Why We Age and Why We Don’t Have To (ตอน 1/3)

Why We Age and Why We Don’t Have To (ตอน 1/3)

ในช่วงนี้ ดร.ศุภวุฒิ ขอพักเรื่องเศรษฐกิจเอาไว้ก่อน และจะเปลี่ยนมานำเสนอเรื่องสุขภาพระดับเซลล์เชื่อมโยงถึงการชะลอหรือเยียวยาฟื้นฟูเซลล์ชรา

ในเดือนธันวาคมนี้ผมจะขอพักเรื่องเศรษฐกิจเอาไว้ก่อน เพื่อรอให้ว่าที่ประธานาธิบดีไบเดนนำเสนอชื่อครม.ให้ครบถ้วนและให้เห็นการอนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกัน COVID-19 สัก 2-3 ตำรับจึงจะกลับมาเขียนถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจในปี 2021 ซึ่งข้อสรุปเบื้องต้นคือเศรษฐกิจจะยังขยายตัวอย่างกระท่อนกระแท่นหรืออาจชะลอลงอย่างมากในไตรมาส 1 แล้วจึงจะฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนขึ้นในครึ่งหลังของปี 2021  หากสามารถฉีดวัคซีนให้ประชากรโลกได้อย่างทั่วถึง (ประมาณ 75-85% ของประชากรทั้งหมด) ภายในปลายปีหน้า

            แต่ในเดือนธันวาคมนี้จะขอเขียนถึงเรื่องที่เป็นหัวข้อซึ่งมีความสำคัญต่อผู้สูงวัยเช่นผม ซึ่งหยิบยืมชื่อหนังสือของดร. David Sinclair ที่ได้ตีพิมพ์จำหน่ายแล้วตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมาคือ “Lifespan: Why We Age and Why We Don’t Have To” ในหนังสือเล่มนี้ดร. Sinclair ประเมินว่าปัจจุบันเทคโนโลยีในระดับเซลล์นั้นวิวัฒนาการไปถึงระดับที่มนุษย์ใกล้จะสามารถควบคุมการแก่ตัว (หรือไม่ให้แก่ตัว) ของเซลล์ได้แล้วในการทำการทดลองกับสัตว์และกำลังเข้าสู่การทำการทดลองกับมนุษย์ในช่วงอีกไม่นานข้างหน้านี้ และในบางกรณีก็ได้มีการค้นพบโดยบังเอิญแล้วว่าการหมุนเวลากลับทำให้มนุษย์อายุลดลงนั้นได้บังเกิดขึ้นแล้วดังที่ผมได้เคยเขียนถึงเมื่อต้นปีนี้จากงานวิจัยของดร. Gregory Fahy (“กินยา 3 ชนิดเป็นเวลา 1 ปีอายุลดลง 2.5 ปี” วันที่ 27 มกราคม 2563)

            นอกจากนั้นในตอนที่แล้วผมได้เขียนถึงความสำเร็จที่ดีเกินคาดของการพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 โดยบริษัท Pfizer (กับ BioNTech) และบริษัท Moderna ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่คือ messenger RNA (หรือ mRNA) ซึ่งการนำเอา RNA ของโคโรน่าไวรัสไปสอดใส่เข้าไปในร่างกายของมนุษย์ให้สร้างโปรตีนปลายแหลม (spike protein) ของโคโรน่าไวรัสเพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันของตัวเราเองสามารถกำจัดโคโรน่าไวรัสได้นั้น ถือได้ว่าเป็นพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่สำคัญมากเพราะเปรียบเทียบได้ว่า ณ วันนี้มนุษย์เราค้นพบวิธีการเพื่อสั่งการให้ร่างกายของเราผลิตโปรตีนอะไรก็ได้ตามใจชอบแล้ว

            ดังนั้น ในหลักการมนุษย์จะสามารถฉีด mRNA เข้าไปในร่างกายเพื่อผลิตโปรตีนให้ร่างกายนำไปใช้รักษาโรคต่างๆ ได้ทุกโรค เช่น ก่อนหน้าที่ COVID-19 จะระบาดนั้น บริษัท Moderna ได้พยายามใช้ mRNA สั่งการให้เซลล์สร้างโปรตีน vascular endothelial factor ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดหัวใจวายและต่อมาก็กำลังพัฒนา mRNA เพื่อสั่งการให้เซลล์ที่เป็นมะเร็งทำลายตัวเอง เป็นต้น หมายความว่าเทคโนโลยี mRNA นั้นทำให้ร่างกายของตัวเรากลายเป็นโรงงานผลิตยาของตัวเองเพื่อรักษาโรคต่างๆ ได้ (จึงไม่แปลกใจว่าราคาหุ้นของ Moderna ปรับเพิ่มขึ้นจากต้นปีที่ประมาณ 20 เหรียญมาเป็น 120 เหรียญในขณะนี้)

            แต่ที่ผมอยากเขียนเล่าให้ท่านผู้อ่านได้รับรู้ร่วมกันคือ ทฤษฎีล่าสุดเกี่ยวกับการแก่ตัวของร่างกายของเราในระดับเซลล์ว่ามีลักษณะที่สำคัญอะไรบ้าง ซึ่งเรามักจะเข้าใจว่าการแก่ตัวของร่างกายนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ กล่าวคือเมื่อเวลาผ่านไปร่างกายก็จะต้องเสื่อมถอยลงเป็นธรรมดาเมื่อมีการใช้งานมาเป็นเวลานานหลายสิบปีและหลายคนก็จะนึกถึงการที่ร่างกายต้องเผชิญกับอนุมูลอิสระ (free radicals) ที่เกิดทั้งจากปัจจัยภายนอก (เช่น อาหารและอากาศเป็นพิษ) และที่เกิดจากภายในซึ่งล้วนแล้วแต่จะส่งผลในการบั่นทอนร่างกาย

 ดังนั้น จึงต้องกินอาหารที่มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ (anti-oxidant) ทำให้อาหารที่โฆษณาว่ามีคุณประโยชน์ดังกล่าวเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ทั้งๆ ที่งานวิจัยเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาพบว่าสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดที่ขายเป็นอาหารเสริมนั้นไม่สามารถช่วยให้สุขภาพดีขึ้นหรืออายุยืนขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้น จึงควรเลือกกินผักและผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ไม่จำเป็นต้องกินอาหารเสริมประเภทดังกล่าว

            แนวคิดเกี่ยวกับการแก่ตัวของเซลล์นั้นได้พัฒนาไปไกลกว่าความเชื่อว่าร่างกายต้องเสื่อมถอยโดยธรรมชาติและ/หรือเกิดจากอนุมูลอิสระ ซึ่งท่านผู้อ่านที่สนใจจะอ่านบทความที่รวบรวมแนวคิดล่าสุดเกี่ยวกับลักษณะของการแก่ตัว (ของเซลล์) นั้นสามารถอ่านได้จากวารสาร Cell เรื่อง “The Hall Marks of Aging” ที่ตีพิมพ์เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2013 ซึ่งผมได้พยายามอ่านและทำความเข้าใจอยู่เป็นเวลาหลายปีอยู่เพราะอ่านยากและยาวมาก

            บทความดังกล่าวได้กล่าวถึงการแก่ตัวว่าเป็นการสูญเสียดุลทางสรีระของร่างกาย (loss of physiological integrity) ซึ่งนำไปสู่การทำหน้าที่ที่บกพร่องของร่างกาย (impaired function) และการเพิ่มความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเป็นโรคต่างๆ ที่ทำให้เสียชีวิตในที่สุดเช่นการเป็นโรคมะเร็ง เบาหวาน หัวใจและสมอง เป็นต้น ทั้งนี้ได้แบ่งลักษณะของการแก่ตัวของร่างกายออกเป็น 9 ลักษณะคือ

  1. Genomic Instability
  2. Telomere Attrition
  3. Epigenetic Alteration
  4. Loss of Proteostasis
  5. Deregulated Nutrient Sensing
  6. Mitochondrial Disfunction
  7. Cellular Senescence
  8. Stem cell Exhaustion
  9. Altered Inter-cellular Communication

ในตอนต่อไปอีก 3 ตอนข้างหน้าผมจะพยายามอธิบายถึงความสำคัญของแต่ละลักษณะให้เข้าใจร่วมกันและความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อดูแลทั้ง 9 ลักษณะดังกล่าวเพื่อเป็นการตอบโจทย์ในการทำให้มนุษย์ไม่จำเป็นจะต้องแก่ตัวลงครับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง