ยุคแห่ง Cross-sector Ecosystem

ยุคแห่ง Cross-sector Ecosystem

Business Ecosystem  อาจจะไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับธุรกิจยุคที่เทคโนโลยีเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสินค้าและบริการให้เข้าถึงผู้ใช้งานแบบรอยไร้ต่อ

            ธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่เติบโตขึ้นมาอยู่แถวหน้าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Amazon, Google, Grab, Netflix ล้วนเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จด้วยการสร้าง Business Ecosystem ระบบนิเวศที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงและร่วมมือของพาร์ทเนอร์ธุรกิจในด้านต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง โดยที่องค์กรเองไม่จำเป็นทุ่มทรัพยากรทั้งหมดไปกับการสร้างทุกอย่างด้วยตัวเอง

             ผลลัพธ์ของการสร้าง Business Ecosystem ที่แข็งแรงคือการเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าและการแข่งขันภายใต้สภาวะของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ธุรกิจกลุ่มที่เป็น E-commerce และ กลุ่มที่เป็น Super App ล้วนแต่ใช้ Ecosystem Business Model เป็นกลยุทธในการขยายธุรกิจเพื่อทำให้สามารถเติบโตได้แบบก้าวกระโดดทั้งในด้านการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ และทำให้เข้าถึงฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

           แต่ในยุคนี้การสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจด้วยการจับมือกันระหว่างพันธมิตรในอุตสาหกรรมเดียวกัน ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตได้ทันกับกระแสโลก และนี่คือเหตุผลที่องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ต่างขยับตัวที่จะสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจใหม่แบบ Cross-sector Ecosystem เพื่อทลายกรอบ เดิมที่มีและผลักดันการสร้างฐานธุรกิจใหม่ ในรูปแบบของการเป็นพันธมิตรกับพาร์ทเนอร์ที่อยู่นอกระบบนิเวศเดิมที่เคยเป็นมา

           ตัวอย่างเช่น Tesla จับมือกับบริษัทประกันชั้นนำอย่าง State National เพื่อออกกรมธรรม์ประกันภัยแบบ Data-drivenให้กับผู้ใช้รถ Tesla และล่าสุดประกาศจะเข้าสู่ธุรกิจประกันภัยรถยนต์แบบเต็มตัว บริษัทโลจิสติคส์ชั้นนำอย่าง UPS ร่วมมือกับ  SAP ในการพัฒนา On-demand 3D Printing และกำลังจะเดินหน้าเข้าสู่การให้บริการ “Digital Manufacturing Services” ให้กับภาคอุตสาหกรรมเพื่อพลิกโฉมการให้บริการจัดส่งสินค้า ส่วนธุรกิจสายการบิน Air Asia จับมือกับแบงก์มาเลเซียเพื่อเข้าสู่ธุรกิจ Digital Wallet 

            ฝั่งธุรกิจการเงินและประกัน ยักษ์ใหญ่อย่าง Ping An ก็กำลังเร่งสร้าง Healthcare Ecosystem โดยร่วมมือกับธุรกิจ Healthcare ขนาดใหญ่ทั่วเอเชีย เพื่อในที่สุดจะก้าวสู่การเป็นผู้นำด้าน Financial Services บนแพลตฟอร์มของธุรกิจ Healthcare อย่างเต็มตัว  ข้อมูลจากการสำรวจของบริษัทวิจัยชั้นนำ Deloitte ประเมินว่า ภายในปี 2025 ธุรกิจ Financial Services ทั่วโลก จะมีรายได้กว่า 30% มาจากโมเดลธุรกิจ ที่เกิดจากการร่วมมือเป็นพันธมิตรกับธุรกิจนอกอุตสาหกรรม

             การขับเคลื่อนนวัตกรรมและการสร้าง “New Growth” ผ่านโมเดลธุรกิจใหม่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือกับพันธมิตรนอกอุตสาหกรรมเดิม ไม่ได้เป็นเพียงแค่ ทางเลือกแต่กำลังเป็น ทางรอดของอีกหลายๆธุรกิจที่กำลังเดินเข้าสู่ทางตัน การบ้านชิ้นสำคัญที่ผู้นำองค์กรต้องรีบทำก็คือ จะ “ออกแบบระบบนิเวศอย่างไรที่ทำให้เกิดความร่วมมือแบบ win-win ผลการสำรวจของ BCG Henderson ระบุว่า 85% ของการสร้างระบบนิเวศและการจับมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจประสบกับความล้มเหลวเพราะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเลือกพันธมิตรที่จะเดินร่วมทางและขาดจุดร่วมที่ลงตัวในเรื่องของผลประโยชน์

        เพราะการเลือกพันธมิตรทางธุรกิจก็ไม่ต่างจากการติดกระดุมเม็ดแรก ถ้ารู้ตัวว่าติดกระดุมผิดตั้งแต่ต้น การฝืนเดินต่ออาจเสียหายมากกว่าการย้อนกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ !

------------------------------------------------------------------

*ต้องหทัย กุวานนท์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเอมสไปร์ Startup Mentor บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจและการบริหารผลลัพท์ด้วยการโค้ช