ป้องกันตัวจาก COVID-19 โดยการดูแลระบบภูมิคุ้มกันของตัวเอง(1)

ป้องกันตัวจาก COVID-19 โดยการดูแลระบบภูมิคุ้มกันของตัวเอง(1)

เดิมทีผมตั้งใจจะเขียนเรื่องปัจจัยที่ทำให้แก่ชราตอนต่อไป แต่เห็นข่าวที่ทำให้ตื่นตระหนกกันทั้งประเทศคือ การติดเชื้อโควิดที่เริ่มจากสมุทรสาคร

เดิมทีผมตั้งใจจะเขียนเรื่องปัจจัยที่ทำให้แก่ชราตอนต่อไป แต่เห็นข่าวที่ทำให้คนไทยตื่นตระหนกกันทั้งประเทศคือ การค้นพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนกว่า 600 คนที่จังหวัดสมุทรสาคร ทั้งนี้ รายละเอียดที่รายงานข่าวเมื่อวันเสาร์ที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อ 516 คนจากการตรวจคัดกรองในกลุ่มแรงงานต่างด้าวจำนวน 1,192 คน แปลว่าพบผู้ติดเชื้อคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 42.3% ของจำนวนผู้ที่ได้รับการตรวจคัดกรอง ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมากและแปลว่าน่าจะมีการระบาดอย่างกว้างขวาง นอกจากนั้นยังรายงานอีกด้วยว่า มากกว่า 90% เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมากและส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว


รายงานข่าวดังกล่าวย่อมจะส่งผลกระทบอย่างมาก ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 และไตรมาส 1 ของปี 2564 เพราะคนไทยเกรงกลัวโควิด-19 เป็นทุนอยู่ก่อนแล้ว แต่ผมก็มีข้อสังเกต 2 ประการคือ หนึ่ง ดังที่กล่าวข้างต้นนั้น คนที่ติดเชื้อ “กว่า 90% ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก” ซึ่งเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย กล่าวคือโควิด-19 จะเป็นผลร้ายที่รุนแรงเฉพาะคนกลุ่มเล็กเท่านั้น แต่ข้อร้ายคือการไม่แสดงอาการ แปลว่า โควิด-19 จะสามารถแพร่ขยายไปได้อย่างรวดเร็วใน 2-3 เดือนข้างหน้า 


สอง การติดเชื้อรายใหม่วันละ 500-600 คนของประเทศไทยนั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติมากนัก เพราะประเทศขนาดประชากรใกล้เคียงกับไทยเช่นอังกฤษนั้น ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 2 ล้านคนและมีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 25,000 คน แม้ในช่วงที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่ำสุดในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาก็ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละประมาณ 500-600 คน 

สำหรับพื้นที่ใกล้เคียงกับประเทศไทยที่มีนัยสำคัญนั้น ประเทศเมียนมาที่อยู่ทางตะวันตกของไทยและมาเลเซียที่อยู่ทางใต้ของไทยก็มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ประเทศละกว่า 1 พันคนต่อวัน โดยเมียนมามีผู้ติดเชื้อสะสมรวมทั้งสิ้น 115,200 คน ในขณะที่มาเลเซียมีผู้ติดเชื้อสะสมรวมทั้งสิ้น 92,000 คน (แม้ว่ามาเลเซียจะมีประชากรไม่ถึงครึ่งหนึ่งของประเทศไทยคือประมาณ 32 ล้านคน) แต่ในด้านตะวันออกของไทยนั้นกลับมีผู้ติดเชื้อน้อยมากคือ มีผู้ติดเชื้อในลาวเพียง 46 คน ในเขมร 362 คนและในเวียดนาม1,411 คน


แต่ที่สำคัญในเชิงส่วนตัวของเราคือ เราจะดูแลตัวเองอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงจากอันตรายของโควิด-19? แน่นอนว่าการใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างและล้างมือบ่อยๆ ย่อมจะเป็นแนวทางปฏิบัติขั้นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งในการหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัดเป็นเวลานานๆ เช่น การเดินทางโดยเครื่องบินซึ่งย่อมจะกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง


แต่ในขั้นต่อไปคือ หากติดเชื้อมาแล้วจะส่งผลให้ตัวของเราป่วยหนักหรือเสียชีวิตนั้น ย่อมจะขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกายและของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ตรงนี้โดยทั่วไปนั้นคนที่อายุน้อย (ต่ำกว่า 40 ปี) และมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ไม่มีโรคประจำตัว ย่อมจะไม่ต้องเป็นห่วงมากนัก แต่ผู้สูงอายุ (มากกว่า 70 ปี) และมีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคอ้วนและโรคทางเดินหายใจ ย่อมจะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะป่วยหนักหรือเสียชีวิตจากโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องที่เรารับรู้กันอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว


ผมคิดว่า ประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งเกี่ยวกับโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้เป็นโควิด-19 คือ การที่ไวรัสนี้ไม่เพียงแต่ทำความเสียหายกับระบบทางเดินหายใจ แต่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางไปสู่ระบบอื่นๆ ของร่างกาย เช่น การไม่สามารถรับรู้กลิ่นและรส การทำให้เกิดลิ่มเลือด (เป็นเหตุให้ขาดออกซิเจนและขาดเลือดไปเลี้ยงหัวใจและสมองโดยไม่รู้ตัว) และการเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่ออวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย (เช่น ปอดเป็นรูและเส้นเลือดรั่ว) เพราะระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ตอบสนองอย่างเชื่องช้าและทำงานผิดพลาด เช่น ทีเซลล์ของเราไม่เพียงแต่กำจัดเซลล์ที่ถูกไวรัสครอบงำ แต่ฆ่าเซลล์ปกติรอบข้างอย่างไม่เลือกหน้า เป็นต้น 


ดังนั้น ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจึงมีทบบาทสำคัญอย่างมาก และต้องอย่าลืมว่า การรอคอยฉีดวัคซีนเพื่อให้เป็นจุดจบของโควิด-19 นั้น ก็เป็นการฉีดวัคซีนเพื่อหวังให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต้านทานโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ให้ได้ แต่ในกรณีที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีความบกพร่องนั้น วัคซีนย่อมจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร (จึงได้มีการกล่าวว่า ผู้สูงอายุที่ภูมิคุ้มกันแก่ชราอาจต้องฉีดวัคซีนในปริมาณที่มากกว่าคนที่อายุน้อย) นอกจากนั้นผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องนั้นอาจถูกห้ามไม่ให้ฉีดวัคซีนเพราะเกรงว่าจะเกิดภัยอันตรายจากผลกระทบข้างเคียงอีกด้วย


ตอนที่ประธานาธิบดีทรัมป์เป็นโควิด-19 มีรายงานข่าวว่าได้รับยาบำบัด 3 ชนิดคือ

1. Remdesivir ซึ่งมีตัวยาที่ชะลอการแบ่งตัวของโคโรนาไวรัส ตรงนี้ผมค้นพบงานวิจัยทำโดยผู้เชี่ยวชาญของเกาหลีใต้และไต้หวัน พบว่า สาร Theaflavin ในชาดำ (และชาเขียว) มีสารรพคุณในการชะลอการแบ่งตัวของโคโรนาไวรัส (ทั้ง SARS, MERS และ SARS-Cov-2) คล้ายคลึงกับยา Remdesivir แต่เป็นการทดลองในห้องทดลอง มิได้เป็นการทดลองกับมนุษย์หรือสัตว์

2.การถ่ายเลือดที่มีภูมิคุ้มกันโควิด-19 แล้วให้ยากับประธานาธิบดีทรัมป์คือ ยาบำบัดประเภท Monoclonal antibody 2 ชนิดที่ผลิตโดยบริษัท Regenron ซึ่งคงจะไม่มีใครในประเทศไทยสามารถหาซื้อมาใช้ได้

3.ยา Dexamethasone ซึ่งเป็นยาลดการอักเสบ (ประเภทสเตียรอยด์) ที่ได้รับการยอมรับ (endorsement) จากองค์การยาแห่งยุโรป (European Medicines Agency) แต่ยาที่กดระบบภูมิคุ้มกันโดยรวมคือ Hydroxy Chloroquine ที่ประธานาธิบดีทรัมป์แนะนำให้ใช้นั้น ปรากฏว่าไม่ได้ถูกนำเอาไปใช้รักษา เพราะพบว่าไม่ได้ผล

จากข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ทำให้ผมให้ความสำคัญอย่างมาก (นอกเหนือจากการใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างและล้างมือบ่อยๆ) ในการดูแลตัวเองคือ เรื่องของการดูแลระบบภูมิคุ้มกันของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลีกเลี่ยงอาการที่เรียกว่า การอักเสบเรื้อรัง (Chronic Inflammation) ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากในการทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเสื่อมถอย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมจะขอเขียนถึงในคราวต่อไปว่า ควรทำตัวอย่างไรและกินอาหารประเภทใดจึงจะเป็นประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายครับ