อนาคตของการตาย: ความท้าทายในโลกยุค 'ประเพณีนิยม' คลายตัว

อนาคตของการตาย: ความท้าทายในโลกยุค 'ประเพณีนิยม' คลายตัว

ในโลกดิจิทัลที่เปิดกว้างกับแนวคิดที่แตกต่างและหลากหลาย จะนำไปสู่สังคมอนาคตซึ่งจะเปลี่ยนจากเดิมเร็วขึ้นอย่างที่เราคาดไม่ถึง

 นักสังคมวิทยามองว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคต่างๆ ที่แตกต่างกันของความคิด การให้คุณค่าหรืออุดมการณ์ ตลอดจนโลกทัศน์ของมนุษย์  สังคมมนุษย์ได้เปลี่ยนผ่านจากความเป็นสังคมที่เรียบง่าย เป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ ไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ ที่มีวิทยาศาสตร์เป็นหัวใจในการสร้างสรรค์โลก ทั้งในความหมายของโลกทางกายภาพ วัตถุ และโลกทางสังคมของมนุษย์ โลกแห่งความเป็นสมัยใหม่ ทำให้สังคมถูกประกอบสร้างขึ้นอย่างซับซ้อนและแปลกแยกจากธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ในความซับซ้อนนั้นมนุษย์ทั่วโลกมีอุดมการณ์ร่วมกันในการสะสมความมั่งคั่ง การมีชีวิตที่ดี ซึ่งวัดด้วยจำนวนเงินและความรุ่มรวยทางวัตถุ  จนมาถึงจุดที่มนุษย์เรียนรู้ว่าความเป็นสมัยใหม่ ความเจริญนานัปการยังไม่อาจช่วยให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ทรมาน ไม่ว่าจะเป็นด้วยโรคภัยไข้เจ็บทางกาย ทางจิตใจ การเผชิญความทุกข์บนสังคมของความเป็นปัจเจกที่ต่างคนต่างเอาตัวรอด มนุษย์ตั้งคำถามถึงบทบาทของประเพณีหรือวิถีแบบดั้งเดิมที่ดำรงอยู่ว่า จะสามารถปลดปล่อยตนออกจากความทุกข์เหล่านั้นได้หรือไม่ 

 

ในสังคมร่วมสมัย เราอาจกำลังเรียกร้องให้ปัจเจกถูกปลดปล่อยออกจากกรอบของสังคม และเปิดโอกาสให้เสรีภาพในการดำรงอยู่เติบโตได้อย่างอิสระ เรามองเห็นภาพของความหลากหลายได้อย่างชัดเจนในสังคมร่วมสมัยที่โลกทั้งใบอยู่ในวิสัยที่เราจะค้นหาได้ ปัจเจกมีพื้นที่ในการแสดงออกถึงความเป็นตัวตน และความปรารถนาในแบบของเขา สภาวะของการดำรงอยู่จึงเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเติบโตทางความคิดที่ให้ความสำคัญกับเอกภาวะที่หลากหลาย เรากำลังอยู่ในโลกหลังสมัยใหม่ (Post-modern world) ที่ความแตกต่างไม่ใช่อาชญากรรมหรือความเบี่ยงเบน แต่คืออีกรูปแบบหนึ่งของการดำรงอยู่ สังคมคลายตัวออกจากมาตรฐานหรือกติกาชุดใดชุดหนึ่งเพียงชุดเดียวของการอยู่ร่วมกัน และมองหาความเป็นไปได้ที่จะแสดงออกและดำรงอยู่อย่างหลากหลาย

 

ท่ามกลางกระแสของการค้นหาความหมายใหม่ เกิดการเสื่อมคลายลงของสิ่งที่เป็นสถาบันทางสังคมในการสถาปนาความหมายแบบดั้งเดิม หนึ่งในจำนวนนี้คือ ศาสนา  ศาสนาในฐานะสถาบันทางสังคมที่มีอิทธิพลมาช้านานต่อการกำหนดแนวทางชีวิต ความหมายของชีวิตและความตายของมนุษย์ เกิดมาทำไม ทำไมจึงเกิดมาอย่างที่เป็น ตายแล้วไปไหน และอื่นๆ อีกมากมาย นักมานุษยวิทยาผู้ศึกษาวัฒนธรรมและประเพณีของสังคมทั่วโลก เช่น Malinowski (1962: 97) กล่าวว่า “Death, which of all human events is the most upsetting and disorganizing to man’s calculation, is perhaps the main source of religious belief”  สะท้อนให้เห็นว่าความตายอยู่บนขั้วตรงข้ามกับความสุขของมนุษย์ และเป็นบทบาทหน้าที่ของศาสนาในการที่จะทำให้มนุษย์เข้าใจความตายได้ เช่นเดียวกับ Bowker (1991) ที่มองว่าศาสนามีหน้าที่หลักในการจัดการกับความกลัวตายของมนุษย์   

 

อย่างไรก็ดี ศาสนา รวมทั้งประเพณีนิยม วัฒนธรรม และพิธีกรรมทั้งหลายที่สิ้นเปลืองจะมีความหมายก็ต่อเมื่อเชื่อมโยงกับปัจเจก หาไม่แล้ว สิ่งเหล่านี้จะถูกปัจเจกแทนที่ด้วยสิ่งอื่นที่มีความหมายมากกว่า    

 

ปัจเจกมีแนวโน้มที่จะเข้าถึงความหมายที่หลากหลายของการดำรงอยู่ – ชีวิต และความตาย เช่น วัยรุ่นศึกษาศาสนาหลักของโลกไม่ใช่เพื่อที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่เพื่อที่จะเข้าใจ ปัจเจกจะมองหาและเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเองที่สุดจากแหล่งที่หลากหลาย และมารวมกันเป็นชุดของความคิดที่เหมาะสมกับตัวเอง จากตัวอย่างของวัยรุ่นข้างต้น ผลจากการได้มีข้อมูลความรู้เกี่ยวกับศาสนาต่างๆ พวกเขาอาจตัดสินใจที่จะไม่ประกาศตนเป็นสาวกของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เป็น “ผู้ไร้ศาสนา” (Atheist) หรือผู้ที่ไม่เชื่อในพระเจ้า  ความไร้ศาสนาจึงถูกมองเป็นศาสนาประเภทหนึ่ง ที่ผู้ที่มีความเชื่อดังกล่าวจะบูรณาการหลักการที่เหมาะสมมาสู่การปฏิบัติตนให้มีความสุขและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ แม้จะไม่พบสถิติหรือตัวเลขอย่างเป็นทางการของผู้ไร้ศาสนาในประเทศไทย แต่การสืบค้นออนไลน์ทำให้ได้พบกระทู้ที่มีคนจำนวนมากเข้าไปแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้พบว่า คนไทยมีแนวโน้มที่จะมีคนรอบตัวในแวดวงเพื่อนฝูงหรือคนรู้จักประกาศตัวเป็นผู้ไร้ศาสนามากขึ้น เช่น www.nationthailand.com/ your_ say/30366612 หรือดูจากการรวมกลุ่มทางความคิดบนสังคมออนไลน์ เช่น Atheist republic

 

การสำรวจโดย Gallup International 2017 พบว่า ร้อยละ 67 ของพลเมืองจีนประกาศตัวเป็นผู้ไร้ศาสนา ตามมาด้วยญี่ปุ่น (ร้อยละ 29) สโลเวเนีย (ร้อยละ 28) สาธารณรัฐเชค (ร้อยละ 25) และเกาหลีใต้ (ร้อยละ 23) ในขณะที่ประเทศที่มีแนวคิดเสรีอย่างฝรั่งเศส เบลเยี่ยม มีผู้ประกาศตัวเป็นคนไร้ศาสนาร้อยละ 21 และที่น่าสนใจคือ การสำรวจครั้งนี้พบว่าคนไทยเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ที่ประกาศตัวเป็นผู้ไร้ศาสนา ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่ามีอีกส่วนหนึ่งหรือไม่ที่แสดงตนในชุมชนออนไลน์ของผู้ไร้ศาสนาตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การจะนับถือหรือไม่นับถือศาสนาในบางระบบสังคมจัดเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของปัจเจก เพราะเมื่อเราเกิดมาเราก็ไม่ได้มีศาสนาติดตัวมาแต่กำเนิด  

 อย่างไรก็ดี การไร้ศาสนา (Atheism) กับการเป็นรัฐฆราวาสหรือฆราวาสนิยม (Secularism) นั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่มีความหมายเดียวกัน  ความเป็นรัฐฆราวาสไม่ใช่อยู่ที่คนในรัฐไร้ศาสนา แต่หมายถึงการไม่ยินยอมให้ศาสนามีอำนาจเหนือรัฐ สถาบันทางสังคมอื่นๆ หรือต้องไม่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างกลุ่มคนและปัจเจกบุคคล กลไกสำคัญคือการแยกรัฐขาดออกจากศาสนา ต่างเป็นอิสระต่อกัน  รัฐใช้กลไกการปกครองบนหลักเหตุผล สิทธิ ความเสมอภาค และคุณค่าของความเป็นมนุษย์เข้ามาแทนกรอบทางศาสนา และศาสนาในภาคบังคับได้ถูกกำหนดให้เป็นเรื่องส่วนบุคคลและเป็นความสมัครใจ จากแนวคิดเช่นนี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามในหลายเรื่อง ว่าด้วยพื้นที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะ โรงพยาบาล พึงเป็นกลางทางศาสนา การจัดงานศพที่ลดทอนพิธีกรรม หรือเปิดโอกาสให้งานศพเกิดในรูปแบบที่หลายหลาย สอดคล้องกับความต้องการและความเป็นตัวตนของผู้ตายได้ แม้ยังไม่อาจกล่าวได้ว่า สังคมไทยกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นรัฐฆราวาสหรือคนไทยกำลังเป็นคนไร้ศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ แต่มีข้อมูลจำนวนไม่น้อยที่ทำให้เชื่อได้ว่าศาสนามีบทบาทต่อการเจ็บป่วยและการตาย รวมถึงแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการหลังความตายแตกต่างไปจากเดิม

*บทความโดย ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย