‘ใบขับขี่ตลอดชีพ’ ความเสี่ยงภัยของผู้ขับขี่ ‘วัยสูงอายุ’

‘ใบขับขี่ตลอดชีพ’ ความเสี่ยงภัยของผู้ขับขี่ ‘วัยสูงอายุ’

ผู้มีใบขับขี่ตลอดชีพที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปต้องทดสอบสมรรถภาพความพร้อมในการขับรถอีกครั้ง

 กลายเป็นประเด็นถกเถียงเมื่อช่วง ส.ค.ที่ผ่านมา และกรมขนส่งออกมาปฏิเสธทันที แต่อย่างไรก็ตามประเด็นความปลอดภัย ยังเป็นเรื่องน่าห่วง ซึ่งควรมีการพิจารณาทางออกเรื่องนี้บนข้อมูลที่มี่ทั้งจำนวนผู้ถือใบผู้ขับขี่และอุบัติเหตุ

เดิมทีการให้ใบอนุญาตขับรถอยู่ในการกำกับดูแลของกองทะเบียน กรมตำรวจหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบัน สาเหตุของการออกใบอนุญาตขับรถตลอดชีพ เพราะต้องการลดปริมาณการติดต่อราชการ ซึ่งภายหลังภารกิจดังกล่าวถูกโอนย้ายมายังกรมการขนส่งทางบกในปี พ.ศ. 2531 และเปลี่ยนระบบการออกใบอนุญาตขับขี่มาเป็นดังเช่นปัจจุบัน และในปี 2546 พระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2546 ได้ยกเลิกใบขับขี่ตลอดชีพ แต่ในบทเฉพาะกาลยังให้ใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพยังใช้ต่อไปได้ ซึ่งหากคาดการณ์ความเป็นไปได้ว่าใบขับขี่ตลอดชีพจะหมดไปเมื่อใด อาจตั้งสมมติฐานว่าผู้มีสิทธิขอรับใบขับขี่ตลอดชีพที่มีอายุน้อยที่สุดในปี 2546 คือ 20 ปี เท่ากับว่าปัจจุบันกลุ่มคนเหล่านี้จะมีอายุประมาณ 36 ปี ดังนั้น ใบขับขี่ตลอดชีพจะยังอยู่กับเราไปอีกอย่างน้อย 35-40 ปี

นอกจากนี้ ข้อมูลสถิติจำนวนใบขับขี่ตลอดชีพสะสมจากกรมการขนส่งทางบก พบว่ามีจำนวนใบขับขี่ตลอดชีพอยู่ประมาณ 12 ล้านใบ แต่หลังจากปี 2547 พบว่าจำนวนใบขับขี่ตลอดชีพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงเกิดคำถามว่าข้อมูลที่กรมการขนส่งทางบกจัดเก็บมีการปรับปรุงข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ และจำนวนที่แท้จริงของใบขับขี่ตลอดชีพที่มีอยู่ในปัจจุบันมีเท่าใด

สถิติอุบัติเหตุสะท้อนปัญหาใบขับขี่ตลอดชีพในวัยผู้สูงอายุที่มาพร้อมกับโรคของผู้สูงวัย

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา คือ อายุส่งผลต่ออัตราการเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ ซึ่งข้อมูลสถิติจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนโดยกรมควบคุมโรค พบว่าช่วงอายุ 15-24 ปี และช่วง 50-80 ปี มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดเมื่อเทียบกับช่วงอายุอื่น แม้สถิติดังกล่าวจะไม่ได้สะท้อนให้เห็นว่าปัจจัยด้านอายุมีผลต่ออัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาระบบใบอนุญาตขับรถให้เหมาะสมกับประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าสภาวะในมิติทางการแพทย์มีปัจจัยบางประการ ที่อาจส่งผลต่อสมรรถนะร่างกายในการขับขี่ที่ปลอดภัย เช่น การหมดสติอย่างฉับพลัน ความผิดปกติของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ความผิดปกติของระบบประสาท เป็นต้น ซึ่งผู้สูงอายุมีความเสี่ยงในการเกิดสภาวะดังกล่าว จึงสามารถอนุมานได้ว่า อายุที่มากขึ้นและสมรรถภาพทางร่างกายที่ลดลง อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นของกลุ่มผู้ขับขี่ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป

มาตรการด้านการตรวจสุขภาพในการออกใบอนุญาตขับขี่ของต่างประเทศ

แนวทางการป้องกันความเสี่ยงด้านสุขภาพต่อความปลอดภัยในการขับขี่ของผู้ขับขี่ในต่างประเทศ เป็นอีกสิ่งที่ประเทศไทยควรนำมาพิจารณา เช่น ในกลุ่มสหภาพยุโรป กระบวนการออกใบขับขี่ของประเทศ ส่วนใหญ่จะกำหนดให้มีการตรวจสอบสมรรถภาพทางกายอีกครั้ง (Retest) เมื่อผู้ขับขี่มีอายุครบตามเกณฑ์ที่กำหนด เช่น สวีเดนกำหนดอายุที่ 45 ปี หลังจากนั้นต้องตรวจสอบสมรรถภาพทางกายในทุก 10 ปี ฝรั่งเศสกำหนดเกณฑ์อายุที่ 60 ปี และต้องตรวจสอบหลังจากนั้นในทุก 2-5 ปี หรือกรณีออสเตรเลีย แม้รัฐจะไม่ได้กำหนดเกณฑ์อายุสูงสุดไว้แต่มีมาตรการควบคุมดูแลผู้ขับขี่ที่มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป จะต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจสอบว่ามีอาการหรือมีความผิดปกติตามหลักเกณฑ์ที่รัฐกำหนดหรือไม่ และออกใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพดีพอที่จะขับขี่รถ (Fit to Drive)

วิเคราะห์ผลได้ผลเสียของใบขับขี่ตลอดชีพเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด

       โจทย์ประการสำคัญที่กรมการขนส่งทางบกต้องดำเนินการให้เกิดความชัดเจนคือ จำนวนของผู้ถือใบขับขี่ตลอดชีพ และปัญหาการมีใบขับขี่ตลอดชีพในปัจจุบัน โดยดำเนินการทบทวนข้อมูลจำนวนใบขับขี่ตลอดชีพที่มีอยู่จริงให้เชื่อมโยงกับข้อมูลทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง เพื่อตรวจสอบสถานะทางทะเบียนของผู้มีใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพในปัจจุบัน หากพิจารณาแล้วเห็นว่า จำนวนใบขับขี่ตลอดชีพ


มีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับอัตราส่วนประชากรผู้ถือใบขับขี่และการเกิดอุบัติเหตุ ย่อมแสดงให้เห็นว่าใบขับขี่ตลอดชีพไม่มีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุอย่างมีนัยยะสำคัญ และอาจไม่มีความจำเป็นต้องทบทวนหรือยกเลิกใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพ เพียงแต่รอให้ใบอนุญาตเหล่านั้นหมดอายุไป ในทางกลับกัน หากพิจารณาแล้วเห็นว่า จำนวนผู้ถือใบขับขี่ตลอดชีพส่งผลต่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน รัฐจำเป็นจะต้องมีการทบทวนใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพเพื่อรักษาสมดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะกับสิทธิของปัจเจกบุคคล โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ

ดังนั้น หากรัฐมีความจำเป็นจะต้องแก้ไขหรือยกเลิกเรื่องใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพ รัฐต้องดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 โดยกำหนดเกณฑ์อายุที่จะยกเลิกใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพ และให้ผู้ถือใบอนุญาตขับขี่ดังกล่าวกลับมาตรวจสอบสมรรถภาพในการขับขี่หากยังต้องการขับขี่รถอีกครั้ง หลังจากนั้นจะได้รับใบอนุญาตขับรถชนิดอายุ 5 ปีที่มีในปัจจุบันแทน ซึ่งเรื่องเกณฑ์อายุควรกำหนดให้เป็นช่วงอายุ 60-70 ปี

ส่วนหลักเกณฑ์หรือขั้นตอนในการตรวจสอบสมรรถภาพควรกำหนดไว้ในระเบียบหรือกฎกระทรวงสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งในเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นใหม่และยังเป็นประเด็นที่ต้องหยิบมาพิจารณาทุกครั้งที่มีกระแสข่าว ซึ่งหากสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะเป็นการลดอุบัติเหตุในการขับขี่ของผู้สูงอายุแล้ว ยังทำให้ผู้ขับขี่รถอยู่ภายใต้กรอบปฏิบัติเดียวกัน และสร้างความมั่นใจให้กับนานาชาติได้ว่า ประเทศไทยมีการจัดการเพิ่มศักยภาพด้านการขับขี่ปลอดภัย ช่วยลบภาพจำประเทศที่ขับขี่ไม่ปลอดภัยและครองแชมป์อุบัติเหตุทางถนน

 *บทความโดย ณภัทร ภัทรพิศาล และ ฉัตรฑริกา นภาธนาพงศ์