จากเมดูซา #MeToo ถึงสีดาลุยไฟ

จากเมดูซา #MeToo ถึงสีดาลุยไฟ

'ภาวะไร้เสียง' ของผู้หญิง เป็นมรดกสืบทอดมาตั้งแต่ยุคกรีก จนถึงปรากฏการณ์แฮชแท็ก #MeToo และการแสดง 'สีดาลุยไฟ' ในไทยของกลุ่มเฟมทวิตแดนซ์

แมรี่ เบียร์ด ได้กล่าวในหนังสือ ผู้หญิงและอำนาจ ว่าการไร้เสียงหรือการริดลอนอำนาจของผู้หญิง ปรากฏในมหากาพย์โอดิสซี ของโฮเมอร์ ที่เทเลมาคัส โอรสของโอดิซิอัส กล่าวแก่เพเนโลปีมารดาของตนว่า “ท่านแม่ จงกลับขึ้นห้องไปเสียเถิด กลับไปทำงานของท่านกับหูกและกระสวย” โดยย้ำเตือนกับเธอว่า การปราศัยเป็นเรื่องของบุรุษเท่านั้น 

เบียร์ด อธิบายว่า การสั่งผู้หญิงให้เงียบเสียงในงานของโฮเมอร์ จากมหากาพย์โอดิสซีสู่ผลงานของกวีโรมันโอวิดในเมตามอร์โฟซิส ที่เจ้าหญิงฟิโนเมลาถูกผู้ข่มขืนตัดลิ้นออก เพื่อป้องกันไม่ให้ได้กล่าวโทษตน มาสู่บทละคร ไททัส แอนโดรนิคัส ของมหากวีเชคสเปียร์ ที่ตัวเอกหญิงลาวิเนียที่ถูกข่มขืนและถูกผู้ข่มขืนตัดลิ้นของเธอเช่นกัน

ปรากฏการณ์ “การไร้เสียง” เป็นภาพสะท้อนของการลิดรอนอำนาจของผู้หญิงดังกล่าว มีความสัมพันธ์กับการไร้สิทธิในการเลือกตั้ง การจำกัดสิทธิในทางกฎหมายและเศรษฐกิจ มาสู่การไม่รับฟังเสียงของผู้หญิงกับสิทธิของผู้หญิงในการปราศรัย โต้เถียง วิพากษ์วิจารณ์ ในพื้นที่สาธารณะ แต่เบียร์ดก็ยังได้พิจารณาว่า การทำให้ผู้หญิงไร้เสียงไม่ได้เป็นไปได้โดยง่าย เพราะต่อให้ฟิโนเมลาถูกตัดลิ้นออกเธอก็ยังกล่าวโทษผู้ที่ข่มขืนเธอโดยการถักทอเรื่องราวดังกล่าวบนผืนพรม จนมหากวีเชคสเปียร์ต้องทำให้ลาวิเนียไร้เสียงอย่างสิ้นเชิงโดยการตัดลิ้นและตัดมือทั้งสองข้าง

ภาพและพลังของเมดูซาซึ่งมีผมเป็นงู เป็นสัญญาทรงพลังที่แสดงถึงการท้าทายของผู้หญิงในรูปของอสุรกาย ที่ใครก็ตามที่จ้องมองเธอจะกลายเป็นหิน แต่ศีรษะของเมดูซาที่ถูกเพอร์ซิอุสตัดออกก็แสดงถึงแสนยานุภาพของเพศชายในการปราบปรามหายนะที่เกิดโดยผู้หญิง เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สื่อถึงการต้านทานอำนาจของผู้หญิงในโลกตะวันตกมาจนถึงทุกวันนี้

การไร้เสียงของผู้หญิงในยุคใหม่ ไล่เรียงตั้งแต่ ปรากฏการณ์ทำลายต้นตอของเสียงคือผู้หญิงตั้งแต่เริ่มต้นในรูปแบบของปรากฏการณ์ที่นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล อมาตยา เซน เรียกว่า Missing women หรือผู้หญิงที่หายไปจำนวนกว่าร้อยล้านคนในโลกนี้ อันเนื่องมาจากอคติที่มีต่อการเลี้ยงดูทารกหญิงในบางภูมิภาคและในบางวัฒนธรรม จนส่งผลให้สัดส่วนของเพศหญิงต่อชายบิดเบี้ยวไปในหลายภูมิภาคของโลกนี้ 

ในภายหลังเซนยังได้ระบุว่า แม้เวลาจะเดินไปข้างหน้าและเกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย ปรากฏการณ์ผู้หญิงที่หายไปก็ยังคงไม่ได้ลดน้อยถอยลง แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ก้าวหน้าในการระบุเพศทารกขณะที่ยังอยู่ในครรภ์มารดา กลับเป็นช่องทางใหม่ในการทำให้ต้นตอของเสียงหายไปตั้งแต่ยังไม่ได้ลืมตาดูโลก

ภาวะไร้เสียงของผู้หญิงอันเป็นมรดกสืบทอดมาตั้งแต่ยุคกรีก ยังสะท้อนให้เห็นในหนังสือของ โบห์เน็ต ไอริส ที่ชื่อ ออกแบบเพื่อเท่าเทียม : “สะกิด” กรอบคิดเรื่องเพศด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ได้วิเคราะห์ถึงพฤติกรรมที่แตกต่างกันระหว่างการเจรจาต่อรองเรื่องเงินเดือนระหว่างหญิงและชาย โดยพบว่าคนที่มีแนวโน้มน้อยกว่าที่จะเรียกร้องค่าตอบแทนที่สูงขึ้น ได้รับค่าตอบแทนที่แย่กว่าคนที่มีแนวโน้มมากกว่าที่จะเรียกร้อง แน่นอนว่า ผู้หญิงเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มน้อยกว่าที่จะเรียกร้องค่าตอบแทนที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ชาย โดยในงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า เงินเดือนเริ่มต้นของผู้ชายมากกว่าเงินเดือนเริ่มต้นของผู้หญิงถึง 8%  

นอกจากนี้ ความยินดีที่จะเจรจาหรือภาวะไม่ไร้เสียง ยังส่งผลต่อความก้าวหน้าในอาชีพการงานด้วย โดยผลการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า วาณิชธนากรหญิงมีแนวโน้มที่จะต่อรองน้อยกว่าเพื่อนร่วมงานชาย และแน่นอนว่าคนที่ยินดีจะเจรจาต่อรอง ก็จะก้าวหน้าในองค์กรมากกว่าเพื่อนร่วมงานที่ไม่กล้าแสดงออก อีกทั้งยังพบว่า การกล้าแสดงออกของพนักงานไม่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการปฏิบัติงานของเขาหรือเธอเลย นั่นหมายความว่า พนักงานที่กล้าแสดงออกอาจไม่ใช่คนที่ทำงานได้ผลดีที่สุด อีกทั้งพบว่า แม้กระทั่งเมื่อผู้หญิงเลือกที่จะเจรจาต่อรอง พวกเธอก็ยังเลือกที่จะเรียกร้องน้อยกว่า

เราลองกลับมาดูผลของการที่ผู้หญิงพยายามจะส่งเสียงว่าเป็นอย่างไร ในหนังสือเล่มเดียวกันของไอริสพบว่า สังคมประเมินผู้หญิงกับผู้ชายด้วยมาตรวัดคนละแบบ กล่าวคือ เมื่อให้กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพทั้งชายและหญิงประเมินความสามารถของผู้บริหาร ผู้บริหารชายที่ลุกขึ้นพูดจะได้รางวัลเป็นคะแนนความสามารถที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับผู้บริหารที่เงียบว่า แต่ในทางกลับกันบรรดาผู้ประเมินจะลงโทษผู้บริหารหญิงที่ลุกขึ้นพูด และให้คะแนนต่ำแก่ผู้บริหารหญิงที่พูดมากกว่าคนอื่น 

ข้อค้นพบดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ผู้หญิงไม่ได้อยากพูดน้อยกว่า แต่พวกเธอตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม “ภาวะไร้เสียง” ของสังคมที่สะท้อนความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ 

แม้ว่าความพยายามส่งเสียงจะเป็นสิ่งที่ละเมิดบรรทัดฐาน และแน่นอนว่าต้องถูกลงโทษเหมือนภาพศีรษะของเมดูซาบนเกราะหุ้มอกของเทพีอะธีนาในเทพปกรณัมกรีก ก็ไม่อาจหยุดยั้งความพยายามที่จะส่งเสียงของผู้หญิง 

ปรากฏการณ์แฮชแท็ก #MeToo บนโซเชียลมีเดียในปี 2560 ที่เริ่มต้นจากการเปิดโปงพฤติกรรมของฮาวีย์ ไวน์สตีน โปรดิวเซอร์ใหญ่ในวงการฮอลลีวูด ว่ามีพฤติกรรมคุกคามทางเพศดาราหญิงหลายคนที่อยู่ในภาวะไร้เสียงมาเป็นเวลานานในสหรัฐอเมริกา สะท้อนก้องไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วในแบบที่เรียกว่า Weinstein effect

ล่าสุด อวตารของเมดูซาปรากฏในรูปของการแสดง “สีดาลุยไฟ” ในไทยของกลุ่มเฟมทวิตแดนซ์ กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่เชิญชวนให้ผู้หญิงทุกคนออกมาเรียกร้องให้ผู้ชายเข้าใจสิทธิของความเท่าเทียมทางเพศโดยเนื้อหาของเพลงดังกล่าวเรียบเรียงมาจากเพลงที่มีชื่อว่า Un violador en tu camino หรือ A Rapist in Your Path ซึ่งถูกแต่งขึ้นและร้องในการประท้วงเพื่อความยุติธรรมทางเพศและชนชั้นในชิลี โดยกลุ่ม Las Tesis

อวตารของเมดูซาจึงเป็นเสมือนหนึ่งปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนปิตาธิปไตยและอำนาจชายเป็นใหญ่ จากอาการพิการทางการได้ยิน และแน่นอนว่าปีศาจตัวนี้กำเนิดขึ้นและดำรงอยู่เพราะมันคือภาพสะท้อนของปิตาธิปไตยนั่นเอง

*บทความโดย กุลลินี มุทธากลิน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นรชิต จิรสัทธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น