2021 ปลดล็อค-ไปต่อ

2021 ปลดล็อค-ไปต่อ

ถ้าจะเปรียบปี 2021 เป็นหนังซีรีส์ก็คงจะเป็นภาคต่อที่เปิดตัวออกมาได้โหดและดุเดือดกว่าภาคแรกหลายเท่า

สถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมาโหมกระหน่ำเศรษฐกิจโลก ทำให้ภาคธุรกิจต้องกลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่กับแผนฟื้นฟูเพราะ Recovery Plan ที่ทำไว้เดิมก็มีอันจะต้องพับเก็บ

ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่อเค้าว่า จะทำให้องค์กรธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม การเตรียมรับมือ Double Disruption คือวาระเร่งด่วนที่ผู้บริหารองค์กรต้องรีบลงมือทำให้เกิดขึ้นจริง ทั้งเรื่องการปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อรับมือผลกระทบจากโควิดและการเร่งสปีดการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี

องค์กรส่วนใหญ่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปฏิวัติระบบการทำงานเดิมโดย มีการทำ Process Automation โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนเพิ่มมากขึ้น มีการทำ Technology Integration โดยเอา Digital Tools และ Collaboration Tools เข้ามาใช้ในฟังก์ชั่นการทำงานหลักทั้งในฝั่งการตลาด การขายและการผลิต มีการใช้บิ๊กดาต้า เอไอและคลาวด์คอมพิวติ้ง เป็นตัวกำหนดทิศทางผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ

แต่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น การปลดล็อคข้อจำกัดของคนในองค์กรถือเป็นงานหินที่สุดที่ผู้บริหารระดับสูงต้องเจอ ข้อมูลการสำรวจของ World Economic Forum 2020 ที่สำรวจความเห็นผู้บริหารทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย ระบุว่า ในยุค Double Disruption นี้ 94% ของผู้บริหารระดับสูงต้องการให้พนักงานมีทักษะใหม่ในการทำงาน อีก 50% มองว่าพนักงานในองค์กรจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่หรือหาเส้นทางอาชีพใหม่เพราะงานเดิมที่ทำไม่ได้ตอบโจทย์ขององค์กรอีกต่อไป ส่วนอีก 40% ของผู้บริหารคิดว่าจะต้องมีการปรับลดพนักงานลงหรือปรับเปลี่ยนไปใช้การจ้างงานแบบเอาท์ซอร์สเฉพาะทางมากขึ้น

นอกเหนือจากการปลดล็อคองค์กรด้วยการเปลี่ยนถ่ายทรัพยากรบุคคลตั้งแต่ระดับสูงไปจนถึงระดับปฏิบัติงานแล้ว ยังต้องมีการปรับแผนกลยุทธ์องค์กรเพื่อรองรับ Double Disruption ใน 5 เรื่องหลักๆ เช่น

1) การทำให้นโยบายการทำงานแบบ Hybrid Workplace มีประสิทธิภาพ โดยให้มีการทำงานแบบกระจายตัว (Remote & Decentralized) มีทีม A ทีม B รองรับการทำงานและประสานงานกันเพื่อผลลัพธ์สูงสุด

2) เน้นการสร้าง Employee Experience ด้วยวัฒนธรรมองค์กรใหม่ที่รองรับการทำงานแบบกระจายตัว มีโครงสร้างสวัสดิการและการให้รางวัลที่สร้างแรงกระตุ้นทำให้พนักงานมีแรงจูงใจและคงความรู้สึกมีส่วนร่วม

3) การเร่งสปีดเทคโนโลยีที่ต้องควบคู่กับการสร้าง Productivity เพราะในช่วงเริ่มต้นของการทำ Technology Integration หรือการวางระบบ Automation ที่ผ่านมายังมีข้อติดขัด การหาแนวทางรองรับให้ “พนักงาน” + “เทคโนโลยี” ทำงานร่วมกันได้แบบมีซินเนอร์จี้ เป็นโจทย์ที่องค์กรต้องรีบแก้ไข

4) โครงสร้างขององค์กรในเรื่องทำเลที่ตั้งและการบริหารห่วงโซ่มูลค่า (Value Chains) การยุบ-แยก-ย้าย ฐานที่ตั้ง ฐานการผลิต รวมถึง ฐานการกระจายสินค้า เป็นหัวข้อหลักที่องค์กรต้องหาทางออกเพื่อลดต้นทุน

5) ขนาดขององค์กร ภาพใหญ่คือเรื่องของการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี แต่ภาพที่ต้องฉายควบคู่กันก็คือ แล้วองค์กรต้องมีขนาดและจำนวนพนักงานแค่ไหนถึงจะสอดคล้องกับเป้าหมายอนาคต

การจะ “ไปต่อ” หลังวิกฤติคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีความเจ็บปวดเกิดขึ้นระหว่างทาง การเปลี่ยนตัวผู้บริหารระดับ C-Level จำนวนมากในปีที่ผ่านมาเป็นสัญญาณบ่งบอกชัดเจนว่า การเปลี่ยนผ่านได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว