ส่งออกโดยใช้สิทธิตามความตกลง RCEP

ส่งออกโดยใช้สิทธิตามความตกลง RCEP

RCEP คือRegional Comprehensive Economic Partnership Agreement เรียกเป็นภาษาไทยว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป)

         RCEP เป็นความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจากับอาเซียนอีก 5ประเทศ คือออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ รวมภาคีสมาชิก 15 ประเทศ จุดมุ่งหมายเพื่อเปิดเสรีทางการค้า บริการ การลงทุน ในภูมิภาค  โดยผู้แทนประเทศภาคีสมาชิก15 ประเทศได้ลงนามในความตกลงแล้วเมื่อวันที่  15 พฤศจิกายน 2563

              ข้อตกลงส่วนที่สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการค้าไทย ที่จะส่งออกได้เพิ่มขึ้น คือความตกลง บทที่ 2 การค้าสินค้า

               สาระสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออก คือ          

              1 การปฏิบัติเยี่ยงชนชาติในการจัดเก็บภาษีและข้อกำหนดกฎระเบียบภายใน ซึ่งเป็นไปตามกฎของแกตต์1994 กล่าวคือประเทศผู้นำเข้าต้องปฏิบัติกับสินค้านำเข้าที่ส่งออกจากประเทศไทยเฉกเช่นบุคคลในชาติของตน

                2 ประเทศนำเข้าจะไม่มีการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีในการจำกัดการนำเข้า ยกเว้นที่กระทำได้ตามกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก หรือตามข้อตกลงอาร์เซ็ป

     3 สิทธิพิเศษที่ผู้ส่งออกจะได้รับ   คือได้รับสิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรจากการได้รับการลดหย่อนหรือยกเว้นอากรศุลกากร ขาเข้าจากประเทศผู้นำเข้าที่เป็นประเทศภาคี โดยรายการสินค้าที่จะได้รับการลดหย่อนหรือยกเว้นอากรขาเข้าของประเทศสมาชิกจะเป็นไปตามตารางข้อผูกพันทางภาษีที่แต่ละประเทศตกลงไว้ ตามที่ปรากฏตามตารางข้อผูกพันทางภาษีของแต่ละประเทศตามภาคผนวก1 ซึ่งรายกาสินค้าของ แต่ละประเทศจะไม่เหมือนกัน

       4 สินค้า ส่งออกที่จะได้รับสิทธิพิเศษลดหย่อนหรือยกเว้นอากรขาเข้าของประเทศนำเข้าจะต้องผลิตโดยถูกต้องตามกฎถิ่นกำเนิดสินค้า ตามที่กำหนดในบทที่3 คือ

         4.1สินค้าที่ได้มาทั้งหมดหรือผลิตขึ้นทั้งหมดในประเทศสมาชิกผู้ส่งออก มีรหัสเรียกว่า WO

        4.2มีการผลิตในประเทศผู้ส่งออกที่เป็นภาคีโดยใช้วัตถุที่ได้ถิ่นกำเนิดในประเทศภาคีใดภาคีหนึ่งหรือมากกว่านั้น หรือ

           4.3 มีการผลิตในประเทศผู้ส่งออกที่เป็นภาคี โดยใช้วัสดุนำเข้าจากประเทศอื่นที่ไม่ใช่ภาคี โดยกระบวนการผลิตจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดที่กำหนดในภาคผนวก 3เอ ซึ่งมีข้อกำหนดเป็นรายสินค้าโดยสินค้าแต่ละประเภทพิกัด ก็จะมีข้อกำหนดที่แตกต่างกัน

            5 กฎเฉพาะรายสินค้า ตามที่กำหนดในภาคผนวก3เอ ซึ่งก็คือเงื่อนไขการปฏิบัติต่อสินค้าเพื่อให้ได้ถิ่นกำเนิด มีดังนี้

               5.1 สินค้าต้องมีสัดส่วนมูลค่าการผลิตในภูมิภาคนี้(RVC)ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 มีรหัสเรียกว่า RVC40 มีวิธีการคำนวณตามที่กำหนดใน ข้อ 3.5 ของความตกลงกล่าวโดยสรุปคือหากมีการใช้วัสดุนำเข้าจากต่างประเทศที่ไม่ใช่ประเทศภาคี การผลิตสินค้านั้นต้องมีมูลค่าการผลิตที่เป็นของภูมิภาคนี้เป็นสัดส่วน40%ของมูลค่าสินค้านั้น

            ความตกลง RCEP ข้อ3.4 ยอมรับหลัก การสะสมถิ่นกำเนิด (Cumulation)

           ในกรณีนี้หากผู้ผลิตไทยนำเข้าวัสดุหรือสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศภาคีสมาชิกไม่ว่าจากประเทศใดกี่ประเทศก็ตามมาใช้เป็นชิ้นส่วนหรือวัสดุในการผลิตหรือประกอบเป็นสินค้า จนเป็นสินค้าสำเร็จรูปในประเทศไทยแล้วส่งออกไปยังประเทศสมาชิก จะถือได้ว่าสินค้านั้นมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย และหากเป็นสินค้าที่อยู่ในรายการได้รับสิทธิลดหย่อนหรือยกเว้นอากร ตามที่กำหนดในตารางข้อผูกพันทางภาษีของประเทศนั้น. สินค้าไทยที่ส่งไปประเทศนั้นก็จะได้รับการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีตามที่กำหนดไว้

          5.2 สินค้านั้นผลิตจากวัสดุนำเข้าจากประเทศที่ไม่ใช่ภาคี(ซึ่งไม่ได้ถิ่นกำเนิดสินค้า) ผ่านกระบวนการผลิตจนเป็นสินค้าชนิดใหม่ ที่พิกัดศุลกากรของสินค้าหรือวัสดุเดิมในระดับสองหลัก เปลี่ยนเป็นพิกัดสองหลักอีกพิกัดหนึ่ง มีรหัสเรียกว่า CC เช่นนี้สินค้านั้นก็จะถือว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย

         5.3 สินค้านั้นผลิตจากวัสดุนำเข้าจากประเทศที่ไม่ใช่ภาคี(ซึ่งไม่ได้ถิ่นกำเนิดสินค้า) ผ่านกระบวนการผลิตจนเป็นสินค้าชนิดใหม่ ที่พิกัดศุลกากรของสินค้าหรือวัสดุเดิมในระดับสี่หลัก เปลี่ยนเป็นพิกัดสี่หลักอีกพิกัดหนึ่ง มีรหัสเรียกว่า CTH เช่นนี้สินค้านั้นก็จะถือว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย

         5.4. สินค้านั้นผลิตจากวัสดุนำเข้าจากประเทศที่ไม่ใช่ภาคี(ซึ่งไม่ได้ถิ่นกำเนิดสินค้า) ผ่านกระบวนการผลิตเป็นสินค้าชนิดใหม่ ที่พิกัดศุลกากรของสินค้าหรือวัสดุเดิมในระดับหกหลัก เปลี่ยนเป็นพิกัดหกหลักอีกพิกัดหนึ่ง มีรหัสเรียกว่า CTSHเช่นนี้สินค้านั้นก็จะถือว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย

                   5.5 สินค้าที่ได้จากปฏิกิริยาเคมี จะพิจารณาว่าสินค้านั้นได้ถิ่นกำเนิด หากปฏิกิริยานั้นเกิดขึ้นในประเทศภาคี. มีรหัสเรียกว่า CR

                  6 การขอรับสิทธิพิเศษทางอากรศุลกากร ตามที่กำหนดในข้อ2.22 ของข้อตกลง กล่าวโดยสรุปคือการส่งออกสินค้าเพื่อให้ได้รับการลดหย่อนหรือยกเว้นอากรจากประเทศผู้นำเข้า ในชั้นนี้ ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ที่ออกโดยกรมการค้าต่างประเทศไปแสดงต่อศุลกากรของประเทศนำเข้า ซึ่งจะเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับหนังสือรับรอง ถิ่นกำเนิดสินค้าที่กำหนดในส่วนบี ของบทที่3. ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศคงจะได้ออกระเบียบปฏิบัติ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ส่งออกต่อไป

                   สำหรับคำรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ตามที่กำหนดในข้อ3.18 ของความตกลง ที่จะให้ผู้ส่งออกสามารถให้คำรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง โดยไม่ต้องขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าจากกรมการค้าต่างประเทศ จะเป็นการดำเนินการในขั้นต่อไป

                  ข้อสรุป                                                                         

                  ผู้ผลิตผู้ส่งออกที่ประสงค์จะเพิ่มการส่งออกโดยใช้สิทธิพิเศษตามความตกลง RCEP จะส่งสินค้าไปประเทศใด จะต้องตรวจสอบว่าสินค้านั้นอยู่ในรายการที่จะได้รับการลดหย่อนหรือยกเว้น ภาษีศุลกากรอากรนำเข้าตามตารางข้อผูกพันทางภาษีของประเทศผู้นำเข้าหรือไม่ ขั้นตอนต่อไปคือต้องผลิตสินค้าให้ได้ถิ่นกำเนิด ตามที่กำหนดไว้ในบทที่3ของความตกลง ในกรณีผลิตสินค้าโดยใช้วัสดุนำเข้าจากประเทศที่ไม่ใช่ภาคี ให้ตรวจสอบเงื่อนไขการผลิตที่จะทำให้ได้ถิ่นกำเนิด ตามตารางกฎเฉพาะรายสินค้าในภาคผนวก 3 เอ ของความตกลงแล้วผลิตสินค้าตามเงื่อนไขนั้น

                   ความเห็น    เพื่ออำนวยความสะดวกและส่งเสริมให้ผู้ผลิตผู้ส่งออกได้ใช้สิทธิตามความตกลงอย่างเต็มที่เพื่อเพิ่มการส่งออกของไทย กรมการต่างประเทศควรรีบจัดทำคู่มือการใช้สิทธิตามความตกลงRCEP จำแนกสินค้าทีไทยมีศักยภาพส่งออกที่จะได้สิทธิ แยกตามรายประเทศพร้อมด้วยกฎเฉพาะรายสินค้านั้นทุกฯรายการสินค้า ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกได้มาก