ฤาสายลมจะพัดหวน...สู่ตลาดเอเชีย

ฤาสายลมจะพัดหวน...สู่ตลาดเอเชีย

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกๆท่าน เมื่อต้นเดือนนักลงทุนทั่วทั้งโลกต่างจับตาดูผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

 และตามมาด้วยข่าวความคืบหน้าของวัคซีนโรคโควิด-19 ซึ่งทั้งสองข่าวล้วนแล้วแต่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อทิศทางของค่าเงินและตลาดทุนทั่วโลก และเมื่อเดือนที่แล้วผมได้เขียนและยกตัวอย่างถึงเครื่องมือที่จะช่วยทำให้ท่านผู้อ่านสามารถเข้าถึงการลงทุนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์ทางเลือกในรูปแบบ ง่ายๆและค่าใช้จ่ายต่ำนั่นก็คือการลงทุนผ่าน ETF คราวนี้ผมอยากอัพเดทถึงการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นแถบเอเชี ซึ่งในอดีตเคยเป็นตลาดที่เนื้อหอมต่อเงินลงทุนของนักลงทุนทั่วโลกและดูเหมือนว่าจะเป็นอีกภูมิภาคที่ดึงดูดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างๆ ณ ตอนนี้

ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียต่างได้รับผลกระทบอย่างมากจากพิษของโควิด-19 ยกตัวอย่างประเทศไทยที่ดัชนีปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงจากที่เปิดปีมาดัชนีเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงปลายๆ1,500เกือบ1,600 จุด และมาทำจุดต่ำสุด เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่ระดับ1,087 หรือมีค่าการปรับตัวลดลงสูงสุดในปี (maximum drawdown) ที่ 42% ซึ่งภาพคล้ายกันนี้ก็เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฟิลิปปินส์ซึ่งมีค่า maximum drawdown สูงสุดในภูมิภาคที่ 50.4% ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 46.2% เกาหลีใต้ 42.9% (และประเทศไทยตามมาติดๆ) ส่วนไต้หวันดีขึ้นมาหน่อยที่การปรับตัวลดลงสูงสุดในปีนี้อยู่ที่ 33% ส่วนประเทศจีนดัชนี เซี่ยงไฮ้คอมโพสิท ปีนี้ปรับตัวลดลงสูงสุดที่เพียง 15% เนื่องจากได้รับผลกระทบมาก่อนในช่วงปลายปีนั่นเอง

หลังจากนั้นตลาดหุ้นในภูมิภาคนี้ก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่สามารถกลับไปยืนอยู่เหนือดัชนี ณ ช่วงต้นปีได้ ยกเว้นแต่ตลาดเกาหลีใต้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากต้นปีสูงถึง 15% ไต้หวัน 14% เซี่ยงไฮ้ 9.9% แม้ว่าจะไม่สูงเท่าดัชนีแนสแดค แต่ก็ถือว่ามีการปรับตัวสูงโดยเฉพาะนับจากที่ดัชนีปรับตัวลดลงมาสูงสุด ในขณะที่ประเทศไทยนั้นดัชนียังคงติดลบจากช่วงต้นปีถึง 13.1% ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 11.3% และฟิลิปปินส์ 10.5%

แต่ถ้าเรามามองในช่วงสั้นๆนับจากสิ้นเดือนก.ย.ที่ผ่านมา 3 ประเทศในภูมิภาคที่ดัชนีปรับตัวขึ้นมาสูงสุดได้แก่ ฟิลิปปินส์ 19.3% อินโดนีเซีย 14.7% และไทย 11.0% โดยส่วนใหญ่เป็นการปรับตัวขึ้นอย่างมากนับาจากต้นเดือนพ.ย. เป็นต้นมา โดยสาเหตุหลักอย่างหนึ่ง คือ ผลของการเลือกตั้งที่ส่งผลต่อการอ่อนตัวของค่าเงินดอลลาร์ และเงินยูโร ที่ยังคงต้องใช้ทั้งนโยบายการเงินการคลังที่ผ่อนคลาย ทำให้ค่าเงินในแถบภูมิภาคปรับตัวแข็งค่าขึ้นทำให้มีเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศแถบนี้มากขึ้น ประกอบกับข่าวความคืบหน้าของวัคซีนทำให้นักลงทุนเริ่มมีความคาดหวังต่อสถานการณ์เศรษฐกิจที่ดีขึ้น

เราอาจไม่สามารถที่จะทำนายตลาดได้ว่าจะลดลงต่ำสุดที่ระดับไหนเพื่อจะเข้าซื้อที่จุดนั้น หรือตลาดจะขึ้นต่อไปอีกหรือไม่เพื่อจะทำนายจุดขายที่ดีที่สุด แต่เราสามารถที่จะสร้างหรือรักษาผลตอบแทนที่ดีให้กับพอร์ตความมั่งคั่งของเราได้ เราลองมาดูวิธีแรกกันนั่นก็คือการกระจายความเสี่ยง สมมติว่าเรากระจายการลงทุนไปยัง 6 ประเทศข้างต้นอย่างละเท่าๆกันตั้งแต่ต้นปี (ไม่ได้มีการรีบาลานซ์) พอร์ตการลงทุนของเราจะมีผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีที่เป็นบวกประมาณร้อยละ 1.4 และมีค่าการปรับตัวลดลงมากสุด(maximum drawdown) ที่ร้อยละ 36.7 ซึ่งอาจไม่ได้เป็นผลตอบแทนที่สูงมากนัก แต่นั่นก็หมายความว่าเรายังรักษาและสามารถเพิ่มพูนความมั่งคั่งของเราได้ และยังลดความผันผวนของพอร์ตความมั่งคั่งของเราได้ ทีนี้สมมติว่าเรากระจายความเสี่ยงเพิ่มเติมไปยังตลาด Nasdaq ของอเมริกา โดยลงทุนใน 7 ตลาดด้วยจำนวนเงินเท่ากัน ณ วันที่ 19 พย พอร์ตความมั่งคั่งของเราจะเพิ่มค่าขึ้นมาอีกร้อยละ 6 ในขณะที่ค่าการปรับตัวลดลงมากสุดลดลงมาเหลือร้อยละ 34.9

เห็นมั้ยครับว่าการกระจายความเสี่ยงอย่างง่ายๆในตัวอย่าง (ในตลาดหุ้นเพียง 7 ตลาด)สามารถรักษาและเพิ่มพูนความมั่งคั่งของเราได้ และยังช่วยลดความผันผวนของความมั่งคั่งของเราได้เป็นอย่างดี นอกจากการกระจายความเสี่ยงแล้วหากเรามีความรู้ด้านการลงทุนเพิ่มขึ้น เช่นการใช้เครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อหาจังหวะในการซื้อขายอย่างเป็นระบบ หรือใช้ตัวช่วยในการจับสัญญาณความเสี่ยง เช่น ค่า vix index หรือ ค่าสัดส่วน put/call ก็จะเป็นตัวช่วยที่ทำให้เราสามารถบริหารพอร์ตความมั่งคั่งของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หรือเราสามารถบรรลุเป้าหมายทางการลงทุนของเราได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง

        ครับท้ายสุดนี้ผมก็ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกๆท่านมีความสุขและโชคดีในการลงทุนครับ