Doing good หรือ Doing well?

Doing good หรือ Doing well?

วลีที่น่าสนใจในภาษาอังกฤษ นั้นคือ Doing good หรือ doing well? ซึ่งถ้าดูตามหลักไวยากรณ์แล้ว ทั้งสองข้อความนั้นน่าจะมีความหมายที่คล้ายๆ กัน

เคยได้รับคำปรารภจากเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังจะจบการศึกษาคนหนึ่งว่า อยากจะช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาส แต่ขณะเดียวกันตนเองจะต้องทำงานจนมีความมั่งคั่งในชีวิตก่อน ถึงจะสามารถไปช่วยเหลือผู้อื่นได้ ทำให้นึกถึงวลีที่น่าสนใจในภาษาอังกฤษ นั้นคือ Doing good หรือ doing well? ซึ่งถ้าดูตามหลักไวยากรณ์แล้ว ทั้งสองข้อความนั้นน่าจะมีความหมายที่คล้ายๆ กัน พอแปลเป็นไทยก็คือ การทำดี และการทำได้ดี อย่างไรก็ดีในช่วงหลังทั้งสองข้อความนั้นจะเริ่มมีการแปลนัยยะที่แตกต่างกันมากขึ้น

        Doing good จะเริ่มมีความหมายถึงการทำในสิ่งที่ดี ทำเพื่อบุคคลอื่น ส่วน Doing well จะมีนัยยะถึงการที่ตนเองประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเงินหรือเป้าหมายที่ต้องการ

        จากคำถามของเด็กรุ่นใหม่คนนั้นก็ทำให้นึกขึ้นไปถึงระดับขององค์กรทางธุรกิจได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะข้อถกเถียงระหว่าง Doing good หรือ doing well ว่าบริษัทควรจะมุ่งเน้นการทำเพื่อสังคม เพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อผู้ด้อยโอกาส หรือ ควรจะเน้นให้บริษัทอยู่รอด สามารถสร้างผลกำไรและผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นที่ดีก่อน?

        ในอดีตนั้นเชื่อว่าผู้บริหารของบริษัทเอกชนจำนวนมากย่อมนึกถึง Do well ก่อน จากนั้นเมื่อบริษัทมั่นคง มีผลประกอบการที่ดี และผู้ถือหุ้นมีความสุข มีความพอใจแล้ว ค่อย Do good ด้วยการช่วยเหลือสังคมผ่านทางโครงการและกิจกรรมทาง CSR ต่างๆ อย่างไรก็ดีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดูเหมือนแนวโน้มจะเริ่มเปลี่ยนไปและบริษัทจำนวนมากก็หันมาให้ความสนใจต่อการ Do good พอๆ กับการ Do well

        ตัวอย่างที่ชัดเจนเช่นการที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกาศรายชื่อหุ้นยั่งยืน หรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) ประจำปี 2563 ซึ่งในปีนี้มีบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาถึง 124 บริษัท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 51 บริษัท สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยให้ความสำคัญกับการบริหารองค์กรอย่างยั่งยืนด้วยหลัก ESG (Environment, Social, Governance) กันมากขึ้น ล่าสุดเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้มีการประกาศผลของ DJSI (Dow Jones Sustainability Index) ซึ่งเป็นการประเมินตนเองด้าน ESG ในระดับสากลและมีบริษัทของไทยเข้าไปติดอันดับเป็นจำนวนมาก แถมยังได้รับการจัดให้เป็นผู้นำของแต่ละอุตสาหกรรมถึงแปดกลุ่มอุตสาหกรรม

        อาจมีข้อโต้แย้งมาว่าเมื่อพิจารณาบริษัทของไทยที่ได้รับการคัดเลือกเข้า DJSI นั้นเกือบทั้งหมดจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่และเป็นผู้นำแต่ละอุตสาหกรรมในประเทศไทยอยู่แล้ว ดังนั้นจริงๆ แล้วบริษัทเหล่านั้นจะต้อง Do well ก่อนแล้วถึงจะมา Do good ได้ ซึ่งกรณีของ DJSI นั้นเกณฑ์หนึ่งที่เขาใช้พิจารณาคัดกรองด้วยคือมูลค่าของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ด้วย ทำให้มีแต่บริษัทขนาดใหญ่ของไทยที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว แต่เมื่อกลับไปพิจารณารายชื่อใน THSI แล้วก็จะพบว่ามีทั้งบริษัทขนาดใหญ่ บริษัทขนาดเล็ก และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาด MAI ด้วยเช่นกัน

        จริงๆ แล้วทั้ง Doing good กับ Doing well ไม่ควรจะเป็นสองข้อความอิสระแยกจากกัน แต่เป็นสองข้อความที่เรียงกัน เพียงแต่ข้อความใดควรจะมาก่อนกัน และมีคำเชื่อมระหว่างกันอย่างไรนั้นเป็นประเด็นที่อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละคนหรือแต่ละองค์กร อย่างไรก็ดีแนวโน้มในปัจจุบันจะเห็นถึงกระแสของการ Doing well by doing good กันมากขึ้น และเริ่มเป็นที่พิสูจน์ได้ในการบริหารบริษัทผ่านการให้ความสำคัญกับเรื่องของ ESG กันมากขึ้น

        ย้อนกลับไปประเด็นที่เด็กรุ่นใหม่ถามมาในตอนต้น ถ้าคิดแบบดั้งเดิม ก็จะเป็น Do well first, then do good คือให้รวยก่อนแล้วค่อยช่วยคนอื่น แต่ถ้าคิดแบบนั้นก็จะมุ่งไปที่ตัวเองมากเกินไป แถมการที่ตนเองจะรวยหรือประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ก็อาจจะต้องทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนโดยไม่รู้ตัว คำตอบที่เหมาะสมควรจะเป็น Do well by doing good (ซึ่งเป็นข้อความที่ Benjamin Franklin อดีตนักคิดชื่อดังของอเมริกาได้เคยกล่าวไว้) นั้นคือเมื่อทำดี โดยเฉพาะการทำดีเพื่อผู้อื่นแล้ว สุดท้ายแล้วตนเองย่อมประสบความสำเร็จได้เอง