อนาคตชีวิตการอยู่อาศัยเมืองในประเทศไทย (1)

อนาคตชีวิตการอยู่อาศัยเมืองในประเทศไทย (1)

มหานครกรุงเทพในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือการพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุด/หรือคอนโดมิเนียมในสัดส่วนที่สูงขึ้น

การพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียม ได้เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับในอดีต รูปแบบการอยู่อาศัยที่เปลี่ยนจากแนวราบเป็นแนวตั้งนับเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่เพิ่งเกิดขึ้นกับคนเมืองในประเทศไทย และจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดวิถีชีวิตของคนเมืองทุกกลุ่มทุกวัยและกำหนดวิธีการพัฒนาเมืองต่อไปในอนาคต

       การศึกษาอนาคตเมือง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่มอบหมายให้แผนงานคนไทย 4.0 กวาดสัญญาณ (scanning) เพื่อหาปัจจัยและแนวโน้มสำคัญที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่ออนาคตการอยู่อาศัยแนวตั้งในมหานคร พบว่า ครอบครัวเดี่ยวน้อยลง ครอบครัวขยายมากขึ้น อยู่คนเดียวมากขึ้น ประชากรสูงวัยมีสัดส่วนสูงขึ้น และจำนวนชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น

             ด้านเทคโนโลยี พบว่า ระบบก่อสร้างด้วยชิ้นส่วนสำเร็จรูปและการใช้เครื่องพิมพ์สามมิติจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น การก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะมีความสำคัญมากขึ้น อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) จะมีบทบาทมากขึ้น และดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการแบ่งปันจะเป็นที่นิยมขึ้น ด้านเศรษฐกิจ พบว่า โลกาภิวัตน์ของอสังหาริมทรัพย์และราคาที่ดินจะสูงขึ้น เศรษฐกิจท่องเที่ยวจะเติบโตขึ้น ฐานรายได้ของคนที่อาศัยในคอนโดจะเปลี่ยน ความเหลื่อมล้ำในที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น และการแข่งขันของบริษัทอสังหาฯ จะสูงขึ้น ด้านสิ่งแวดล้อมพบปัจจัยสำคัญคือ ภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทิศทางการเพิ่มความหนาแน่นในการพัฒนาเมืองเริ่มเปลี่ยน มลภาวะเมือง คุณภาพพื้นที่สาธารณะ และการเสื่อมสภาพของอาคารและโครงสร้างพื้นฐาน (aging infrastructure) และด้านคุณค่า พบว่า ทัศนคติต่อการอยู่อาศัยในที่สูงเปลี่ยนไป ความต้องการเป็นเจ้าของและเช่าคอนโดเปลี่ยนไป การบริโภคอย่างยั่งยืนเป็นที่นิยมขึ้น และทัศนคติเรื่องการยึดติดกับสถานที่และอิสระในการเคลื่อนย้ายเปลี่ยนไป

          ปัจจัยที่มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่มีความแน่นอนสูงถูกนำมาวิเคราะห์ประกอบกันกลายเป็น ภาพอนาคตฐาน (baseline future) ของการอยู่อาศัยแนวตั้งในเมือง โดยสังเคราะห์ภาพอนาคตฐานออกมาเป็น 7 ประเด็น ได้แก่ 1) เมืองจะเต็มไปด้วยคอนโดที่เก่าและคอนโดที่ถูกทุบแล้วสร้างใหม่        2) คนเมืองจะไม่ทำอาหารและพึ่งพาบริการด้านอาหารนอกบ้านเป็นหลัก 3) เด็กคอนโดจะไม่เล่นนอกบ้าน กินแต่อาหารสำเร็จรูป 4) เมืองจะเต็มไปด้วยผู้สูงอายุจำนวนมากในคอนโดห้องเล็ก 5) การเช่าจะกลายเป็นปกติใหม่ ทั้งระยะสั้นและยาวจะเพิ่มสูงขึ้นจนการอาศัยอยู่ในคอนโดมีสภาพคล้ายกับมีโรงแรมอยู่ข้างบ้าน 6) ดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเช่าจะเฟื่องฟูด้วยค่านิยมตามแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปัน และ 7) จะเกิดคอนโดขึ้นจำนวนมากในพื้นที่ชานเมืองที่ห่างไกลจากสาธารณูปการและเสี่ยงต่อน้ำท่วม

          นอกจากภาพอนาคตฐานแล้ว งานวิจัยนี้ได้นำปัจจัยขับเคลื่อนที่มีความไม่แน่นอนสูงและมีผลกระทบสูงต่อการเปลี่ยนแปลงการอยู่อาศัยแนวตั้งมาสร้างเป็นภาพอนาคตทางเลือก (alternative futures) โดยนำ 2 ปัจจัยสำคัญมาเป็นแกนกำหนดภาพอนาคตทางเลือก ได้แก่ 1) แกนรูปแบบและขนาดของครัวเรือน แบบอยู่เดี่ยวและ อยู่ร่วม2) แกนทิศทางการพัฒนากายภาพเมือง ระหว่าง การดึงกลับสู่กลางเมือง และ แผ่ขยายสู่ชานเมืองทำให้ได้ฉากทัศน์ภาพอนาคตทางเลือก 4 ฉาก ได้แก่ 1) รังไหมในชั้นคอนกรีต 2) โพรงนกฮูกในป่าดิบ 3) เหล่ากระตายในถ้ำใต้ทะเลทราย และ 4) เมืองนกกระจาบ ดังในภาพ

            จากการวิเคราะห์จุดแข็งและความท้าทายเพื่อประเมินฉากทัศน์ทั้ง 4 ฉากผ่านหลักการของความเป็นธรรม ความยั่งยืน และประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดประชุมกลุ่มเชิงปฏิบัติการ ได้ข้อสรุปว่า ฉากทัศน์ที่ 4 เมืองนกกระจาบ เป็นภาพอนาคตอันพึงประสงค์ (preferable future) ที่สุดของมหานครกรุงเทพ โดยฉากทัศน์นี้มีภาพสำคัญคือ ผู้คนอาศัยอยู่ใกล้แหล่งงานในที่อยู่อาศัยแนวตั้งร่วมกับสมาชิกครอบครัว ซึ่งอาจเป็นครอบครัวแบบดั้งเดิมหรือสมัยใหม่ มีการแบ่งหน้าที่ พื้นที่และทรัพยากรกันเช่นเดียวกับนกกระจาบสังคมที่อยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวใหญ่และแบ่งพื้นที่ในรังเพื่อใช้ร่วมกันอย่างเป็นสัดส่วน โดยในฉากนี้ที่ดินในเมืองที่ไม่ถูกใช้งานอย่างเต็มศักยภาพจะถูกปรับเป็นอาคารสูงที่มีการใช้งานแบบผสมผสานด้านล่างเป็นสำนักงาน ร้านค้า สาธารณูปการ และด้านบนเป็นที่อยู่อาศัย คอนโดประกอบด้วยห้องขนาดเล็กสำหรับครอบครัวพร้อมพื้นที่ส่วนกลางที่หลากหลายและมีจำนวนมาก มีราคาที่สามารถเข้าถึงได้ คนในคอนโดมีสังคมละแวกบ้านที่เหนียวแน่น มีของส่วนตัวน้อยลงและพึ่งพาทรัพยากรและบริการสาธารณะใกล้บ้านมากขึ้น

        ในฉากทัศน์ที่พึงประสงค์ก็ยังมีประเด็นท้าทายสำคัญ คือ ด้านความเป็นธรรม ได้แก่ การทำให้คนทุกกลุ่มรายได้เข้าถึงที่อยู่อาศัยคุณภาพดีใจกลางเมืองที่มีพื้นที่จำกัดได้อย่างทั่วถึง การลดความเหลื่อมล้ำในกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีแบ่งปันสิ่งของได้ รวมถึงการสร้างการยอมรับซึ่งกันและกันภายใต้ความปะปนของฐานะรายได้ระหว่างกลุ่มผู้อยู่อาศัย

         ในด้านความยั่งยืน ได้แก่ การจัดการหมุนเวียนที่อยู่อาศัยเมื่อเกิดการย้ายเข้าออกให้มีประสิทธิภาพ การออกแบบอาคารและเมืองที่ลดปรากฏการณ์เกาะความร้อนเมือง การจัดการกับมลภาวะอื่นที่เกิดจากกิจกรรมที่หนาแน่นในเมือง ข้อตกลงด้านสุขอนามัยในการใช้พื้นที่และสิ่งของร่วมกันต้องถูกกำหนดไว้อย่างเข้มงวด การวางแผนรับมือภัยพิบัติในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น

        และในด้านประสิทธิภาพ มีประเด็นท้าทายที่สำคัญคือ การจัดการความขัดแย้งและสร้างกฎเกณฑ์ที่เป็นกลางเพื่อลดการปะทะและช่วยในการตัดสินใจระหว่างผู้อยู่อาศัย การสร้างความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจสำหรับภาคเอกชนในการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงความซับซ้อนในการจัดการระบบอาคารที่เป็นการใช้งานแบบผสมผสาน ซึ่งประเด็นเหล่านี้จำเป็นต้องมีนโยบายมารองรับ

โปรดติดตามรายงานฉบับเต็มใน https://www.khonthai4-0.net/

*บทความโดย อ.ภัณฑิรา จูละยานนท์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย