แตกต่างในความเหมือน

แตกต่างในความเหมือน

ความจำเจเกิดขึ้นเป็นประจำในยามที่ต้องทำอะไรที่ซ้ำซากในระยะเวลายาวนาน เดินทางไปที่ทำงาน ไปส่งลูกเรียนหนังสือ

กิจกรรมข้างต้นนี้ดูเหมือนว่าจะจำเจ แต่การเดินทางในแต่ละวันสร้างความแตกต่างให้เสมอ  พองดเดินทาง จะช่วยกันอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ตามที่บางคนเขาบอกมา ความรู้สึกจำเจกับกิจวัตรจึงมีมากขึ้นมาก แต่เชื่อหรือไม่ว่า การรับมือกับความจำเจต้องใช้ความสามารถหนึ่งที่สำคัญสำหรับการสร้างความสำเร็จท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง บางคนจึงได้ประโยชน์จากความจำเจ โดยใช้ความจำเจมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความสามารถนี้ขึ้นมา ในขณะที่บางคนด้อยค่าลงไปกับความจำเจที่เกิดขึ้น

 

ตำราบริหารจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทางด้านการบริหาร บอกว่านักบริหารที่เก่ง ๆจะมีความสามารถในการคิดอย่างยืดหยุ่น คือสามารถปรับเปลี่ยนความคิดให้นำไปสู่ความสำเร็จในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปได้เสมอ  โดยเรียกความสามารถนี้ว่า Cognitive Flexibility ตัวอย่างการทดสอบการใช้ความคิดแบบยืดหยุ่นที่เราเอามาใช้ในเกมส์ในการเลี้ยงสังสรรค์กันบ่อยๆ คือ เขียนตัวหนังสือสีหนึ่ง ด้วยสีอีกสีหนึ่ง แล้วให้คนเล่นเกมส์บอกสีของตัวหนังสือนั้น หากใช้ความคิดที่ยึดติด ไม่ยืดหยุ่น เราจะบอกตามตัวหนังสือ คือถ้าตัวหนังสือเป็นคำว่า “แดง” แต่ตัวหนังสือคำว่า “แดง”นั้นเป็นสีเขียว เราจะตอบว่าแดง แทนที่จะบอกว่าคำว่า “แดง”เขียนด้วยตัวหนังสือสีเขียว ความคิดแบบยืดหยุ่นจึงช่วยให้เราสร้างความแตกต่างบนความเหมือนขึ้นมาได้เสมอ วันพรุ่งนี้ไม่ใช่แค่อีกหนึ่งวันของวันนี้ ถ้าคิดถึงพรุ่งนี้อย่างยืดหยุ่น

 

คำว่า “แดง” จะเขียนด้วยตัวหนังสือสีอะไรก็ได้ แปลว่าในความเหมือนมีความแตกต่างได้เสมอ ถ้ายอมรับความคิดทำนองนี้ได้กับทุกเรื่องในชีวิต ความคิดแบบยืดหยุ่นก็เริ่มขึ้นได้ และสามารถสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นจากสิ่งที่กระทำกันอย่างซ้ำซากจำเจขึ้นมาได้ ซึ่งความแตกต่างนั้นอาจนำไปสู่ความสำเร็จที่แตกต่างไปจากที่เคยมีอยู่แต่เดิมได้  การทำงานหรือเรียนหนังสือจากหน้าจอคอมเครื่องเดิมจะไม่เป็นความจำเจ ถ้ายืดหยุ่นความคิดเสียใหม่ว่า งานที่จะทำวันพรุ่งนี้จะมีบางอย่างที่แตกต่างไปจากวันนี้ บทเรียนที่จะเรียนในวันพรุ่งนี้ ต้องมีอะไรบางอย่างที่ต่างไปจากวันนี้ สิ่งที่กระทำในวันพรุ่งนี้ผ่านหน้าจอเดิม ๆ จะเป็นความเหมือนที่มีความแตกต่าง และในความแตกต่างเล็กๆน้อยๆนั้น เราอาจจะได้เห็นอะไรบางอย่างที่ทำให้เราเก่งขึ้นได้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

 

ถ้าทำทุกอย่างเหมือนเดิมบ่อยครั้งมากขึ้น การใช้ความคิดกับงานนั้นจะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่ต้องคิดอะไรเลยก็ทำได้โดยอัตโนมัติ ผลงานจะมีแต่เท่าเดิม หรือแย่ลง ถ้าสติยังอยู่กับงาน ผลงานก็ประมาณเดิม ถ้าใจลอยไปไหนต่อไหน แต่ตาและมือยังอยู่กับงาน โอกาสที่งานจะแย่ลงมีแน่นอน ดังนั้นถ้าอยากให้มีความคิดแบบยืดหยุ่น ให้ทำงานเดิมด้วยวิธีการใหม่ๆ จำเจเสมอ วิธีใหม่อาจแตกต่างมากบ้างน้อยบ้างก็ไม่เป็นไร เน้นเพียงว่ามีความแตกต่างที่นำไปสู่ผลงานที่ดีขึ้น อย่าเป็นแค่ทำอะไรสักอย่างให้ต่างไปจากเดิม โดยไม่ใส่ใจว่าผลงานกำลังแย่ลง เปลี่ยนชื่อแอพโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจไปไม่รู้กี่ครั้งกี่หน แต่เศรษฐกิจก็ยังย่ำแย่เหมือนเดิม ทำอย่างนี้ไม่เรียกว่ามีการคิดแบบยืดหยุ่น แต่เป็นแค่เหล้าเก่าในขวดใหม่

 

พยายามเลือกวิธีการที่ยากๆมาทดแทนที่เคยทำจนคุ้นเคย ถ้าทำแล้วคาดว่าผลจะดีขึ้นกว่าเดิม ถ้าปฏิเสธที่จะกระทำเรื่องยาก เพื่อพิทักษ์เรื่องง่ายที่คุ้นเคยไว้ โดยหวังว่าจะให้เป็นเหมือนเดิมตลอดกาลนาน ผลงานของท่านจะย่ำแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป จนวันหนึ่งวิธีทำงานสบาย ๆแบบเดิม ๆที่คุ้นเคยจะไม่มีผลงานออกมาอีกต่อไป ถ้าคิดว่าเหน็ดเหนื่อยที่จะปฏิรูปวิธีทำงาน วันหน้าจะไม่มีงานนั้นให้ทำอีกต่อไป เมื่อถึงวันหนึ่งที่บริบทของวันนั้น ไม่เหลืออะไรสักอย่างที่เหมือนกับวันนี้

 

หนทางง่าย ๆที่ช่วยฝึกการใช้ความคิดแบบยืดหยุ่น คือมองคนรอบตัวแล้วนึกให้ออกว่าคนไหนมีดีอะไรบ้าง มองให้เห็นอะไรที่เป็นส่วนดีที่เขามี ไม่ใช่มองว่าเขามาช่วยอะไรกับเราบ้าง มองเห็นสิ่งดี ๆที่คนรอบตัวเรามีอยู่แล้ว วันพรุ่งนี้จะไม่ใช่แค่อีกหนึ่งวันอีกต่อไป