อนาคต'การคมนาคม'ในประเทศไทย กับโอกาสการปฏิรูปด้านคมนาคมสัญจร

อนาคต'การคมนาคม'ในประเทศไทย กับโอกาสการปฏิรูปด้านคมนาคมสัญจร

 เป็นเวลากว่าหลายทศวรรษมาแล้ว ที่ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในฐานะ ศูนย์กลางการคมนาคมและการเชื่อมต่อทั้งในและนอกประเทศในภูมิภาคเอเชีย

*บทความโดย ปนันท์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด  

160872291951

 ดังจะเห็นได้จากการพัฒนาโครงข่ายการเชื่อมต่อเขตเมืองและชานเมืองในประเทศ และการเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ข้อพิจารณาเกี่ยวกับการคมนาคม จะกลายเป็นเรื่องสำคัญในหัวข้ออภิปรายที่เกี่ยวข้องกับแนวทางและการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

 ในขณะที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบอย่างมากมาย และยังไม่สามารถระบุความรุนแรงของผลกระทบที่มีต่อการคมนาคมในทวีปเอเชียได้ แต่อย่างไรก็ดี การพิจารณาวางแผนด้านการคมนาคมสำหรับประเทศไทยในอนาคตก็ยังเป็นไปได้

 ความตั้งใจของประเทศไทยที่มีต่อโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ และอุตสาหกรรมการผลิตยานพาหนะที่กำลังเติบโตขึ้น ได้เปิดโอกาสและเอื้อต่อการปฏิรูปด้านการคมนาคมครั้งใหญ่ ความตั้งใจอันแน่วแน่ของประเทศไทยที่จะก้าวผ่าน “กับดักรายได้ปานกลาง” ซึ่งส่งผลต่อการลงทุน การเติบโต และความหลากหลายของอุตสาหกรรม มีแนวโน้มที่จะนำมาซึ่งการพัฒนาในระดับท้องถิ่นอย่างรวดเร็ว

 อย่างไรก็ดี การพัฒนาเหล่านี้จะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด และระบบนิเวศของการคมนาคมที่ได้พัฒนาขึ้นเพื่ออนาคตนี้จะมีประสิทธิภาพเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องจากทั้งผู้กำหนดนโยบายภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และผู้บริโภค ที่จะร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเชื้อเพลิง รวมไปถึงการวิจัยและการพัฒนา

 หนึ่งในตัวอย่างของความมุ่งมั่นเพื่อการพัฒนาด้านคมนาคมของรัฐบาลที่เห็นได้ชัดคือ โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นการพัฒนา 3 จังหวัดในภาคตะวันออกรอบบริเวณอ่าวไทย ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อก้าวสู่การเป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน รวมถึงเป็นศูนย์กลางการผลิตและการบริการด้านเทคโนโลยี โครงการดังกล่าวนี้ จะเป็นการพัฒนาการเชื่อมต่อการคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศในระดับภูมิภาคอย่างจริงจัง

 และเพื่อตอบรับกับความกังวลของผู้บริโภคและภาครัฐเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศอันเกิดจากปัญหาความแออัดในพื้นที่ต่างๆ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยระบุว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2558 ถึงปี พ.ศ. 2562[i] มีบริษัทจำนวนมากกว่า 81% ได้ก้าวเข้าสู่ระบบนิเวศด้านยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย นอกจากนี้ ทางสมาคมยังมีการสนับสนุนด้วยแรงจูงใจทั้งในด้านภาษีและด้านอื่นๆ สำหรับผู้ผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยระหว่าง ปี พ.ศ. 2563 – 2565[ii] ด้วยเช่นกัน

 นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจของประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยการส่งออกนั้นนับเป็นสิ่งดีที่ช่วยเอื้อโอกาสในการพัฒนาการขนส่งสินค้าด้วยระบบไฟฟ้า รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมในชนบทด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและภาคการส่งออกที่มีความยั่งยืนต่อไป

 หากประเทศไทยประสบความสำเร็จในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งระดับภูมิภาค โครงข่ายการคมนาคมของเราก็จะได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน  

การลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานนั้นได้กลายเป็นนโยบายอันดับต้นๆ ของประเทศ โดย 70% ของงบการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2558 – 2565 ที่มีมูลค่ากว่า 75,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการลงทุนเพื่อการพัฒนาด้านการคมนาคมขนส่ง โดยเน้นไปที่การปรับปรุงรางรถไฟเพื่อลดการขนส่งทางถนน ซึ่งในปัจจุบันเราใช้ทางถนนซึ่งเป็นเส้นทางการเดินทางหลักของผู้โดยสาร[iii] เพื่อการขนส่งสินค้าถึง 85%

 สำหรับในประเทศไทย แม้ว่าที่ผ่านมาผู้คนจะเดินทางด้วยยานพาหนะสองล้อเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันเรามีทางเลือกเพื่อการคมนาคมที่เพิ่มขึ้นมากมาย เช่น รถไฟความเร็วสูง บริการเรียกรถตามความสะดวก นอกจากนี้ ยังมีการใช้รถยนต์ส่วนตัวในปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ระบบขนส่งมวลชนก็มีการขยายตัว รวมถึงยังมีโครงการที่จะก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งที่สามในกรุงเทพฯ อีกด้วย

 เทคโนโลยีดิจิทัลที่ใช้กันอย่างแพร่หลายยังช่วยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้กับผู้บริโภคในประเทศไทย เชลล์ได้ทำงานร่วมกับ Haupcar ซึ่งเป็นบริษัทเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันในการจัดหาที่จอดรถในสถานีบริการน้ำมันเชลล์ เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง เติมน้ำมันและบริการทำความสะอาด และเรายังมีแผนที่จะเพิ่มบริการจุดชาร์จรถไฟฟ้าในอนาคตอีกด้วย

 เมื่อปี พ.ศ. 2557 ซึ่งได้มีการริเริ่มวิสัยทัศน์ One Transport for All เพื่อเชื่อมต่อระบบการคมนาคม ทั้งระบบขนส่งทางบกและทางน้ำที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ผู้คนสามารถเดินทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้าในเมืองและรถบัสสาธารณะได้อย่างสะดวกสบาย บริษัทในประเทศได้เริ่มลงทุนเพื่อการพัฒนายานยนต์และเรือพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดมลพิษและลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมไปถึงการทดลองรถยนต์ไร้คนขับเพื่อเดินทางจากบ้านไปยังสถานีเชื่อมต่อการเดินทางใกล้เคียง[iv]

 

ภายในปี พ.ศ. 2573 ประเทศไทยได้ตั้งเป้าที่จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อย 750,000 คันต่อปี หรือประมาณ 30% ของกำลังการผลิตรถยนต์ทั้งหมด นอกจากนี้ รัฐบาลยังประกาศแผนที่จะผลักดันให้ไทยเป็นฐานแห่งยานยนต์ไฟฟ้าของประชาคมอาเซียนภายในปี พ.ศ. 2568 และไทยกำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำแผนเพื่อเพิ่มสถานีบริการสำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ[v]

 ถึงแม้ว่าแนวโน้มการคมนาคมและการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในภาคธุรกิจสู่ผู้บริโภคจะเป็นไปอย่างรวดเร็วเนื่องจากจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น แต่แนวโน้มการปรับใช้ในภาคธุรกิจสู่ธุรกิจอาจเป็นไปได้ช้ากว่า เนื่องจากรถบรรทุกต้องการแบตเตอรี่ขนาดที่แตกต่างกันออกไปเพื่อให้สามารถเก็บไฟได้เพียงพอต่อการใช้งานวิ่งรถบรรทุกทางไกล อย่างไรก็ดี แผนยุทธศาสตร์ 20 ปีเพื่อการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 จะมุ่งเน้นเพื่อการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว

มีการคาดการณ์กันว่า ภายในปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยจะมีมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจำนวน 53,000คัน และรถประจำทางไฟฟ้าจำนวน 5,000 คันภายใน 5 ปี และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว หน่วยงานรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจได้เริ่มมีการนำยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้ รวมไปถึงรถประจำทางไฟฟ้าและรถมอเตอร์ไซค์แท็กซี่ไฟฟ้า[vi]

 การพัฒนาการคมนาคมสัญจรสำคัญๆ ยังรวมไปถึงการเพิ่มข้อกำหนดในเรื่องเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับน้ำมันเบนซิน อี20 (E20) และเชื้อเพลิงดีเซล บี10 และบี 20 (B10, B20)[vii] ความต้องการใช้น้ำมันเกรดพรีเมียมที่มีการปล่อยมลพิษต่ำเพื่อคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น การมองหาทางเลือกรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ เช่น เซลล์เชื้อเพลิงไบโอเอทานอล และการพัฒนาระบบการกำหนดราคาคาร์บอนจากรัฐบาล

 ขณะนี้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพรายใหญ่ และเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อการผลิตเอทานอลเป็นอย่างมาก ไทยจึงมีโอกาสในการเติบโตด้านเชื้อเพลิงชีวภาพมากเช่นกัน อย่างไรก็ดี ไทยควรมองหาโอกาสเพื่อการสนับสนุนพลังงานทางเลือก เช่น ไฟฟ้าและไฮโดรเจน ซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

 ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2562 กระทรวงพลังงานได้ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าเสรีระดับโลกของก๊าซธรรมชาติเหลว เพื่อกระตุ้นให้เกิดการนำก๊าซมาเป็นพลังงานให้มากขึ้นในระดับภูมิภาค ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยควรให้การสนับสนุนแหล่งพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน รวมไปถึงการประเมินศักยภาพในการนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นแหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำ ทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ ควบคู่ไปด้วยเช่นกัน

 ข้อมูลและรายละเอียดการวิเคราะห์เพิ่มเติมด้านโอกาสและความท้าทายเกี่ยวกับการเดินทางสัญจรและการคมนาคมของประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเซียนฉบับเต็ม จะอยู่ในรายงานฉบับล่าสุดของเชลล์ เรื่อง“เมืองแห่งการสัญจร: ขับเคลื่อนการปฏิวัติการคมนาคมในภูมิภาคเอเชีย”

 รายงานดังกล่าวเป็นรายงานฉบับแรกของเชลล์ ที่สรุปเทรนด์หลักด้านการคมนาคมของ 5 ประเทศในทวีปเอเชีย ได้แก่ ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินเดีย และจีน รายงานนี้เกิดขึ้นจากการรวบรวมข้อมูล และบทวิเคราะห์ต่างๆ เพื่อการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อกำหนดด้านการคมนาคมในภูมิภาค รวมไปถึง การศึกษาถึงความสำเร็จซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐบาล ภาคอุตสาหกรรม และสังคม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาด้านการคมนาคมสัญจร ที่จะช่วยส่งมอบบริการที่มีคุณค่าให้แก่ผู้คนและช่วยตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคต่อไป

 เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า การตอบโจทย์ความท้าทายด้านการคมนาคมสัญจรของไทยนั้นมีหลากหลายแนวทาง และเมื่อผู้คนเริ่มตระหนักให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนและการลดการปล่อยคาร์บอนมากขึ้น ประเทศก็ต้องการการพัฒนาด้านการคมนาคมสัญจรเพื่อตอบรับกับความต้องการของประเทศ ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงเรื่องระบบนิเวศของเชื้อเพลิง และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันเชื้อเพลิงต่างๆ  อย่างไรก็ดี ไม่ว่าเราจะมีโซลูชั่นเพื่อตอบรับกับความท้าทายเหล่านี้อย่างไร สิ่งสำคัญสำหรับทุกโซลูชั่นคือ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งจากรัฐบาล อุตสาหกรรม และผู้บริโภค ที่จะร่วมกันมองหาแนวทางในการรับมือตอบรับกับเทรนด์ ด้านพลังงาน และไม่มีหน่วยงานใดหรือใครเลยที่สามารถดำเนินการนี้ให้สำเร็จได้เพียงลำพัง

และประเทศไทยของเรา พร้อมแล้วหรือยัง?.

  • ท่านสามารถติดตามรายงาน “เมืองแห่งการสัญจร: ขับเคลื่อนการปฏิวัติการคมนาคม ในภูมิภาคเอเชีย” ได้ที่ wwshell.com/mobilityinasia

 [i] สตาฟ, บ. (2563), ไทยนำอาเซียนในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

[ii] โดยรวมถึงภาษีเงินได้ของบริษัทและการยกเว้นอากรขาเข้า ใบอนุญาตให้นำเข้าแรงงานที่มีทักษะมาทำงาน และการอนุญาตให้เป็นเจ้าของที่ดินได้, อินดัสทรีย์ ทูเดย์ (2563), อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทย - ความต้องการในอาเซียนเพิ่มขึ้น

[iii] ฟิช โซลูขั่นส์ (2563), บทวิเคราะห์เครือข่ายการคมนาคมของประเทศไทย (รายงาน หน้า 1-11) ฟิช โซลูชั่นส์ ผลวิจัยความเสี่ยงของประเทศและ           อุตสาหกรรม

[iv] ธารทอง-ไนท์, ร. และยุเวศวัฒนา, ส. (2563), กรุงเทพฯจะเคลียร์ท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยมลพิษด้วยโครงการรถไฟ

[v] Ihsmarkit.com (2563), รัฐบาลไทยประกาศแผนงานยานยนต์ไฟฟ้า

[vi] บางกอกโพสต์ (2563), ไทยจะเป็น ‘ฐานของยานยนต์ไฟฟ้า’ ภายใน 5 ปี

[vii] Iberglobal.com (2559), พลังงานชีวมวลในประเทศไทย, อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.iberglobal.com/files/2017/tailandia_bioenergia.pdf