การขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สะท้อนความร่วมมือของผู้กำหนดนโยบาย ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ นับเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญระดับต่างๆ

การขนส่งนับเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากช่วยขนส่งผลผลิตจากแหล่งวัตถุดิบสู่โรงงาน และกระจายสินค้าจากโรงงานและผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค รวมถึงช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้คนไปยังสถานที่ต่างๆ  แต่ปัจจุบันกิจกรรมการขนส่งกำลังถูกจับตามองเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการใช้พลังงานมากที่สุดและมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  

160630628933

การขนส่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ลดทอนคุณภาพสิ่งแวดล้อม 

จากรายงานความก้าวหน้ารายสองปี ฉบับที่ 2 ของประเทศไทย (Second Biennial Update Report of Thailand) ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อปี 2560 เพื่อนำเสนอข้อมูลบัญชีก๊าซเรือนกระจก (ปี 2543 - 2556) ต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) พบว่า กิจกรรมการขนส่งมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คิดเป็นร้อยละ 19.2 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ

นอกจากนี้ การขนส่งยังเป็นสาเหตุในการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ที่เราต้องเผชิญในช่วงฤดูหนาวของทุกปี โดยเห็นได้ชัดจากเมืองใหญ่หรือพื้นที่ที่มีภาวะการจราจรหนาแน่น มักมีดัชนีคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงเกินมาตรฐานที่กำหนด แต่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งมีมาตรการล็อคดาวน์เมือง ทำให้ปริมาณการจราจรในพื้นที่ต่าง ๆ ลดลงจนเกือบหยุดชะงัก คุณภาพอากาศในเมืองใหญ่ต่างๆ ดีขึ้นอย่างชัดเจน

ทิศทางการพัฒนาการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของประเทศ

ประเทศไทยได้มีการกำหนดมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการคมนาคมขนส่ง ภายใต้แผนที่นําทางการลด ก๊าซเรือนกระจกของประเทศ หากดำเนินการได้ตามแผน ก็จะส่งผลต่อการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น 41 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า  ซึ่งมีมาตรการ 2 ประการ ได้แก่ (1) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องยนต์ทั้งเบนซินและดีเซล การปรับเปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง โดยการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้าความเร็วสูงระหว่างเมือง
(2) มาตรการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพสําหรับยานพาหนะ ได้แก่ การใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ และการใช้น้ำมันไบโอดีเซล 
เป็นต้น

ขณะเดียวกัน แผนการพัฒนาระบบขนส่งและจราจรก็ได้หยิบยกประเด็นการขนส่งที่ใช้พลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาเป็นเป้าประสงค์หนึ่งของแผน โดยมีมาตรการส่งเสริมรูปแบบการขนส่งทางรางและทางน้ำให้มากขึ้น การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้มีการใช้พลังงานและยานพาหนะที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ การพัฒนาระบบขนส่งและจราจรให้ได้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมตามหลักสากล  อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ยังไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย

การพัฒนาการขนส่งทั้งระบบ

จากการทบทวนบทเรียนการพัฒนาการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากประเทศต่าง ๆ พบว่าได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทั้งระบบการขนส่ง โดยมีประเด็นพื้นฐานด้านโครงข่ายและเส้นทาง รูปแบบยานพาหนะ ประเภทเชื้อเพลิง  ความสามารถและความร่วมมือตลอดห่วงโซ่อุปทาน และพฤติกรรมการเดินทางของประชาชน  

  • โครงข่ายเส้นทาง เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งที่เหมาะสม ลดระยะทาง และลดความหนาแน่นของการจราจรในเขตเมืองและในบริเวณพื้นที่สำคัญ การออกแบบให้มีศูนย์กระจายสินค้านอกเมือง และวางแผนเพื่อลดการขนส่งเที่ยวเปล่า  
  • รูปแบบการเดินทางและยานพาหนะ โดยมีการสรุปให้เห็นถึงรูปแบบการเดินทางและยานพาหนะที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยแผนภาพพีระมิด นอกจากนี้ ต้องมีการจัดทำมาตรฐานของยานพาหนะที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • 160630631240
  • ชนิดเชื้อเพลิง ปัจจุบันมีการนำเสนอชนิดเชื้อเพลิงจากชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ และระบบไฮบริด (Hybrid) ให้มีการกำหนดมาตรฐานและพัฒนาคุณภาพเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ สำหรับการขนส่งสินค้าทั้งทางบกและทางเรือ โดยเฉพาะชนิดเชื้อเพลิงที่ใช้กับรถบรรทุก
  • ความสามารถและความร่วมมือตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพิ่มขีดความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน และกำหนดเป็นเงื่อนไขหรือข้อตกลงในการจัดซื้อจัดจ้างให้เกิดการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในขั้นตอนต่าง ๆ ของการดำเนินกิจการ
  • พฤติกรรมของประชาชน ซึ่งต้องสร้างทางเลือกและให้ข้อมูลเกี่ยวกับทางเลือกในการเดินทาง ให้มีการวางแผนการเดินทาง การดูแลรักษารถยนต์และยานพาหนะอื่น ๆ พร้อมจูงใจให้ลดการเดินทางและตัดสินใจเลือกการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น

160630636861

ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต้องไปพร้อมๆ กับเศรษฐกิจและสังคม

แนวทางต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น แต่หากขาดความร่วมมือจากทุกฝ่ายก็จะไม่สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ จึงต้องสร้างความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนทั้งในฐานะผู้กำหนดนโยบาย
ผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการ เพื่อให้เกิดการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และฝุ่นละอองขนาดเล็กจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ลดการใช้ทรัพยากร ลดต้นทุน ลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และลดผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเราทุกคน 

นอกเหนือจากการพัฒนาให้เกิดระบบการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการสร้างสังคมที่ดี ซึ่งคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ และทุกวัย สามารถเข้าถึงบริการขนส่งได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมด้วย

 เรียบเรียงโดย แววตา บวรทวีปัญญา ฝ่ายส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย