แตกต่างอย่างไม่แตกแยก:สังคมไทยสังคมหลายรุ่น

แตกต่างอย่างไม่แตกแยก:สังคมไทยสังคมหลายรุ่น

สังคมสูงวัย ประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมาก สำหรับการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ การบริหารจัดการทางสังคม การวางแผนทางธุรกิจและการทำตลาด

กระนั้นก็ตาม อีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือการที่ประเทศไทยจะเป็น “สังคมหลายรุ่น” ที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไป และจะไม่มีรุ่นไหนที่จะเป็น “รุ่นใหญ่” หรือ มีสัดส่วนที่ใหญ่และเป็นสัดส่วนหลักอย่างที่เคยเป็นมา ในบทความนี้ คณะผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะนำเสนอ ประชากรในรุ่นวัยต่างๆ ที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไป ซึ่งการตระหนักในประเด็นนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสังคมที่แตกต่าง “แต่ไม่แตกแยก”

     สังคมไทย ประกอบด้วยประชากร 7 รุ่น ได้แก่ 1) ประชากรรุ่นสงครามโลก (GI) 2) ประชากรรุ่นเงียบ (Silent) หรือ รุ่นหัวโบราณ (Traditionalists) 3) ประชากรรุ่น Gen-B หรือ รุ่นเบบี้บูม 4) ประชากรรุ่น Gen-X 5) ประชากรรุ่น Millennials ซึ่งบางท่านเรียกว่า รุ่น  Gen-Y หรือ Gen  ME 6) ประชากรรุ่น Gen-Z หรือที่บางท่านเรียกว่า รุ่น Nexters และ 7) ประชากรรุ่น Gen Alpha

160881032090

        เป็นที่คาดว่า เมื่อถึงปี 2583 ประชากรรุ่นสงครามโลก (GI) จะจากพวกเราไปหมดแล้ว เหลือเพียงประชากร 6 รุ่น โดยจะมีเพียงประชากรรุ่น Gen Alpha รุ่นเดียวเท่านั้นที่เพิ่มจำนวนขึ้น (หากยังไม่มีการเริ่มกลุ่มประชากรใหม่ ที่มีลักษณะแตกต่างจาก Gen Alpha) ซึ่งประชากรรุ่น Gen Alpha อาจจะเพิ่มมากขึ้นถึง 160 % จากเพียง 7.3 ล้านในปัจจุบัน กลายเป็นประชากรุ่นที่มีจำนวนมากเป็นอันดับ 2 (19.02 ล้านคน) รองจากประชากรรุ่น Millennials (19.15 ล้านคน) ซึ่งแสดงว่า ประเทศไทยจะเป็น “สังคมหลายรุ่น” ที่จะไม่มีรุ่นไหนที่จะเป็น “รุ่นใหญ่” หรือ มีสัดส่วนที่ใหญ่และเป็นสัดส่วนหลักอย่างที่เคยเป็นมา 

๐ เปลี่ยนยุค เปลี่ยนคน เปลี่ยนโอกาส 

               วิถีแห่งเศรษฐกิจไทยและโอกาสทางธุรกิจในปัจจุบันตลอดถึงในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า ย่อมไม่เหมือนกับช่วง 2-3 ทศวรรษก่อน หรือยุคที่ประชากรรุ่นเบบี้บูมเคยเป็นกำลังหลักทางเศรษฐกิจ ที่เคยทำให้เศรษฐกิจไทย เติบโตถึงร้อยละ 10 ต่อปี ก้าวพ้นจากการเป็นประเทศรายได้น้อย (low income country) มาเป็นประเทศรายได้ปานกลาง (middle income country) จากความมานะบากบั่น ความอดทน ความเชื่อมั่นในตัวเองสูง การให้ความสำคัญกับการมีระเบียบในการดำเนินชีวิต  ทุ่มเทชีวิตให้กับหน้าที่การงาน และองค์กรบริษัทที่ตนทำงานอยู่ และปฏิบัติตามกรอบระเบียบกติกาอย่างเคร่งครัด

            ในปัจจุบัน เศรษฐกิจของประเทศ เป็นพลังของประชากร 3 รุ่น คือ 1) ประชากรรุ่น Millennials (19.9 ล้านคน) 2) ประชากรรุ่น Gen-X (14.6 ล้านคน) และ ประชากรรุ่น Gen-B หรือ รุ่นเบบี้บูม (13.3 ล้านคน) ตามลำดับ ซึ่งเมื่อถึงปี 2583 ประชากรรุ่น Millennials จะยังเป็นพลังหลักทางเศรษฐกิจต่อไป เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ของประเทศ ด้วยขนาดของประชากรที่จะมากถึง 19.2 ล้านคน รองลงมาคือ รุ่น Gen-X  (12.5 ล้านคน) ในขณะที่ประชากรรุ่น Gen-B ซึ่งเคยเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมื่อหลายทศวรรษก่อน จะลดจำนวนลงถึงเกือบเท่าตัว เหลือประมาณ 6 ล้านคน

160881038080

               ถ้าจะกล่าวถึงลักษณะเด่นของ Gen-X จะพบว่าประชากรรุ่นนี้ ทุ่มเทชีวิตให้กับหน้าที่การงานในระดับหนึ่ง สาเหตุหลักน่าจะมาจากการที่ประชากรรุ่นนี้ เห็นประชากรรุ่นเบบี้บูม (รุ่นพ่อแม่ของตน) เคยประสบความสำเร็จจากการทุ่มเทชีวิตให้กับหน้าที่การงาน ความมานะบากบั่น ความอดทน แต่ก็มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง อย่างไรก็ดี ประชากรรุ่น Gen-X ก็มีความยืดหยุ่น ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ปิดกั้นตนเองจนเกินไป รวมถึงมีความคิดว่าการเปลี่ยนงานย้ายงานเป็นเรื่องปกติ เป็นการให้โอกาสกับชีวิต และเป็นการปรับตัวเข้ากับโอกาสใหม่ๆ ซึ่งสอดคล้องกับการที่รุ่น Gen-X เติบโตมาในยุคที่เทคโนโลยี อาทิเช่น คอมพิวเตอร์เริ่มมีบทบาทในชีวิตประจำวันและการทำงาน

             สำหรับรุ่น Millennials ไม่เพียงเป็นประชากรกลุ่มใหญ่สุดของประเทศในปัจจุบัน หากแต่ยังเป็นรุ่นที่มีศักยภาพ สอดรับกับสังคมฐานความรู้แบบมืออาชีพแห่งศตวรรษที่ 21 ประชากรรุ่นนี้มีศักยภาพสูงในการเรียนรู้ รอบรู้ มีศักยภาพในการคิดและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ มีศักยภาพที่จะจัดการกับเวลาว่างให้เป็นประโยชน์และพัฒนาต่อยอดแบบมืออาชีพได้ ให้ความสำคัญกับเครือข่ายทางสังคมซึ่งแทรกอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของการทำงาน ชอบการประกวดแข่งขัน ให้ความสำคัญกับรางวัลเชิดชูความสำเร็จ และคาดหวังที่จะมีวิถีชีวิตการทำงานในรูปแบบที่หลากหลายกว่าเดิม 

๐ คลื่นลูกใหญ่ คลื่นลูกใหม่ 

160881035467

            สำหรับประชากรรุ่น Gen-Z  หรือที่เรียกกันเก๋ๆ อีกอย่างว่า รุ่น Nexters จัดว่าเป็นชาวดิจิตอลโดยแท้ โดยประชากรรุ่น Nexters มีส่วนที่คล้ายกับประชากรรุ่น Millennials ในระดับหนึ่ง คือ เมื่อได้แสดงฝีมือไปแล้วจะคาดหวังว่าจะได้รับคำติชม หรือได้รางวัลตอบแทน ในขณะเดียวกันก็เป็นรุ่นที่ใส่ใจปัญหาสังคม และไม่ปิดกั้นตัวเองในการแสดงออกซึ่งสิทธิ์และเสียงของตน ประชากรรุ่น Nexters ชอบและเหมาะกับการทำงานเป็นทีมขนาดเล็ก เก่งในการค้นข้อมูลนอกตำราจากอินเตอร์เน็ต ชอบการสื่อสารที่ชัดและรวดเร็ว ชอบและคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีต่างๆ การพูดคุยทางออนไลน์ และชอบที่มี Coach หรือ ติวเตอร์ส่วนตัวแบบที่สามารถติดต่อได้ทุกเวลา ไม่ว่าจะไกลกันเพียงใด

          ประชากรรุ่น Gen Alpha เป็นรุ่นที่มีความเข้าใจ ฉลาดและเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นก่อนๆ มีความสามารถสูงในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตลอดจนการสร้างสรรค์นวัตกรรม ประชากรรุ่น Gen Alpha เติบโตมาในช่วงที่พรั่งพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตมากที่สุด และใช้ชีวิตอยู่กับเทคโนโลยี ประชากรรุ่น Gen Alpha นี้ อาจมีความอดทนไม่สูงนักและสมาธิในการทำอะไรๆ อาจไม่ยาวนัก

         ในอนาคต ประชากรรุ่น Gen Alpha และประชากรรุ่น Millennials จะมีบทบาทที่สำคัญทั้งในภาคสังคม และภาคเศรษฐกิจต่อประเทศ โดยประชากรรุ่น Millennials จะมี 19.15 ล้านคน และประชากรรุ่น Gen Alpha จะมี 19.02 ล้านคน ดังนั้น การเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือ การมี empathy จะมีส่วนสำคัญมากในการสร้างความเข้าใจกัน ระหว่างกลุ่มประชากรในอนาคต ที่จะมีขนาด “ไม่น้อย” นอกจากนี้ เทคโนโลยีการสื่อสารจะมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการสร้าง “ความเข้าใจ” หรือ สร้าง “ความไม่เข้าใจ” ระหว่างประชากรในกลุ่มต่างๆ ดังนั้นหากมีการปลูกฝัง ให้ประชากร รุ่น Gen Alpha และประชากรรุ่น Millennials เรียนรู้ที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเรา ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ที่จะทำให้ความแตกต่าง ไม่กลายเป็นความแตกแยก

*บทความโดย

ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน นักวิจัยอาวุโส สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ.ดร.พัชราวลัย วงศ์บุญสิน รองผู้อำนวยการบริหารด้านวิชาการ ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ. ดร. ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำ สาขา การเงิน สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย