ถอดบทเรียนกลยุทธ์องค์กรในการเผชิญวิกฤตโควิด-19 (จบ)

ถอดบทเรียนกลยุทธ์องค์กรในการเผชิญวิกฤตโควิด-19 (จบ)

ผู้เขียนได้ร่วมศึกษาเพื่อถอดบทเรียนกลยุทธ์การรับมือของธุรกิจในวิกฤตโควิด-19 และได้สรุปสิ่งที่เรียนรู้ออกมาเป็นกลยุทธ์ฯ 10 ประการ

บทความตอนที่แล้วได้กล่าวถึงบทเรียน 5 ประการแรกคือการเร่งจัดตั้งทีมบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ การเตรียมธุรกิจเพื่อรองรับความไม่แน่นอนในหลายฉากทัศน์ไว้ล่วงหน้า การบริหารสภาพคล่อง การพัฒนาช่องทางการค้าหรือสินค้าบริการใหม่ให้สอดรับกับสถานการณ์ และการรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าและคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน ในบทความตอนนี้จะกล่าวถึงบทเรียนสำคัญอีก 5 ประการสุดท้าย ได้แก่

  1. เร่งปรับโมเดลการทำงานในช่วงวิกฤตให้สอดรับการสถานการณ์ วิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้องค์กรต้องปรับแนวทางในการทำงาน ทั้งการทำงานที่บ้าน (work from home) ในลักษณะงานที่ทำได้ และงานในโรงงานที่จำเป็นต้องปิดโรงงานชั่วคราวหรือเปิดโรงงานแบบมีการรักษาสุขอนามัยในที่ทำงานอย่างเคร่งครัด สำหรับกรณีงานที่ทำงานที่บ้านได้ บริษัทควรปรับกระบวนการให้เกิดแนวทางการทำงานจากที่บ้านที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความพร้อมของพนักงานด้วย เช่นการมีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สัญญาณอินเทอร์เน็ต รวมถึงความสมดุลในการทำงานกับครอบครัว และความล้าจากการทำงานออนไลน์ที่ยาวนาน

ส่วนกรณีที่ต้องทำงานที่โรงงาน องค์กรก็จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสุขอนามัยของภาครัฐอย่างเข้มงวด เช่น การเว้นระยะห่างทางกายภาพ หลีกเลี่ยงการรวมตัวกันจำนวนมาก ลดกิจกรรมที่จะต้องให้พนักงานติดต่อใกล้ชิดกันเป็นเวลานาน ใช้แนวทางการรักษาสุขอนามัยที่ดี สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ไม่ใช้งานอุปกรณ์ร่วมกัน ทำความสะอาดสถานประกอบการอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น รวมทั้งปรับแนวทางการให้บริการลูกค้าอย่างเหมาะสม เช่น เพิ่มพื้นที่ทางกายภาพระหว่างพนักงานและลูกค้า ติดตั้งฉากกั้นกระจกหน้าพนักงานเก็บเงิน หรือใช้เทปที่พื้นเพื่อระบุช่องว่างระหว่างลูกค้าเข้าแถวรอ รวมถึงการติดต่อกับลูกค้าเช่นจัดส่งสินค้าแบบไม่สัมผัส ณ จุดที่กำหนดและตัวเลือกการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แบบไม่ต้องสัมผัส

2.สื่อสารกับพนักงานและปรับระบบการบริหารจัดการพนักงานในช่วงวิกฤต ในช่วงวิกฤตโควิด-19 การดูแลสุขอนามัยของพนักงานเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่สุดประการหนึ่ง เพราะจะทำให้งานขององค์กรเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น นอกจากนี้ ขวัญกำลังใจของพนักงานก็มีความสำคัญเช่นกัน เนื่องจากเมื่อเกิดวิกฤตรุนแรงเกิดขึ้น พนักงานจะเผชิญกับความรู้สึกไม่แน่นอนและไม่มั่นคงในอาชีพการงาน ผู้นำที่ดีควรให้ความเชื่อมั่นกับพนักงานว่าจะไม่มีการปลดพนักงานเพื่อลดต้นทุนหรือ หากจะมีการปลดพนักงานในอนาคตก็จะเป็นทางเลือกสุดท้ายในกรณีที่ธุรกิจประสบปัญหาอย่างรุนแรง

การบริหารจัดการพนักงานในช่วงวิกฤตยังรวมถึงการร่วมกันระดมความคิดเห็นในการเผชิญวิกฤตโดยเฉพาะการพัฒนาปรับปรุงสินค้าและบริการใหม่ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง การหาตลาดและช่องทางใหม่ๆ รวมถึงการใช้เวลากับการพัฒนาทักษะพนักงานให้มีความหลากหลายขึ้น เพื่อให้พร้อมสำหรับการฟื้นตัวทางธุรกิจ โดยบางบริษัทได้สร้างธุรกิจขึ้นใหม่ให้กับพนักงานมาร่วมกันผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากวิกฤต หรือการให้พนักงานแผนกอื่นๆ มาช่วยในการขายสินค้าและบริการเพื่อสร้างความตระหนักถึงวิกฤตและสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวในองค์กร

บทความที่เกี่ยวข้อง

3.ยกระดับทักษะพนักงานและองค์กรให้มีขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีสูงขึ้น เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นทางออกที่สำคัญที่ตอบโจทย์กับวิกฤตโควิด-19 ทั้งในการทำงานออนไลน์ การเรียนทางออนไลน์ และการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ ผู้ประกอบการต้องเร่งเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่โดยเฉพาะทักษะและความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีความสำคัญและเป็นปัจจัยที่ช่วยให้ปรับตัวกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ได้ รวมถึงทักษะ Soft skill เช่น ความเป็นผู้นำ ความฉลาดทางอารมณ์ และการสร้างทีมงาน เป็นต้น

4.จัดการข้อมูลให้ปลอดภัยในช่วงวิกฤต การจัดการข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมาก เมื่อปรับรูปแบบการทำงานที่ต้องทำงานที่บ้าน ทำให้ข้อมูลที่จะใช้ในการทำงานต้องมีการสำรองไว้หลายแห่ง เช่น ในระบบดิจิทัล หรือในสำนักงานสาขาอื่นที่ไม่ประสบภัย เพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานสามารถเข้าถึงข้อมูลในการบริหารจัดการได้เช่นเดียวกับในกรณีการจัดการธุรกิจโดยปกติ การให้ความสำคัญกับประเด็นความมั่นคงด้านข้อมูลและความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลหรือธุรกิจที่หน่วยงานต่างๆ จะต้องเตรียมพร้อมระบบและมีความระมัดระวังในเรื่องความมั่นคงด้านข้อมูลและความมั่นคงทางไซเบอร์เป็นพิเศษ

5.หาโอกาสที่เกิดขึ้นใหม่จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและเตรียมการเพื่อปรับธุรกิจสู่โอกาสใหม่ในอนาคต ผู้ประกอบการควรพยายามหาโอกาสที่เกิดขึ้นใหม่จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในระหว่างและภายหลังวิกฤต พฤติกรรมของผู้คนมีความเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการใช้ดิจิทัลมากขึ้น การลดพื้นที่สำนักงาน การรักษาความสะอาดและสุขอนามัย การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม การปรับห่วงโซ่อุปทานให้สั้นขึ้น การให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงควรมองให้เห็นโอกาสเหล่านี้และเตรียมปรับธุรกิจเพื่อรองรับและตอบโจทย์ความต้องการสินค้าและบริการใหม่ในอนาคต

        ในช่วงเวลาปกติ เป็นช่วงเวลาที่ทุกฝ่ายควรเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต ในขณะที่ในช่วงวิกฤต ทุกฝ่ายจะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วซึ่งย่อมมีสิ่งที่ทำให้เรียนรู้ ล้มเหลวและเติบโตขึ้นได้อย่างมากมาย เมื่อถึงวันหนึ่งที่เหตุการณ์ผ่านไป เราคงจะมีประสบการณ์ที่สามารถนำมาร่วมกันถอดบทเรียนกันอย่างเป็นระบบเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อไปให้พร้อมที่จะเผชิญกับวิกฤตในอนาคต

*บทความโดย ธราธร รัตนนฤมิตศร

สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/