ว่าที่ทีม ครม.ของ โจ ไบเดน

ว่าที่ทีม ครม.ของ โจ ไบเดน

คาดการณ์หน้าตารัฐบาลของโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ จะมีใครบ้างนอกจาก "คามาร่า แฮร์ริส” ที่เป็นข่าวคราวมาแล้วในช่วง 2-3 ผ่านที่ผ่านมานี้

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจกับ โดนัลด์ ทรัมป์ และขอยินดีกับ โจ ไบเดน ในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่เชื่อว่าจะไม่มีใครลืมความสูสีกัน แต่บทความนี้ ผมขอมองข้ามชอตไปถึงคนทำงานว่าตำแหน่งหลักๆของว่าที่ทีมคณะรัฐมนตรีของโจ ไบเดน ดังนี้

 ลาอัล เบรนนาร์ด” ว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ

 หากจะให้เลือกสมาชิกธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ณ ตอนนี้ ที่ถือว่าโดดเด่นที่สุด เห็นจะหนีไม่พ้นลาอัล เบรนนาร์ด ด้วยมุมมองของเธอที่ถือว่าครบทั้งความเชี่ยวชาญด้านนโยบายการเงินและความชำนาญด้านการกำกับสถาบันการเงิน โดยเธอจบการศึกษาปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ เริ่มต้นการทำงานที่แม็คคินซีย์ เคยช่วยงานให้กับรัฐบาลของบิล คลินตัน จนได้มาร่วมงานในตำแหน่งสำคัญที่กระทรวงการคลังสหรัฐ ในสมัยบารัก โอบามา ก่อนที่จะมาเป็นสมาชิกเฟดเมื่อ 6 ปีก่อน นอกจากนี้ เธอยังทำงานวิชาการด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศให้กับสถาบันวิจัยบรู็คกิ้งส์ ของสหรัฐ

 

ณ ตรงนี้ เธอน่าจะได้มีโอกาสสูงที่จะเป็น รมต.คลังสหรัฐ เนื่องจากในช่วงก่อนที่โจ ไบเดน กำลังหาเสียงเพื่อชิงชัยกับโดนัลด์ ทรัมป์  ทางเบรนนาร์ดได้มาร่วมงานกับทางพรรคเดโมแครตในการสนับสนุนด้านวิชาการต่อนโยบายเศรษฐกิจของไบเดน และว่ากันว่า เธอค่อนข้างจะให้ความคิดเห็นที่เข้าตาไบเดนในการประชุมหลายๆครั้งที่ผ่านมา

 

ผมมองว่าเธอเหมาะกับตำแหน่งนี้มาก จากการที่เธอค่อนข้างไม่เอียงซ้ายจ๋าในมุมของนโยบายด้านสถาบันการเงินเหมือนกับอลิซาเบธ วอร์เรน ทว่าก็ไม่สุดโต่งด้านนโยบายการเงินดังเช่นกับสเตฟานี เคลตัน ที่จะพยายามนำ MMT มาสู่การบริหารเศรษฐกิจสหรัฐ หากไม่มีอะไรพลิกโผ เบรนนาร์ดน่าจะมีโอกาสสูงที่จะเป็นรมต.คลังหญิงท่านแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ 

 

“ซูซาน ไรซ์” ว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ

 ตำแหน่งนี้ ถือว่าคาดการณ์ได้ค่อนข้างยาก มีทั้งแอนโธนี บลินคัน คริส คูนส์ และ คริส เมอร์ฟีย์ ซึ่งแต่ละท่านล้วนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงให้กับไบเดน ด้านการต่างประเทศ ทว่าผมขอเลือกไปที่ซูซาน ไรซ์ อดีตทูตสหประชาชาติของสหรัฐ และที่ปรึกษาด้านความมั่นคงในสมัยบารัก โอบามา และอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐสมัยบิล คลินตัน

 ว่ากันว่า ไรซ์ซึ่งเป็นผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกคาดหมายกันว่า น่าจะไปได้ถึงตำแหน่งผู้นำสหรัฐเลยทีเดียว ด้วยความที่เธอเก่งทั้งบุ๋นและบู๊ในสมัยเรียนหนังสือ จบทั้งมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดด้านการต่างประเทศจากทั้งสหรัฐและอังกฤษ และเคยเป็นนักบาสเกตบอลให้กับทีมมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ เธอยังเป็นอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐสมัยบิล คลินตันที่อายุน้อยที่สุดด้วยวัย 33 ปี

 ด้านผลงานด้านการต่างประเทศ ถือว่าทำได้โดดเด่นเรื่อยมา จนเหตุการณ์ที่ทหารสหรัฐเสียชีวิตที่เบงกาซี ซึ่งเธอได้ตอบคำถามดังกล่าวต่อสื่อแบบที่ไม่ได้เตรียมตัวดีพอ จนหลายฝ่ายมองว่าทางการสหรัฐไม่ได้ทำการบ้านดีพอจนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ซึ่งตรงนี้ ทำให้เธอค่อนข้างถอยออกมาจากเวทีการเมืองไปทำงานด้านวิชาการ ทว่าก็ยังมีบทบาทในพรรคเดโมแครตด้านการต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุด ก็เป็นหนึ่งในตัวเต็งในตำแหน่งคู่หูรองประธานาธิบดีกับไบเดนเช่นกัน

 ผมมองว่า ไรซ์ถือเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า ฮิลลารี คลินตัน ในยุคบารัก โอบามา ค่อนข้างมาก สำหรับตำแหน่งเดียวกันนี้ด้วยซ้ำไป

 

 จาเร็ด เบิร์นสตีน ว่าที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลไบเดน

เขาน่าจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสูงที่สุดในฐานะว่าที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของไบเดน โดยเบิร์นสตีนเคยทำงานกับพรรคเดโมแครตมาอย่างยาวนาน โดยเขาได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่เชื่อแนวทางการค้าเสรีและ Supply-side economics โดยเบิร์นสตีนเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังแผนโครงการใช้จ่ายภาครัฐกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ในส่วนพลังงานสะอาด Healthcare งบวิจัยและพัฒนา การศึกษา และด้านไอทีในระยะเวลา 4 ปีของไบเดน

โดยเขามองว่าด้วยงบประมาณรัฐบาลสหรัฐที่จะทำให้อัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีสหรัฐใกล้เคียงกันในอีก 10 ปีข้างหน้า ทว่าโดนัลด์ ทรัมป์ นำไปลดภาษีให้กับคนรวยแทนนั้น จะก่อให้เกิดการจ้างตำแหน่งงานน้อยกว่าแผนของไบเดนกว่า 2 ล้านตำแหน่ง ซึ่งเขามองว่าเนื่องจากแผนของทรัมป์ทำให้เม็ดเงินไปกระจุกตัวอยู่ที่คนรวย ซึ่งไม่ได้ทำให้การใช้จ่ายในภาพรวมมีมูลค่ามากขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นแต่อย่างใด รวมถึงยังทำให้ระดับผลิตภาพในระบบเศรษฐกิจสหรัฐลดลงอีกด้วย

 

 

"คามาร่า แฮร์ริส” ว่าที่รองประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นนักการเมืองหัวก้าวหน้า โดยที่ไม่นิยมโทษการประหารชีวิต เธอก็กลับเอาจริงเอาจังกับการปฏิวัติองค์กรตำรวจและการลงโทษตำรวจผิวขาวที่ทำให้จอร์จ ฟลอยด์เสียชีวิต รวมถึงร่วมเป็นผู้ประท้วงหน้าทำเนียบขาวช่วงต้นปีนี้ เพื่อเรียกร้องให้ความเสมอภาคต่อกับคนผิวดำในสหรัฐ รวมถึงร่วมแก้กฎหมายให้กับคนผิวดำอีกด้วย

 สำหรับด้านนโยบายหลักในเรื่องต่างๆ นั้น แฮร์ริสมีจุดยืน ดังต่อไปนี้

- ด้านความเท่าเทียมของเชื้อชาติ แฮร์ริสให้ความเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวควรจะมาจากการแก้กฎหมายเป็นตัวตั้ง โดยเธอเสนอการยกเลิกกฎหมายการประหารชีวิต ระบบการปฏิวัติองค์กรตำรวจ ให้การศึกษาแบบฟรีต่อผู้ด้อยโอกาสทางสังคม รวมถึงการยกเลิกการจ่ายเงินเพื่อที่จะพ้นความผิดทางกฎหมาย

 - ด้าน Health care ล่าสุด แฮร์ริสมีมุมมองต่อการประกันสุขภาพที่ไม่เอียงซ้ายมากเหมือนเมื่อปีที่แล้ว โดยจากที่เธอเคยมีนโยบายที่จะยกเลิกบริษัทการประกันสุขภาพเอกชนในระบบการประกันสุขภาพแห่งชาติ ในตอนนี้ เธอกลับมาให้ความเห็นที่คล้ายคลึงกับไบเดน โดยยอมให้บริษัทประกันสุขภาพเอกชนเป็นหนึ่งในทางเลือกของชาวอเมริกัน

 - ด้านการกำกับบริษัทเอกชน เช่นเดียวกับ Healthcare แฮร์ริส มีท่าทีที่ค่อนข้าง Pro Market มากขึ้นกว่าในอดีตค่อนข้างมาก จากเดิมที่เคยเอียงซ้าย ณ ตอนนี้ เธอออกจะมีนโยบายที่ค่อนข้างอะลุ้มอล่วยกับ Start-up ด้านเทคโนโลยีมากจนหลายคนเริ่มมองว่ามากเกินไป อย่างไรก็ดี เธอเห็นด้วยกับการขึ้นภาษีต่อนิติบุคคลภาคเอกชน และ มีนโยบายด้าน Climate Change ที่เข้มข้น

  ผมมองว่าทีมงานรัฐบาลของไบเดน น่าจะค่อนข้างมีคุณภาพสูงไม่แพ้ และน่าจะดีกว่าของทรัมป์เสียด้วยซ้ำไปครับ