'ประชัย เลี่ยวไพรัตน์' วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2564

'ประชัย เลี่ยวไพรัตน์' วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2564

นักบริหารรุ่นเก๋าแนะภาครัฐตรึงค่าเงินบาทให้อ่อนลง10% อยู่ในระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นการส่งออก เกิดการจ้างงาน ทำให้เศรษฐกิจเติบโต

         ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ว่า การเติบโตในระดับ 3-4% อาจเป็นไปได้ยากหากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง แนะนำว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมควรจะตรึงกับดอลลาร์สหรัฐมาอยู่ในระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยโตได้ถึง 6-7%

          เงินบาทแข็งค่าแบบนี้คนส่งออกลำบาก ควรจะต้องให้อ่อนค่าลงอีก 10% เพราะขณะนี้รัฐบาลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีเงินสำรองเงินตราระหว่างประเทศ 2 แสนห้าหมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 7.5 ล้านล้านบาท มีความสามารถจะตรึงเงินบาทเข้ากับดอลลาร์ในอัตรา 34 บาทต่อดอลลาร์ได้  

ธปท.สามารถออกบัตรมาซื้อดอลลาร์เพิ่มเพื่อตรึงค่าเงินบาทกับเงินดอลลาร์ในอัตรา 34 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่น่ามีปัญหา ขณะนี้เราเกินดุลการค้าอยู่เดือนละ 100,000 ล้านบาท ในการตรึงค่าเงินบาทกับดอลลาร์ ธปท.ต้องจ่ายเงินบาทให้ผู้ส่งออกเพิ่มอีก 10% คือ 10,000 ล้านบาทต่อเดือนหรือ 120,000 ล้านบาทต่อปี  

ขณะนี้เรามีเงินทุนหมุนเวียน M1 Money Supply อยู่ 2.5 ล้านล้านบาท และเงินสำรองเงินตราต่างประเทศ 2 แสนห้าหมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 7.5 ล้านล้านบาท เราสามารถออกบัตรเพิ่มได้โดยไม่ผิดกติกาเพื่อการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์ เพราะเป็นอำนาจอธิปไตยของประเทศ

ในการใช้นโยบายทางการเงินของประเทศเรา เราไม่ได้เป็นประเทศราชของ IMF หรือ World Bank เราสามารถกำหนดค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ที่รัฐบาลต้องการได้ โดยต้องคำนึงถึงการอยู่ดีกินดีของประชาชนเป็นหลัก                 ไม่ผิดกติกาใดๆ ทั้งสิ้น ไม่จำเป็นต้องปล่อยให้มันขึ้นลงตามตลาดเป็นเหยื่ออันโอชะของพวกนักปั่นเงินตรา ซึ่งชอบอ้าง IMF และ World Bank ว่าให้ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ขึ้นลงตามกลไกตลาด เพราะค่าเงินดอลลาร์ก็ขึ้นลงตามกลไกตลาดอยู่แล้ว เพียงแต่เราเกาะติดกับดอลลาร์โดยไม่ถูกพวกนักปั่นเงินบาทขายชาติทำให้ประเทศเสียหายยับเยินดังที่ผ่านมาตอนวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง

          ค่าเงินบาทตรึงอยู่ที่ 34 บาท ต่อดอลลาร์ น่าจะช่วยให้เกิดการจ้างงานมากขึ้นเศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวได้เร็วขึ้นโดยโรงงานไม่ต้องปิดลง คนงานมีงานทำ รัฐบาลไม่ต้องมาเสียงบประมาณช่วยเหลือ แต่จะเก็บภาษีอากรได้มากขึ้น

 เราต้องยอมรับว่าการการช่วยเหลือของรัฐบาลที่ช่วยไม่ให้คนจนเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หรือเป็นหนี้เสียถือเป็นตัวช่วยที่ดี รวมทั้งการเอาเงินมาช่วยเหลือคนยากจนในยามตกทุกข์ได้ยากแบบรัฐสวัสดิการที่ประเทศนิวซีแลนด์ปฏิบัติอยู่ (สมัยที่ผมเรียนอยู่ภายใต้ทุนแผนการโคลัมโบ)  หากคนพวกนี้ฟื้นตัวได้ก็จะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจ เพราะคนเหล่านี้กว่าครึ่งหนึ่งประสบปัญหาจากการที่ต้องปิดเมืองหรือล็อกดาวน์

          ตัวอย่างประเทศเวียดนามที่เศรษฐกิจเขาฟื้นตัวได้เพราะรัฐบาลไปกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนให้ค่าเงินดอง (VND) ต่อดอลลาร์ถูกเพื่อให้สามารถส่งออกได้ เพราะเป็นอำนาจอธิปไตยของเขา และทุกประเทศชมเชยว่ารัฐบาลเวียดนามเก่ง และรักชาติสมควรไปลงทุนที่นั่นโดยถอนการลงทุนจาก               ไทย และจีน

          ผมขอแนะนำรัฐบาลว่า อย่าล็อกดาวน์ประเทศและหยุดงานบ่อยๆ เพราะคนจะไม่มีงานทำและเศรษฐกิจจะไม่ฟื้น ถ้ามีการว่าจ้างแรงงาน คนมีเงินจากการทำงาน จะสามารถจับจ่ายใช้สอยทำให้เศรษฐกิจฟื้นได้และถ้าจะดีพยายามส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศด้วยเพื่อเพิ่มการจ้างงานและค่าแรงจะเพิ่มขึ้นตามธรรมชาติ แต่ต้องไม่ลืมการตั้งสติควบคุมไวรัสโควิดให้มีประสิทธิภาพด้วย เพื่อป้องกันการระบาดของโรคร้าย

          ส่วนมุมมองเกี่ยวกับธุรกิจด้านพลังงาน คาดว่า แนวโน้มพลังงานสะอาด และทดแทนยังคงเป็นกระแสโลกที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน อย่างเช่นรถยนต์ไฟฟ้ายังไงก็เกิดขึ้นแน่นอน อีก 20 ปีข้างหน้าคาดว่าจะไม่มีรถยนต์ที่ใช้พลังงานฟอสซิลวิ่งอีกแล้ว ธุรกิจที่เกี่ยวกับรถยนต์แบบดั้งเดิมจะต้องเปลี่ยนไปหมดตามแนวโน้มของพลังงานสะอาดเพื่อธรรมาภิบาลรักษาสิ่งแวดล้อมโลก และเพื่อสังคมที่ดี ESG (Environmental  Social  Governance) ที่จะกลายมาเป็นการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ใหม่ (New Paradigm Shift)

สำคัญที่ภาคธุรกิจต้องทำตามแนวทางดังกล่าว ส่วนของธุรกิจโรงไฟฟ้าอยากจะบอกไปยังรัฐบาลว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้ายังเติบโตและจำเป็นต้องเพิ่มกำลังผลิตอีกหลายหมื่นเมกะวัตต์ เพื่อรับ Peak Load ด้วยเหตุผลการชาร์จไฟฟ้าเพื่อใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า EVCARS ดังนี้

          ขณะนี้มีผู้ไม่หวังดีพยายามจะให้ชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าโดยอ้างโควิด-19 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ชั่วคราว แต่ตามสถิติการใช้น้ำมันในตอนนี้ประเทศไทยมีการใช้น้ำมันวันละแสนตันเทียบเท่ากับกำลังไฟฟ้า 48,000 เมกะวัตต์ (MW) ถ้าประสิทธิภาพของเครื่องยนต์เท่ากับ 40% จะเทียบเท่ากับมอเตอร์ไฟฟ้า 19,200  เมกะวัตต์โดยเฉลี่ย

ถ้ามีการชาร์จแบตเตอรี่โดย Slow Charger 6 ชั่วโมงเต็ม เพื่อใช้ 1 วัน ระบบไฟฟ้าต้องมีขนาด 24÷6= 4 เท่า ของ 19,200 เมกะวัตต์หรือเท่ากับ 76,800 เมกะวัตต์เพื่อรับ Peak Load ถ้าใช้ค่าเฉลี่ยของจำนวนรถที่มาชาร์จไฟพร้อมกันไม่ให้เกินครึ่งหนึ่งก็ต้องเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าอีก 2 เท่าของ 19,200 เมกะวัตต์หรือ 39,400 เมกะวัตต์เพื่อรับ Peak Load

หมายเหตุ : หากใช้ Fast Charger 30 นาทีใช้ได้ทั้งวัน ถ้าชาร์จพร้อมกันหมดระบบไฟฟ้าต้องมีกำลังผลิต 24 ÷ 0.5 เท่า ของกำลังไฟฟ้าปกติรับ  Peak Load  ซึ่งถ้าใช้เวลาที่เหลือชาร์จแบตเตอรี่ได้ 2÷48   ของรถ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ถ้า 50% ของรถทั้งหมดใช้ Fast Charger รวมแล้วใช้เวลา 12 ชั่วโมง มีมาร์จิ้นเหลือเวลาอีก  6 ชั่วโมงให้รถที่ใช้ค่าเฉลี่ยชาร์จไฟวันละ 2 ครั้ง เพื่อใช้ 24 ชั่วโมง ระบบไฟฟ้าต้องมีกำลังผลิต 24÷(2x2) = 6 เท่า ของกำลังไฟฟ้าปกติเพื่อรับ Peak Load จะสามารถชาร์จได้พร้อมกัน 2÷6  ของรถทั้งหมด  

หากมีการเปลี่ยนรถใช้น้ำมันเป็นรถใช้ไฟฟ้า (อีวีคาร์) 20% ภายในห้าปี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องเพิ่มกำลังผลิตในระบบอีก 39,400 x 20% = 7,880 เมกะวัตต์ หรืออย่างต่ำ 39,400 เมกะวัตต์ภายใน 20 ปี เพื่อรับ Peak Load จากที่กำหนดในพีดีพี 18

ฉะนั้น พีดีพี18 ต้องมีการแก้ไขให้เพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าโดยด่วน มิฉะนั้นจะเกิดการ Blackout ไฟดับทั้งเมืองใน 5 ปีข้างหน้า  เพราะการที่สร้างโรงงานไฟฟ้าขนาดใหญ่แต่ละโรง ต้องใช้เวลา 5 ปี โดยทำ EIA/EHIA 2 ปี หลังจากนั้นค่อยก่อสร้างอีก 3 ปี รวมทั้งหมด 5 ปี เป็นอย่างต่ำ