ปลาตายน้ำตื้น​ ?

ปลาตายน้ำตื้น​ ?

ระบบการบริหารจัดการทรัพย์สินของหมู่บ้านจัดสรร​ และอาคารชุด​ ตามกฏหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน​ และอาคารชุด​ อาจมีส่วนคล้ายคลึงกัน​

หรืออาจแตกต่างเพียงข้อกฏหมาย​ แต่มีเป้าหมายเรื่องเดียวกัน​ ได้แก่​ ความสงบเรียบร้อย​ ตรงตามวัตถุประสงค์ภายใต้มติที่ประชุมใหญ่สมาชิกผู้ซื้อที่ดินจัดสรร​ และเจ้าของร่วม​ เกิดประสิทธิภาพการบริหารงาน​ ความโปร่งใส​ สามารถตรวจสอบกิจกรรมต่างๆ​  

          ที่ผ่านมาได้​ เปิดโอกาสสมาชิก​ผู้ซื้อที่ดินจัดสรร​ และเจ้าของร่วมมีส่วนร่วมในกิจกรรมส่วนกลางตามความเหมาะสมในฐานะ​ ตัวแทนสมาชิก​ ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรร​ และอาคารชุด​ ส่งเสริม​ สร้างมูลค่าแก่ทรัพย์สิน​ ฯลฯ​ เป็นต้น​ แต่อาจมีข้อสังเกต​ ประการหนึ่ง​ ซึ่ง​เหมือน​ หรือคล้ายคลึงกัน​ ได้แก่​ การไม่ยินดี ยินยอมเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร​ หรืออาคารชุด​ สาเหตุหลัก​อาจได้แก่​ เปลืองตัว​ ถูกตำหนิ​ ติฉินนินทา​ เป็นขี้ปากชาวบ้าน​ หรือมีแต่เรื่องเสมอตัว​ และขาดทุน​ ไม่คุ้มเวลาที่สูญเสียไปต่อการปฏิบัติหน้าที่​ หรือดำรงตำแหน่ง​ดังกล่าว หรือทำงานไม่ได้รับค่าจ้างตอบแทน​ ค่าเบี้ยประชุม​ ฯลฯ​ เป็นต้น​

                         จึงมักพบว่าคณะกรรมการของทั้งหมู่บ้านจัดสรร​ และอาคารชุดส่วนใหญ่​ มักเป็นชุดเดิม​ คนเดิม​ อาจมีเปลี่ยนแปลงบ้าง​ เเต่ก็ยังคงพบเห็นบุคคลชุดดังกล่าว​ เป็นส่วนใหญ่แม้ผ่านไปหลายวาระ​ เป็นเวลาหลายปีก็ตาม​ ซึ่งคณะกรรมการส่วนใหญ่มักด้อย​ หรือขาดความรู้​ ความเข้าใจโดยเฉพาะข้อกฏหมาย​ การเงิน​ บัญชี​ และธนาคาร​ จึงมักตกเป็นเหยื่อ​ของคนรู้มาก​ รู้ดี​ หรือผู้ไม่หวังดี​ จนอาจเกิดความเสียหายต่อนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร​ หรืออาคารชุด​ คอนโดมิเนี่ยมในที่สุด

                         อย่างไรก็ตาม​ ทั้งคณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรร​ และอาคารชุด​ นอกจากมีอาชีพการทำงานเป็นกิจลักษณะขององค์กร​ บริษัท​ เป็นหลักแหล่งแล้ว​ แทบไม่มีเวลาตรวจสอบกิจกรรมการบริหารทรัพย์สินส่วนกลางกับผู้บริหาร​ ผู้รับจ้าง​ หรือผู้จัดการที่ว่าจ้างเข้ามาปฏิบัติหน้าที่​แทน จึงกลายเป็นข้อเสีย​ ข้อบกพร่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการหมู่บ้านจัดสรร​ หรืออาคารชุด​ คอนโดมิเนี่ยม​ บางราย​

                        ความเสียหายจากการบริหารทรัพย์สิน​ ทั้งหมู่บ้านจัดสรร​ และอาคารชุด​ สามารถป้องกันได้ จึงจำเป็นต้องได้บุคลากร​ ผู้รับจ้าง​ บุคคล​ นิติบุคคลที่ซื่อสัตย์​ สุจริต​ มีความรู้​ ความสามารถ​ เข้ามาปฏิบัติหน้าที่​ และจำเป็นยิ่งที่คณะกรรมการดังกล่าว​ ต้องรู้วิธี​ วางแนวทางป้องกันเหตุที่อาจเกิดขึ้นต่อนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร​ และอาคารชุด​ ตลอดจนการตรวจสอบกิจกรรมตามที่ผู้จัดการได้ปฏิบัติตามข้อบังคับ​ มติที่ประชุมฯ​ ไปพร้อมๆกัน​ หรือเป็นระยะๆ​ อีกด้วย

                         เหตุข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ทุจริตของคณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรร​ และอาคารชุด​ ปรากฏทั้งจากสื่อสิ่งพิมพ์​ หรือโซเชียล​ และไม่ปรากฏเป็นข่าว​ อาจมีพอกัน​ หลายท่านทราบ​อีกหลายท่านอาจไม่ทราบ​ แต่เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นแก่นิติบุคคลดังกล่าว​ ทั้งคณะกรรมการ​ และสมาชิกของชุมชนทั้งหมด​ ต่างตกอยู่ในฐานะ​ ผู้เสียหายทั้งสิ้น 

                        ข่าวสารล่าสุด​ อดีตประธานกรรมการหมู่บ้านจัดสรร​ หอบเงินกว่า​ ๒.๕​ ล้านบาท​ หายเข้ากลีบเมฆ​ ผู้ซื้อรวมตัวแจ้งความร้องทุกข์​ ดำเนินคดีตามกฏหมาย​กับพนักงานสอบสวน​ เจ้าหน้าที่ตำรวจ​ ปัจจุบัน​ ตำรวจยังติดตามจับกุมตัวอดีตประธานกรรมการหมู่บ้านจัดสรรรายดังกล่าว​ มิได้​ หรือผู้จัดการคอนโดมิเนียม​ จับมือกรรมการ​ผู้มีอำนาจเบิกจ่าย ร่วมกันทุจริต​ ยักยอกเงินกองทุนของนิติบุคคลอาคารชุดจำนวนกว่า​ ๔​ ล้านบาท​ หนีหาย​ ติดตามตัวผู้ต้องหาทั้งสองรายไม่ได้​ สมาชิก​ และคณะกรรมการเดือดร้อนหนัก​ เพราะเงินกองทุนจำนวนดังกล่าวเป็นของผู้ซื้อ​ เจ้าของร่วม​ ๑๐๐% ไม่เหลือห้องชุดเหลือขายของผู้ประกอบการ​ เจ้าของโครงการอีกแล้ว

 

                        "ช่องโหว่" กลายเป็นความเสียหายดังกล่าว​ หรือความเสียหายในกรณีอื่นๆ​ ล้วนเกิดจาก​ "ข้อบกพร่อง​" เรื่องต่างๆ​ ดังต่อไปนี้ 

                        ๑.​   กฏ​ ระเบียบ​ และข้อบังคับ​ "มีช่องโหว่"

                        คนโง่มักเป็นเหยื่อของคนฉลาด​ ใช้กฏ​ ระเบียบ​ ข้อบังคับที่มีช่องโหว่​ เป็นเครื่องมือทำมาหากิน​ ฉกชิงผลประโยชน์​ จนเกิดความเสียหายแก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร​ และอาคารชุด​ คอนโดมิเนี่ยม

                        ที่ประชุมใหญ่สมาชิกจำเป็นต้องร่วมกันพิจารณาอุดช่องโหว่ดังกล่าวให้น้อย​ หรือไม่มี​                   เพื่อป้องกันมิให้ใช้กฏ​ ระเบียบ​ ข้อบังคับไปในทางมิชอบ

                       ๒.​ จำนวนผู้มีอำนาจเบิกจ่ายเงิน​ "มีน้อยเกินไป"

                        เหตุเพราะเกิดความไว้วางใจระหว่างกัน​จนเกินควร​ จนผู้จัดการ​ และกรรมการผู้มีอำนาจ​ ร่วมมือ​ จับมือกันเบิกจ่ายเงินของนิติบุคคลอาคารชุดไปใช้โดยมิชอบ

                        ๓.​ บริหารงานกันเอง​ ไม่ใช้บุคคล​ หรือนิติบุคคลภายนอก​ "คนกลาง" รองรับ   

                        อาจเกิดจากหลายสาเหตุ​ ทั้งงบประมาณรายรับไม่เพียงพอ​ หรือต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย​            จึงเลือกใช้แนวทางการบริหารด้วยการอาศัยบุคคล​ คนภายในชุมชนดังกล่าวด้วยกันเอง​ แต่ด้วยความเกรงใจ​ ไม่กล้าดุด่า​ ว่ากล่าว​ หรือตำหนิ​ จึงกลายเป็นความเสียหายแก่นิติบุคคลฯ​ ในภายหลัง

                        ๔.​ ร่วมกันทุจริต​ ปลอม​ และใช้เอกสารปลอม​เอกสารสำคัญของนิติบุคคลฯ​ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์

                        ทั้งคูปองจอดรถยนต์​ รถจักรยานยนต์​ บัตรผ่านเข้า​ ออกหมู่บ้านจัดสรร​ และอาคารชุด​ ถูกผู้ซื้อ​ สมาชิกบางราย​ หาผลประโยชน์ในทางมิชอบ​ ทั้งขายกรรมสิทธิ์​ หรือร่วมกันทุจริต​ ปลอม​ และใช้เอกสารปลอม​ เนื่องจากทรัพย์ส่วนบุคคล​ มีหลายห้อง​หลายแปลง​ อีกทั้งมิได้ใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินดังกล่าว 

                        ๕.​ พยายามหาช่องทางทุกทาง​ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจของนิติบุคคลฯ​

                        แนวทางสุจริต​ เพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมการทั้งหมู่บ้านจัดสรร​ และอาคารชุด​ สามารถกระทำได้​ สอดคล้องกฏหมาย​ และข้อบังคับ​ กลับไม่ทำให้ถูกต้อง​ แต่มีบุคคลบางคน​ บางราย​ กระทำในทางไม่สุจริต​ เพียงเพื่อให้​ (ตน)​ ได้มาซึ่งอำนาจการบริหารนิติบุคคลฯ​ อาจเกิดจากความไม่รู้​ ไม่ทราบข้อกฏหมาย​ หรือรู้​ ทราบดี​ หรือการปล่อยปละละเลยการเข้าประชุมใหญ่ของสมาชิก​ ผู้ซื้อ​ เจ้าของร่วม​ ส่วนใหญ่

 

บทความโดย นายพิสิฐ ชูประสิทธิ์

นายกสมาคมนักบริหารอาคารชุด – หมู่บ้านจัดสรรไทย และ

"ที่ปรึกษา" ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ

ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มบริษัทบีจีเอ กรุ๊ป

Email address: [email protected]

โทรศัพท์ : ๐๘๙ ๘๑๔ ๒๒๙๗, ๐๘๙ ๔๘๗ ๓๖๘๖