เหลียวมองพี่หม่อง จับจ้องอาม่า

เหลียวมองพี่หม่อง จับจ้องอาม่า

หมอเตือนว่าโควิด-19จากพี่หม่อง เป็นคนละสายพันธ์ุกับอู่ฮั่น และแพร่เชื้อเร็วด้วย ตรงนี้เราต้องใส่ใจนะครับ

 

แต่วันนี้เราไม่คุยเรื่องโควิด จะคุยเรื่องเศรษฐกิจ ของพี่หม่องกับอาม่าครับ

สมัยผมเป็นเด็ก เรามีนักกีฬายกน้ำหนักที่มีชื่อเสียง ชัยยะ สุขจินดา ซึ่งถึงฤดูกาลแข่งขันทีไร หนังสือพิมพ์จะพูดถึง “ไอ้พลังปลาทู” เพราะชัยยะฐานะไม่ดี

อาหารที่กิน เพื่อเอาพละกำลังไปยกน้ำหนัก สู้กับคู่แข่งขันจากประเทศอื่น มีเพียง ปลาทูเป็นหลัก

สมัยนั้นปลาทู ตัวละ 50 สตางค์ น่าอนาถใจ ที่เราปล่อยให้นักกีฬาระดับชาติคนหนึ่ง ต้องใช้ชีวิตลำบากเช่นนั้น แต่่ก็พอเข้าใจแหละครับ เพราะประเทศเรายากจน กระเสือกกระสนพัฒนาเศรษฐกิจกันอยู่

กีฬาที่ได้รับความนิยมมาก ประเภทบุคคลหนีไม่พ้นมวย มีตำนานคือ โผน กิ่งเพชร แชมป์โลกคนแรกของไทย ถ้าเป็น ประเภททีม เป็นอื่นใดไม่ได้เลยครับ ต้องฟุตบอลอยู่แล้ว

ประเทศเพื่อนบ้านที่เป็น คู่แข่งฟุตบอลฝีมือดี ที่เราจับตามากที่สุดก็คือ พม่า วันไหนไทยแข่งกับพี่หม่อง วันนั้นฮือฮากันทั้งประเทศ วันไหนพี่ไทยเอาชนะพี่หม่องได้ ฉลองกันทั้งประเทศ

เรียกว่า เป็น “เกณฑ์วัด” สำหรับเราก็ได้ครับ แต่หลังจากนั้น ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้น รวมทั้งการปิดประเทศ ก็ทำให้พม่าเริ่มตามไม่ทันโลก และไม่ทันไทยเราด้วย

หลายทศวรรษผ่านไป ไทยเปิดประเทศและพัฒนาเศรษฐกิจ ไปไกลกว่าพม่า ผลพวงที่ชัดเจนอย่างหนึ่ง ก็คือความกินดีอยู่ดีของประชากร และ เศรษฐกิจที่ดีขึ้น ยังมีผลให้ ความสามารถทางกีฬาของไทย ดีขึ้นอีกหลายประเภทด้วย

เอาเถอะ กีฬาบางอย่าง คงเป็นกรณีพิเศษ เพราะแม้ประเทศจะยากจน แต่ก็หาคนเอาชนะพวกเขายาก เช่นนักวิ่งมาราธอนจากเคนยา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเป็น “ส่วนเสริม” ที่สำคัญ เพราะเมื่อเศรษฐกิจดี สนามกีฬาก็ได้มาตรฐาน อุปกรณ์ฝึกซ้อมทันสมัย นักกีฬาตัวสูงใหญ่ขึ้น สามารถจ้างโค้ชเก่งๆจากนานาชาติ และใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาได้มากขึ้น เป็นต้น  

วันนี้ เหลียวมองพี่หม่อง ยังค่อนข้างเงียบเหงาในกีฬาระดับโลก ส่วนไทยเรา ก็พอจะเชิดหน้าชูตา ได้บ้าง ในบางประเภท เช่น นักมวย นักยกน้ำหนัก และนักเทควันโด สามารถคว้าเหรียญทอง เงิน และ ทองแดงโอลิมปิค มาได้บ่อยเหมือนกัน

พม่าอาจปรับตัวช้าหรือผิดทิศทางไปบ้าง ทำให้ 50 ปีที่ผ่านไป ประชาชนยากจนมีจำนวนมากพอสมควร ชาวพม่าหลายล้านคน ต้องข้ามมาทำมาหากิน บนแผ่นดินไทย

นับตั้งแต่อาชีพแม่บ้าน กรรมกร ช่างก่อสร้าง เด็กเสริฟอาหาร ลูกเรือประมง ฯลฯ และเราก็ต้องพึ่งพาแรงงานจากพวกเขา ถ้าหากเขากลับบ้านเมื่อใด คงเกิดผลกระทบและต้องปรับตัวมากเหมือนกัน

บางคน มองเชิงกรรมเก่าและสาธยายว่า หลายร้อยปีมาแล้ว กองทัพพม่าได้เข้ามาเผาบ้านเมืองเรา เผาวัดวาอาราม เผากระทั่งพระพุทธรูป วันนี้ลูกหลานพม่าเลยต้องมาชดใช้ ในสิ่งที่บรรพบุรุษได้ก่อไว้...ก็ว่ากันไปครับ

ใครจะเชื่อหรือจะคิดอย่างไร เป็นสิทธิของแต่ละบุคคล แต่ที่แน่ๆก็คือ ไม่ว่าจะวัดด้วยดัชนีเศรษฐกิจแบบใด ช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เราก็ทิ้งพี่หม่องไปไกลทีเดียวในทางเศรษฐกิจ เพียงแต่อย่าประมาท เพราะถ้าเรายังทะเลาะกันแบบนี้ไปเรื่อยๆ อะไรๆก็เกิดขึ้นได้

กระต่ายหยุดเดิน งีบนอนเมื่อใด เต่าก็ตามทัน จำได้ไหม

เราอย่าแค่ เหลียวมอง พี่หม่อง แต่ต้อง จับจ้อง อาม่า ด้วย เพราะเมื่อ 50 ปีมาแล้ว อาม่า อากง ที่อยู่เมืองไทย ต้องหาโอกาสกลับจีน เพื่อไปเยือนญาติๆ ที่อยู่กับความยากจน แบบไม่มีอะไรจะกินจะใช้

ไปแต่ละครั้ง ต้องขนเสื้อผ้าเก่าๆ อาหารแห้ง และของใช้ต่างๆใส่กล่องไปด้วย เมืองจีนแทบจะไม่มีอะไร เอาอะไรไปฝาก ญาติๆก็ดีใจกันทั้งนั้น ส่วนคนที่ไม่มีโอกาสกลับไปเยือน ก็โอน เงินโพยก๊วน ไปให้...ทำกันอย่างนี้

วันนั้น อาม่าอากง ที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ ต้องพึ่งพาอาม่าอากง ที่อพยพไปอยู่บนแผ่นดินไทย... ว่างั้นเถอะ!

แล้ววันนี้เป็นไงครับ 50 ปีผ่านไป ระยะเวลาเดียวกับที่ไทย ไปได้ไกลกว่าพม่านั่นแหละ

วันนี้จีนกับไทย ก็ต่างกันไกล คนจีนร่ำรวยขึ้น คนจนเริ่มจะหมดไป จีนเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจมีขนาดใหญ่กว่าญี่ปุ่น และอเมริกาก็กังวลต่อพลังเศรษฐกิจของจีนอย่างมาก ฯลฯ

คนจีนอยู่เมืองจีนบอกว่า อยู่ดีๆตึกสูงก็โผล่ขึ้นมาโดยไม่ทันสังเกต เผลอเดี๋ยวเดียวรถไฟความเร็วสูงก็แล่นผ่าน ฯลฯ ทุกอย่างพัฒนารวดเร็วมาก

50 ปี ผ่านไป ในช่วงชีวิตของคนๆเดียวเท่านั้น จีนมาไกลขนาดนี้ ในขณะที่พี่หม่องยังค่อนข้างลำบาก แต่ อาม่า อากง สบายขึ้นมาก มีรถไฟความเร็วสูง จะไปไหนก็ไม่ต้องพกเงินสด ใช้คิวอาร์กันทั้งประเทศ ฯลฯ

ไทยเรา แม้จะมาไกลกว่าพม่าใน 50 ปี แต่วันนี้ เราล้าหลังจีน บทเรียนนี้ บอกเราว่า การบริหารประเทศให้ถูกทิศถูกทางนั้น สำคัญจริงๆ ผู้นำ และคณะรัฐบาล รวมทั้งข้าราชการจะต้องดี ตรงนี้ จะว่าไปก็เป็น “จุดเปราะของไทย”

เพราะเรา “สะดุด” นับครั้งไม่ถ้วน ประท้วงใหญ่นับครั้งไม่ถ้วน ปฎิวัติและเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ก็นับไม่ถ้วน (ถ้าจะนับกันจริงๆ ก็คงพอจะนับครั้งถ้วนเหมือนกันนะครับ... 555)

วันนี้ เราสะดุดอีกแล้ว ผมจึงอยากจะชวนคุณผู้อ่าน ให้เหลียวมองพี่หม่อง และจับจ้อง อาม่า และ มองไปข้างหน้า อีก 50 ปี ว่า เมื่อถึงวันนั้น ผู้ใหญ่วันนี้ ก็ไม่อยู่กันแล้ว คงเหลือเด็กวันนี้นี่แหละ ที่จะยังอยู่

ฝากให้ดูแลบ้านเมืองกันดีๆนะครับ อีก 50 ปี ผมก็ไม่มีตัวตนแล้ว หนุ่มสาวที่กำลังเรียกร้องอะไรต่างๆอยู่ในเวลานี้ เมื่อถึงวันนั้นก็อายุ 70 กว่า และถึงเวลาจะต้องส่งมอบบ้านเมือง ให้คนรุ่นถัดไป อีกรุ่นหนึ่งเหมือนกัน

ไม่รู้ว่าน้องๆรุ่นนี้ จะส่งบ้านเมืองนี้ให้แก่คนรุ่นต่อไป ในสภาพเช่นใด

ผมอยากกลับมาดูจังเลย