‘ผู้นำ’กับความเชื่อมั่น

 ‘ผู้นำ’กับความเชื่อมั่น

Good Governance หรือ Corporation Governance ในภาษาไทยมักใช้กันว่า ธรรมาภิบาล บรรษัทภิบาลและการกำกับดูแลกิจการที่ดี (หรือใกล้เคียงนี้)

โดยทั่วไปแล้ว เรามักจะคุ้นเคยกับ “หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี” ในด้านโครงสร้างความสัมพันธ์และแนวปฏิบัติเพื่อสร้างความโปร่งใส ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของ “คณะกรรมการ” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งสำหรับบริษัทจดทะเบียนที่มีประชาชนเป็นผู้ถือหุ้น

แต่การสร้างความเชื่อมั่นเพียงประการเดียว ยังไม่เพียงพอสำหรับการเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ดี (ในตลาดหลักทรัพย์) เนื่องจากทั้งภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและผู้ลงทุนต่างต้องการผลประกอบการที่ดีของกิจการ กิจการสามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพธุรกิจได้ และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนรอบข้าง เพื่อให้บริษัทสามารถเติบโตอยู่รอดได้ในระยะยาวด้วย 

ดังนั้น “คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์” (กลต.) จึงได้ออกข้อกำหนดเกี่ยวกับ “หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี” หรือ Corporate Governance Code (CG Code) เพื่อเป็นหลักปฏิบัติสำหรับคณะกรรมการบริษัท (Board of Directors : BOD) ซึ่งเป็นผู้นำหรือผู้รับผิดชอบสูงสุดขององค์กร นำไปปรับใช้ในการกำกับดูแลให้กิจการมีผลประกอบการที่ดีในระยะยาว เป็นกิจการที่น่าเชื่อถือสำหรับผู้ถือหุ้นและผู้คนรอบข้าง เพื่อประโยชน์ในการสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืน ตรงตามความมุ่งหวังของทั้งภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ผู้ลงทุน ตลอดจนตลาดทุนและสังคมโดยรวม

หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (CG Code) ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ อันได้แก่ ส่วนที่ 1 คือ หลักปฏิบัติและหลักปฏิบัติย่อย และ ส่วนที่ 2 คือ แนวปฏิบัติและคำอธิบาย

“การกำกับดูแลกิจการ” (Corporate Governance) หมายถึง ความสัมพันธ์ในเชิงการกำกับดูแล รวมทั้งกลไกมาตรการที่ใช้กำกับการตัดสินใจของคนในองค์กรให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ซึ่งรวมถึง (1) การกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลัก (2) การกำหนดกลยุทธ์ นโยบาย และพิจารณาอนุมัติแผนงานและงบประมาณ และ (3) การติดตาม ประเมิน และดูแลการรายงานผลการดำเนินงาน

วัตถุประสงค์และเป้าหมายหลัก จะครอบคลุมถึงเป้าหมายและแนวความคิดหลักขององค์กร และเป้าหมายในระยะสั้น แนวความคิดหลักขององค์กรสามารถสะท้อนในรูปแบบของวิสัยทัศน์ หลักการ และรูปแบบธุรกิจที่สร้างคุณค่าให้แก่กิจการ

“การกำกับดูแลกิจการที่ดี” (Good Corporation Governance) จึงหมายถึง การกำกับดูแลกิจการที่เป็นไปเพื่อการสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืน นอกเหนือจากการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุน

คณะกรรมการบริษัท ควรจะต้องกำกับดูแลกิจการให้นำไปสู่ผลลัพธ์ (Governance Outcome) อย่างน้อย 4 ประการ ดังต่อไปนี้ (1) สามารถแข่งขันได้และมีผลประกอบการที่ดีโดยคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว (2) ประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม เคารพสิทธิและมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย (3) เป็นประโยชน์ต่อสังคม และพัฒนาหรือลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม และ (4) สามารถปรับตัวได้ภายใต้ปัจจัยการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ดังกล่าวข้างต้น หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (CG Code) จึงได้วาง “หลักปฏิบัติ” สำหรับ “คณะกรรมการบริษัท” 8 ข้อหลักด้วยกัน ซึ่งว่าด้วย บทบาทและความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทในฐานะผู้นำที่สร้างคุณค่าให้แก่กิจการอย่างยั่งยืน วัตถุประสงค์ เป้าหมายหลักของกิจการที่เป็นไปเพื่อความยั่งยืน การเสริมสร้างคณะกรรมการบริษัทที่มีประสิทธิผล การสรรหาและพัฒนาผู้บริหารระดับสูงและการบริหารบุคลากร การส่งเสริมนวัตกรรม และการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ การดูแลให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในที่เหมาะสม การรักษาความน่าเชื่อถือทางการเงินและการเปิดเผยข้อมูล และการสนับสนุนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารกับผู้ถือหุ้น

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ทำให้คุณลักษณะของ “การกำกับดูแลกิจการที่ดี” กลายเป็น “คุณสมบัติ” ที่สำคัญประการหนึ่งของ “ความเป็นผู้นำ” ที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใส ความยุติธรรม ความรับผิดชอบต่อองค์กร ผู้ถือหุ้น และสังคมส่วนรวมที่มีผลต่อความยั่งยืนของกิจการอย่างชัดเจน

ทุกวันนี้ หลายองค์กรมักจะปล่อยให้กิจกรรมต่างๆ ไปอยู่ในมือของคณะทำงาน โดยผู้บริหารไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าที่ควร จึงปรากฏความเป็นจริงที่ย้อนแย้งกัน

นั่นคือ องค์กรได้รางวัลมากมาย แต่คณะกรรมการและผู้บริหารต้องโทษตามกฎหมาย ครับผม!