ศีลธรรม ความรู้ผิดชอบชั่วดีและชีวิตที่ดี อันดับดัชนีไทย?

ศีลธรรม ความรู้ผิดชอบชั่วดีและชีวิตที่ดี อันดับดัชนีไทย?

ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น  ประเด็นด้านศีลธรรมมีส่วนสำคัญในการสร้างความผาสุกให้กับสังคม และส่งเสริมการพัฒนาประเทศ 

งานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ตัวเป้งอย่าง โรเบิร์ต  แบร์โรว์  พบว่า  ความเชื่อเกี่ยวกับศีลธรรม  บุญ  และบาป หรือเรียกรวมกันอย่างหลวม ๆ ว่า “ศาสนา” มีความสัมพันธ์กับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ  หากดูข้อมูลที่นำเสนอในตารางซึ่งเป็นคะแนนดัชนีศีลธรรม  ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี  และชีวิตที่ดีในปี พ.ศ. 2563 (An Index of Morality, Conscience and Good Life)  จะเห็นได้ว่า  ประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูงเป็นประเทศที่มีคะแนนดัชนีตัวนี้สูงเช่นกัน  สะท้อนให้เห็นว่ามิติด้านจิตใจกับมิติการกินดีอยู่ดีเป็นสิ่งที่ควรได้รับการพัฒนาควบคู่กัน  แต่ก็มีข้อสังเกตว่าประเทศในอาเชียส่วนใหญ่อันดับจะไม่ค่อยสูง 

160880879681

บทบาทของศีลธรรมในทางเศรษฐศาสตร์มี 3 ด้าน  คือ  ในฐานะสินค้าเอกชน  ในฐานะสินค้าสาธารณะ  และในฐานะทุนทางสังคม 

ศีลธรรมในฐานะของสินค้าเอกชน  บรรทัดฐานทางศีลธรรมเป็นการชี้แนวทางในการดำเนินชีวิต  แต่การเลือกว่าจะทำตามหรือไม่เป็นสิทธิของแต่ละคน  ไม่มีใครสามารถบังคับจิตใจได้  โดยธรรมชาติแล้วทุกคนต่างก็ต้องการเลือกแต่สิ่งที่ดีสำหรับตัวเอง  หากเขาเห็นว่าคำเป็นประโยชน์ก็จะยอมรับแนวคิดนั้นด้วยตัวเอง   ด้วยเหตุนี้  การมีระดับทางศีลธรรมในตัวมากน้อยเพียงใดย่อมเป็นสิทธิเฉพาะตัว  ทุกคนมีสิทธิจะตัดสินใจเองว่าจะจัดสรรเวลาและทรัพยากรไปกับเรื่องนี้สักกี่มากน้อยโดยการเปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้กับต้นทุนที่จะเกิดขึ้น 
  ศีลธรรมในฐานะของสินค้าสาธารณะ  ศีลธรรมเป็นสิ่งที่ใช้แล้วไม่หมดไป  ถึงมีคนให้ความสำคัญกับศีลธรรมเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งคน  ไม่ได้ทำให้ศีลธรรมนั้นขาดแคลน  ไม่ได้ลดทอนคุณค่าหรือลดความสำคัญลงไปเลย  ในทางตรงกันข้าม  ยิ่งมีคนมีศีลธรรมมาก  ก็จะยิ่งส่งผลเชิงบวกต่อสังคมมากขึ้นเพราะช่วยให้เกิดความสงบสุขของสังคม  
    อย่างไรก็ตาม  ศีลธรรมทำหน้าที่นี้ได้ดีแค่ไหนขึ้นอยู่กับวิธีการในการกล่อมเกลาทางสังคม  หากกระบวนการกล่อมเกลามีเหตุมีผลช่วยให้สมาชิกในสังคมมีความเข้าใจหลักคำสอนอย่างถ่องแท้  ไม่ใช้เป็นข้ออ้างเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองหรือผลประโยชน์ส่วนตัวแล้ว  ศีลธรรมที่เกิดขึ้นจะเป็นเนื้อแท้ของสังคมที่กลายเป็นเสาหลักอันหนึ่งในการค้ำจุนสังคมให้มีความสงบมั่นคง

ศีลธรรมในฐานะทุนทางสังคม  ศีลธรรมเปิดโอกาสให้คนในสังคมที่มีความเชื่อพื้นฐานคล้ายคลึงกันได้มีโอกาสพบปะพูดคุยทำความรู้จักกัน  ก่อให้เกิดชุมชนและเครือข่ายทางสังคมของผู้ที่มีความเชื่อคล้ายคลึงกัน  ประโยชน์ที่ได้รับไม่ได้มีแต่ความรู้สึกทางใจเท่านั้น  เครือข่ายนี้ยังช่วยให้สมาชิกสามารถรับข้อมูลข่าวสารในด้านต่างๆ ได้มากกว่าที่จะต้องไปหาด้วยตัวของตัวเอง  บ่อยครั้งที่กิจกรรมในลักษณะนี้ได้นำไปสู่ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันทางธุรกิจ 


นอกจากนี้แล้ว  มีงานวิจัยหลายชิ้นให้ผลสอดคล้องกันว่า การทำตัวอยู่ในกรอบของศีลธรรม (และศาสนา) มีผลในทางบวกต่อระดับการเรียนอีกด้วย  โดยพบว่าเยาวชนที่มีระดับศีลธรรมหรือมีส่วนรวมกับกิจกรรมทางศาสนาโดยสมัครใจ  มีระดับผลการเรียนโดยเฉลี่ยสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วม  เพราะมีโอกาสพัฒนาระดับความคิดในเชิงนามธรรมสูงขึ้นกว่าเดิม  ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการคิดและวิเคราะห์ขั้นสูง  นอกจากนี้แล้ว  ครอบครัวที่เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้ร่วมกันมีแนวโน้มจะเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวน้อย  สมาชิกในครอบครัวมีความมั่นคงทางจิตใจ  จึงมีสมาธิในการทำงานและการเรียนได้ดีกว่าครอบครัวที่มีฐานะใกล้เคียงกันแต่ไม่ได้มีความสนใจในเรื่องนี้มากนัก


แม้ว่าตัวเลขการจัดอันดับของประเทศไทยจะอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก  นั่นไม่ได้หมายความว่าสังคมของเราเป็นสังคมที่เลวร้าย  แต่อย่างน้อยการมีตัวเลขให้ดูก็ทำให้เรามีฐานในการคิดต่อว่าตอนนี้สังคมของเราเป็นอย่างไร  ทิศทางข้างหน้าควรเป็นอย่างไร


อัลเบิร์ต  ไอน์สไตน์  ชายผู้พิสูจน์การดำรงอยู่ของคลื่นความโน้มถ่วงที่เป็นปริศนาคาใจให้วงการวิทยาศาสตร์รอการพิสูจน์มากว่าร้อยปีเคยกล่าวไว้ว่า “วิทยาศาสตร์ที่ขาดมิติทางศาสนา (และศีลธรรม) เป็นเรื่องน่าเบื่อ ฉันใดก็ฉันนั้น ความเชื่อทางศาสนาที่ขาดกระบวนการทางวิทยาศาสตร์รองรับก็คือ การปิดหูปิดตาคนดี ๆ นี่เอง”