ไทยควรรีบขึ้นรถไฟความเร็วสูงสาย 'หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง'

ไทยควรรีบขึ้นรถไฟความเร็วสูงสาย 'หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง'

ประเทศไทยตั้งอยู่ที่ตรงกลางของคาบสมุทรอินโดจีน เป็นพื้นที่สำคัญของเส้นทางสายไหมทางเศรษฐกิจและเส้นทางสายไหมที่ต้องผ่านทางทะเล

ทำเลที่ตั้งดังกล่าวทำให้ประเทศไทยได้กลายเป็นภาคีสำคัญของกรอบความร่วมมือ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) ของจีนอย่างไม่ต้องสงสัย ในขณะเดียวกันข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ลงนามเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 มีเป้าหมายเดียวกันกับความคิด Belt and Road Initiative อย่างมีนัยสำคัญ และยังสามารถส่งเสริมซึ่งกันและกันอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ COVID-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก ประเทศไทยควรรีบขึ้นให้ทันรถไฟความเร็วสูงสาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ขบวนนี้ เพื่อให้ไทยจะได้หลุดพ้นปัญหา COVID-19 โดยเร็ว 

ในปี 2561 พล.อ. ประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในพิธีเปิดการประชุมประจำปี 2561 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่อง “ยุทธศาสตร์ชาติ อนาคตไทย อนาคตเรา” กล่าวถึงการวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580 ) เพื่อให้สามารถมองเป้าหมาย และเห็นอนาคตของประเทศในระยะยาว จุดใหญ่ใจความเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในหลากหลายมิติ เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม การบ่มเพาะบุคลากรที่มีความสามารถ และส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางสังคม ขณะเดียวกันรัฐบาลยังเตรียมดำเนินการตามยุทธศาสตร์ “ไทยแลนด์ 4.0” เพื่อพัฒนาเพิ่มมูลค่าสินค้าอุตสาหกรรม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมโดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการนำประเทศไทยให้ก้าวเป็นประเทศพัฒนาแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวว่าไทยจะเชื่อมโยงสนับสนุนโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างทางรถไฟระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทยกับโครงการความร่วมมือทางรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เพื่อให้ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทยกลายเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน โดยโครงการรถไฟไทย - จีนจะเชื่อมโยงเมืองสำคัญๆ เช่น กรุงเทพฯ นครราชสีมา หนองคาย เวียดนาม ลาวและคุนหมิงประเทศจีน อีกทั้งรัฐบาลไทยยังสัญญาว่าจะลงทุนก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ ที่จะเชื่อมกรุงเทพฯฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ โดยหวังว่าจะสร้างไทยให้เป็น Digital Hub ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีนและการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยไปมีความสัมพันธ์สอดคล้องในทิศทางเดียวกันและยังส่งเสริมซึ่งกันและกันอีกด้วย  ในช่วงตรุษจีนปี 2563 COVID-19 ได้ระบาดครั้งแรกในประเทศจีนและจากนั้นก็ระบาดไปทั่วโลก ไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือจีน โดยนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ได้อัดวีดิโอเป็นการส่วนตัวพร้อมกับร้องเพลง “ไทย-จีนสามัคคีสู้ไปด้วยกัน” (จงไท้ถ๋วนเจี๋ย อิฉีเจียโหยว) ต่อมาเมื่อคราวที่ประเทศไทยตกที่นั่งลำบากเศรษฐกิจของไทยประสบกับความเสียหายครั้งประวัติศาสตร์ พี่น้องชาวจีนก็ยื่นมือให้ความช่วยเหลือ แสดงให้เห็นถึงมิตรภาพและความผูกพันของพี่น้องไทยจีนที่มีมาอย่างช้านานและไม่เคยเหือดแห้งไปเลย

ดังที่ สารแสดงความยินดีจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยได้ส่งสารถึงกัน เพื่อแสดงความยินดีครบรอบ 45 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและไทย ตอนหนึ่งความว่า 

“ขณะที่เรากำลังก้าวสู่ความสัมพันธ์ในทศวรรษถัดไป ท่ามกลางความไม่แน่นอนของโลก ซึ่งรวมถึงสถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบัน มีความจำเป็นมากยิ่งขึ้นที่ไทยและจีนจะร่วมมือกันรับมือกับความท้าทายที่เราจะต้องเผชิญด้วยจิตวิญญาณแห่งมิตรภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในการนี้ ข้าพเจ้าขอยืนยันความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ของรัฐบาลไทยที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อยกระดับและขยายขอบเขตของการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านต่อไป”

อย่างไรก็ตาม ทุกวิกฤติมีโอกาส ในยุคของการแพร่ระบาดนี้ ทุกประเทศในอาเซียนมีโอกาสในการร่วมมือกันในหลากหลายมิติ ภายใต้กรอบของ Belt and Road Initiative  ไม่อาจปฏิเสธว่าจีนถือได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยเป็นประเทศแรกๆที่ประสบความสำเร็จในการจัดการและควบคุมโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศได้อย่างรวดเร็วและยังมีส่วนชะลอภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยอีกด้วย ดังนั้น ประสบการณ์และรูปแบบของจีนในการต่อสู้กับโรคระบาดเป็นสิ่งที่ประเทศในอาเซียนและทั่วโลกควรค่าแก่การเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง

กรอบความร่วมมือ Belt and Road Initiative กลายเป็นความหวังของเศรษฐกิจโลกภายใต้ปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 กล่าวคือในขณะที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการรับมือกับโรคระบาดอยู่นั้น หากไทยใช้โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC) เป็นตัวฉุดเพื่อผสานเข้ากับความร่วมมือ Belt and Road Initiative อย่างสมบูรณ์จะเป็นแรงกระตุ้นใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย EEC และ Belt and Road Initiative ทั้ง 2 กลยุทธ์นี้มีความเชื่อมโยงกันได้เป็นอย่างดี โดยสิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ - ระยอง มูลค่าการลงทุน 7.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หากโครงการนี้สำเร็จจะสามารถเชื่อมโยงสนามบินหลักสามแห่ง เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากมายมหาศาลและมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ในท้องถิ่นจะสูงมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญที่สุดจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืนในอนาคต 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศระบุว่าความร่วมมือ Belt and Road Initiative มีส่วนสำคัญในการเร่งการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค ในขณะที่ RCEP จะเสริมสร้างการเชื่อมต่อโครงข่ายของซอฟต์แวร์ ด้วยการประสานกฎการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดน ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า Belt and Road Initiative และ RCEP คือสิ่งที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน จีนในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดใน RCEP กำลังเร่งสร้างรูปแบบการพัฒนาใหม่ที่เรียกว่า “สองห่วงความสัมพันธ์” ทั้งในและต่างประเทศ รัฐบาลทราบเป็นอย่างดีว่าภายใต้สองห่วงความสัมพันธ์นี้ จีนสามารถทำงานร่วมกันภายใต้กลไกของ RCEP เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี 

ดังนั้น เราควรพยายามช่วยกันเสริมสร้างโครงการผสานประโยชน์ครั้งนี้ โดยมีเป้าหมายในการเติบโตของประเทศอย่างยั่งยืนและการพัฒนาที่ครอบคลุมหลากหลายมิติ บนพื้นฐานของความไว้วางใจความเคารพและซึ่งกันและกัน สิ่งนี้คล้ายกับจิตวิญญาณเส้นทางสายไหมที่จีนกำลังให้ความสำคัญอย่างมาก   มิตรภาพไทย-จีนในฐานะประเทศเพื่อนบ้านในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ มีการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างสองประเทศในด้านต่างๆ เพิ่มทวีคูณมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเชื่อว่าเมื่อมีกรอบความร่วมมือ RCEP มาเพิ่มเติม จะยิ่งสร้างความสัมพันธ์ไทย - จีนให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น  

ในบริบทของการแพร่ระบาดของ COVID-19 แนวคิดของ “ชะตากรรมร่วมกันของมนุษยชาติ” (เหรินเลยมิ่งยุ่นก้งถงถี่) ของประธานาธิบดีซี จิ้นผิง ได้รับความเข้าใจและการสนับสนุนมากขึ้นในหมู่ประชาชนในประเทศอาเซียน ในอนาคตไทยและจีนควรทำงานร่วมกับประเทศภาคี RCEP โดยยึดมั่นในพหุภาคีสร้างบรรยากาศในความร่วมมือที่เปิดกว้าง โปร่งใสและยุติธรรม เพื่อการเติบโตมั่งคั่งในระดับภูมิภาคและร่วมกันมีส่วนช่วยในการฟื้นตัวเศรษฐกิจของโลกต่อไป

*บทความโดย ประการณ์ ภู่เกตุ