราใช้สมองซีกซ้ายซึ่งเป็นสมองส่วนใช้เหตุผลมาตัดสินใจ ก็คงได้คำตอบแบบหนึ่งแบบที่สรุปอยู่ข้างบน   แต่ถ้าเราใช้สมองซีกขวาซึ่งเป็นสมองส่วนที่ใช้อารมณ์ ความสุนทรีย์ ความเมตตากรุณา มาเป็นฐานในการตัดสินใจ  เราก็จะได้คำตอบอีกแบบหนึ่ง คือ เราจะมุ่งไปที่การดูแลและฉีดวัคซีนให้แก่ปู่ย่าตายาย ผู้เป็นที่รักของเราก่อน ซึ่งถ้ามองในมุมมองนี้ มันก็เปรียบเสมือนการเห็นแก่ตัวนั่นเอง

              ทั้งสองแนวคิดนี้มันเกี่ยวข้องกับระดับความเป็นมนุษย์ของเราทั้งสิ้น  และคำตอบที่ถูกต้องสมบูรณ์สำหรับสังคมหนึ่งๆในช่วงเวลาหนึ่งคงไม่มี   เมื่อเวลาผ่านไปสถานการณ์โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับวิกฤติการณ์โควิด-19ย่อมเปลี่ยนนโยบายและวิธีคิดก็ต้องเปลี่ยนตาม  และก็ต้องเป็นหน้าที่ของผู้นำประเทศละครับที่ต้องตัดสินใจ  ไม่ง่ายครับ    แต่มันก็เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้นำที่ต้องตัดสินใจให้สังคมโดยรวมนั้นได้ประโยชน์ตามสภาพการณ์นั้นๆ

              ก่อนจบ ขอบอกด้วยนะครับว่าผมอยู่ในกลุ่มผู้สูงวัย  ผมจึงอยู่ในกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจครั้งนี้ของผู้นำประเทศ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งนะครับ

              รอลุ้นอยู่ด้วยใจเป็นกลางครับ

*บทความโดย ธงชัย พรรณสวัสดิ์ นักวิชาการอิสระ