Toyota Mindset และ Automation

Toyota Mindset และ Automation

Mitsuru Kawai Executive Vice President มีคำกล่าวที่สะท้อนมุมมองการใช้เครื่องจักร ที่เชื่อมโยงมายังแนวคิดการพัฒนาคน ควบคู่ไปกับการ พัฒนางาน

“เราไม่สามารถปล่อยทุกสิ่งทุกอย่างให้ขึ้นกับเครื่องจักร ที่ทำงานเพียงซ้ำไปซ้ำมาเท่านั้น การจะเป็นนายของเครื่องจักรได้ ต้องมีความรู้เพื่อทำเครื่องจักรให้เก่งขึ้น ดังนั้นเราต้องย้อนกลับไปยังรากฐาน ที่ทักษะของมนุษย์ต้องได้รับการฝึกฝนและพัฒนาอยู่เสมอ”

การฟื้นฟูทักษะแรงงานของ Toyota

ในบทความก่อนหน้า ผมได้เล่าถึงข่าวน่าสนใจสวนกระแส กล่าวถึงโรงแรมหุ่นยนต์ในญี่ปุ่นที่ปลดระวางหุ่นยนต์บางส่วน เนื่องจากไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ ในบทความนี้ จะได้กล่าวต่อถึงโตโยต้า ต้นแบบแห่งระบบ Lean ว่ามี แนวคิดต่อระบบอัตโนมัติและมนุษย์ อย่างไรบ้างครับ

คำกล่าวออกสื่อเปิดเรื่องข้างต้น เป็นของ Executive Vice President ชื่อ Mitsuru Kawai สะท้อนมุมมองการใช้เครื่องจักร ที่เชื่อมโยงมายังแนวคิดการ พัฒนาคน ควบคู่ไปกับการ พัฒนางาน อันเป็นวัฒนธรรมองค์กรฝังแน่นมาตั้งแต่การก่อตั้งบริษัท

หากกล่าวถึงการนำระบบการผลิตอัตโนมัติมาใช้งาน อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นหัวหอกสำคัญที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายมานานแล้ว โตโยต้าเองก็ใช้หุ่นยนต์มากมายในโรงงาน อย่างไรก็ตาม วิสัยทัศน์องค์กรคือ ต้องไม่ปล่อยให้ ทักษะการทำงานที่มีคุณค่าของมนุษย์ หายไป

ในเมืองโตโยต้า จังหวัด Aichi โรงงาน Honsha ได้จัดพื้นที่มุมหนึ่งสำหรับ โครงการฟื้นฟูทักษะของพนักงาน จากการผลิตเพลาข้อเหวี่ยง (Crankshaft) ด้วยแรงงานคน (Manual Operation) แทนที่จะเป็นเครื่องจักรอัตโนมัติเหมือนปกติทั่วไป

เพลาข้อเหวี่ยงเป็นชิ้นส่วนสำคัญในเครื่องยนต์ที่ต้องแข็งแรงทนทานมาก กระบวนการผลิตคือ การทุบขึ้นรูป (Forging) แบบเดียวกับการตีดาบ คือต้องเผาเหล็กจนแดง แล้วใช้แรงทุบเข้าไป จนกระทั่งได้รูปร่างและคุณสมบัติตามที่ต้องการ

การรื้อฟื้นกระบวนการด้วยแรงงานคน เพื่อรักษาและพัฒนาทักษะของพนักงานเช่นนี้ ยังเกิดขึ้นในโรงงานโตโยต้าอีกหลายๆแห่ง ในกระบวนการสำคัญ (Key Process) ที่สามารถส่งต่อ การสร้างคุณค่า (Value) ให้กับผลิตภัณฑ์ได้

คุณ Kawai กล่าวว่าการสร้างรถยนต์ด้วยตนเอง จะทำให้พนักงานรุ่นใหม่ ได้เรียนรู้วิธีการผลิตรถยนต์อย่างลึกซึ้ง แทนที่จะทำงานแค่หยิบชิ้นส่วนจากภาชนะหรือสายพาน ใส่เข้าไปในเครื่องจักรแล้วกดปุ่ม ซึ่งเป็นงานที่ไม่ได้สร้างทักษะอะไร

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์การ ”ลงมือ” ที่เกิดขึ้นคือ การปรับปรุงวิธีการทำงาน (Kaizen) เพื่อลดเศษวัสดุที่เหลือทิ้ง (Scrap) และลดระยะเวลาการผลิต (Lead Time) ให้สั้นลง

 “เมื่อเครื่องจักรสร้างของเสียขึ้นมา พนักงานใหม่ทุกวันนี้ไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะว่าทุกอย่างถูกทำอยู่ในกล่องดำ (Black Box) แน่นอนว่าเราต้องการเครื่องจักรอัตโนมัติมากขึ้น เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพ แต่เครื่องจักรเป็น วิธีการ หนึ่งเท่านั้นไม่ใช่ เป้าหมายคุณ Kawai กล่าวเสริม

ในการทำงานกับระบบอัตโนมัติ พนักงานต้อง ประเมิน ได้ว่า เครื่องจักรยังทำงานตามปกติอยู่หรือไม่ คุณ Kawai เพิ่มเติมว่า กระบวนการทุบขึ้นรูปที่ผิดปกติ สามารถรับรู้ได้จากได้จาก เสียง และ กลิ่น ที่ผิดแปลกไป

ตัวอย่างใกล้ตัวเรื่องหนึ่งคือ เครื่องคิดเลข ที่เป็นเครื่องมือช่วยในการคำนวณ หากเราโยนทักษะคณิตศาสตร์ที่มีทิ้งไป ทุกการคำนวณใช้จิ้มเอาหมด สามัญสำนึก (Sense) ในการจับได้ว่า ตัวเลขในเครื่องไม่ถูกต้อง ก็จะหายไปด้วยครับ

Jeffrey K. Liker และ Elon Musk

คุณ Liker นักเขียนชื่อดัง ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับวิถีโตโยต้าไว้หลายเล่ม ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจในเรื่อง การใช้งานหุ่นยนต์และทักษะของคน ว่า ถึงแม้เทคโนโลยีอย่าง ปัญญาประดิษฐ์ (AI.) หรือ Machine Learning ก้าวหน้าขึ้นมากในปัจจุบัน แต่ ขีดจำกัดของหุ่นยนต์ คือ ความคิดสร้างสรรค์ ความรู้สึกภาคภูมิใจและความเป็นเจ้าของ (Pride and Ownership)

เครื่องจักรเก่งกาจในการทำงานได้อย่างรวดเร็วด้วยต้นทุนต่ำ แต่เครื่องจักรไม่ได้ถูกกำหนดมาให้สร้างความผิดพลาด ในขณะที่ มนุษย์สามารถเรียนรู้ได้จากความผิดพลาด ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงสิ่งต่างๆให้ดีขึ้น

คุณ Liker ได้ย้ำใน 2 ประเด็นคือ ประเด็นแรก พนักงานต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ตนเองกำลังทำงานอะไร คุณค่าในงานคืออะไร และ ประเด็นที่สองคือ องค์กรต้องรักษาทักษะช่างฝีมือไว้ เพราะหากสูญเสียไปแล้ว องค์กรจะไม่สามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวได้

Elon Musk นักธุรกิจและนวัตกรชื่อดัง ผู้เป็น CEO ของรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ได้ให้สัมภาษณ์สื่อครั้งหนึ่ง กล่าวถึงโรงงานของตนเอง ซึ่งกลายเป็นข่าวพาดหัวว่า นรกของการผลิต (Production Hell) หลังจาก Tesla เผชิญปัญหาการส่งมอบรถล่าช้ากว่าแผนเป็นอย่างมาก

แนวคิดตั้งต้นคือ การสร้างโรงงานต้นแบบที่ทันสมัยล้ำยุค ใช้เทคโนโลยีให้มากที่สุดตามแนวคิด การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ แต่ในที่สุดก็พบปัญหาว่า โรงงานมีระบบ Automation มากเกินไป หุ่นยนต์จำนวนมากทำให้เกิด “เครือข่ายอันวุ่นวาย ของสายพานการผลิต”

เพื่อแก้ไขปัญหาเขายอมรับว่าโรงงานมีนโยบาย จ้างแรงงานกลับเข้าไปในกระบวนการ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต แก้ปัญหาคุณภาพและข้อร้องเรียนของลูกค้า ที่บริษัทกำลังเผชิญอยู่

ความสมดุลของระบบการผลิต

หากเปรียบระบบการผลิตเหมือนลูกตุ้มที่กำลังเหวี่ยงจากด้านการใช้แรงงาน ไปสู่จุดใหม่ด้วยเทคโนโลยี ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ความท้าทายของผู้บริหารองค์กร คือการหาจุด “สมดุล” และ “ความเร็ว” ของการเคลื่อนที่นี้

หากลูกตุ้มเหวี่ยงมากเกินไป แรงเหวี่ยงถอยหลังก็จะเกิดขึ้นเพื่อกลับเข้าสู่จุดสมดุล และความเร็วของแรงเหวี่ยงที่เหมาะสมคือ การตอบโจทย์ ความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ ควบคู่ไปกับ การพัฒนาบุคลากรในองค์กร ให้ติดตามและใช้ประโยชน์ได้เท่าทัน จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ครับ

*บทความโดย กฤชชัย อนรรฆมณี Lean and Productivity Consultant / Trainer

[email protected]