ปัจจัยความสำเร็จของนวัตกรรม

ปัจจัยความสำเร็จของนวัตกรรม

หากตีความหมายของคำว่า “นวัตกรรม” ให้หมายถึงการนำเสนอสิ่งใหม่ที่มีผู้ยอมรับและเลือกนำไปใช้ประโยชน์ที่เหนือกว่าแทนที่สิ่งที่มีอยู่แล้ว

เราอาจกำหนดปัจจัยความสำเร็จของนวัตกรรม ได้อย่างน้อย 2 ปัจจัยสำคัญ ซึ่งได้แก่ ปัจจัยก่อนหน้าที่จะค้นพบสิ่งที่มีความแปลกใหม่ และปัจจัยที่จะนำสิ่งที่ค้นพบใหม่นั้นไปนำเสนอและแนะนำให้ผู้คนเกิดการยอมรับและตัดสินใจนำ “สิ่งใหม่” นั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ที่ผู้สรรสร้างนวัตกรรมขึ้นมามีวัตถุประสงค์ในการแสวงหาประโยชน์จากผลกำไรที่เกิดขึ้นจากการนำนวัตกรรมนั้นออกสู่ตลาด

ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการสร้างนวัตกรรมทั้ง 2 ปัจจัยนี้ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับองค์กรธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจขนาดเอสเอ็มอี หรือธุรกิจสตาร์อัพ

ปัจจัยแรก สำหรับการค้นพบสิ่งใหม่ที่ตลาดยังไม่เคยรู้จักมาก่อน มักเกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ การมองเห็นโอกาสทางการตลาด และการมีความรู้ที่จำเป็นในการสร้างสิ่งใหม่นั้นให้เกิดเป็นความจริงที่เป็นรูปธรรมขึ้นมาได้

หากเป็นนวัตกรรมด้านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ องค์ความรู้ที่จำเป็นนี้ ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี และรู้ว่าจะนำเทคโนโลยีนั้นมาใช้สร้างสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ยังไม่เคยมีในตลาดมาก่อนได้

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการสร้างนวัตกรรมให้กับองค์กร หรือ นวัตกรที่จะนำความรู้ด้านเทคโนโลยีมาประยุกต์สร้างสรรค์เป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นวัตกรรมนั้น มักจะมีขั้นตอนความคิดที่เป็นกระบวนการอย่างเป็นขั้นตอน

กระบวนการแรกที่สุดก็คือ กระบวนการสร้างความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากวิธีการต่าง ๆ เช่น อยู่ ๆ ก็คิดขึ้นได้เอง การค้นคว้าหาไอเดียใหม่ ๆ จากสื่อต่าง ๆ เช่น สื่ออินเตอร์เน็ต ตำรา บทความวิชาการ หรือ แม้กระทั่งข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในสิทธิบัตรต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ

หลังจากได้ไอเดียนวัตกรรมแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ การลองเอาความคิดสร้างสรรค์ทางเทคโนโลยีนั้น มาลองวาดภาพในการประยุกต์ใช้ในส่วนใดส่วนหนึ่งหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งชิ้น ซึ่งอาจเป็นการสเก็ตภาพ การเขียนแบบ หรือการวาดชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่จะทำให้เทคโนโลยีที่เลือกไว้สามารถใช้งานได้ตามความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นสิ่งใหม่ทั้งหมด หรือการเลียนแบบบางส่วนของสิ่งที่มีคนคิดไว้แล้ว

การสะเก็ตภาพออกมาก่อน จะช่วยลดความเสี่ยงที่ความคิดที่คิดไว้จะเกิดปัญหาในระหว่างที่ลงมือทำ ซึ่งจะทำให้ต้องแก้ไขและทำให้ต้นทุนของการสร้างนวัตกรรมสูงขึ้นกว่าที่คาดคิดไว้ หรือนวัตกรรมอาจล้มเหลวไปได้ก่อนเกิดเลยทีเดียว

ภายหลังได้ภาพความคิดออกมาอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการพยายามสร้าง “ต้นแบบ” ของผลิตภัณฑ์ และทดลองให้ “ต้นแบบ” สามารถทำงานหรือใช้งานได้จริงตามที่คิดไว้ ก่อนที่จะพัฒนา “ต้นแบบ” ให้มีรูปแบบหรือดีไซน์ที่สวยงาม ดึงดูดใจให้ซื้อ หรือให้เกิดความสะดวกและเหมาะสมสำหรับใช้งานได้โดยสะดวกมากกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในตลาด

ปัจจัยที่ 2 ซึ่งเกี่ยวกับการโน้มน้าวใจให้กลุ่มเป้าหมายทางการตลาดตัดสินใจหันมาเลือกซื้อหรือเลือกใช้ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ต้องการนำเสนอ

หลุมพรางที่สำคัญของนวัตกรที่มักเกิดขึ้นก็คือ ความเชื่อมั่นในตัวเองว่า สินค้านวัตกรรมของตนเองจะต้องได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากตลาด แต่ลืมข้อเท็จจริงที่สำคัญไปว่า “ความใหม่” เป็นสิ่งที่ท้าทายการยอมรับของตลาดและผู้บริโภคอย่างยิ่ง เนื่องจากความไม่คุ้นเคย ไม่รู้จัก หรือ “กลัว” ต่อความใหม่ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน

จะเห็นได้ว่า ก่อนที่การสร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ จะประสบความสำเร็จได้ จะต้องคำนึงถึงทั้งในด้านของความสามารถในการสร้างสรรค์เพื่อทำให้ความคิดกลายเป็นความจริงขึ้น และการทำให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายเกิดความเข้าใจกับความใหม่ที่นำเสนอ

หากปัจจัยทั้ง 2 ไม่ได้รับการคำนึงไว้ล่วงหน้าโดยละเอียดตามสมควร อาจเป็นคำตอบที่อธิบายได้ว่า เหตุใดความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอนวัตกรรมสู่ตลาดของบรรดาธุรกิจไม่ว่าจะมีขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจสตาร์อัพ จึงมักจะไม่ประสบความสำเร็จ