ปรับตัวอย่างไรให้ทันโลกและยั่งยืน 

ปรับตัวอย่างไรให้ทันโลกและยั่งยืน 

สถานการณ์โรคระบาดโควิดอยู่กับเรามาเกือบครบปีแล้ว แม้ปัญหาเฉพาะหน้ายังมีให้แก้มากมาย 

ทั้งการป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบคู่ขนานไปกับมาตรการสาธารณสุข แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในบางเรื่องของโลกมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราควรตระหนักเพื่อวางแผนเดินไปข้างหน้าอย่างทันต่อสถานการณ์ บทความนี้ขอเลือกกล่าวถึงแนวโน้มที่สำคัญ 3 ประการ ซึ่งไทยควรวางแผนรับมือ คิดกลยุทธ์ในการปรับตัวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและเสริมสร้างศักยภาพของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

  

ประการที่หนึ่งการเตรียมรับมือผลกระทบจากการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีน ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐในเดือนพฤศจิกายนนี้ การแข่งขันระหว่างสองประเทศมหาอำนาจนี้จะดำเนินต่อไปทั้งในด้านการค้าและการเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี อันจะสร้างทั้งปัญหาและโอกาสให้กับนานาประเทศ รวมทั้งไทย

             ในแง่ปัญหา ความเสี่ยงของมาตรการทางการค้าและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจะมีต่อไปและอาจทวีความรุนแรงขึ้น  ในโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น การประกอบธุรกิจที่มุ่งคิดแต่เรื่องประสิทธิภาพ (efficiency) หรือการประหยัดต้นทุน จะไม่เพียงพอ ต้องเปลี่ยนไปให้ความสำคัญความสามารถในการรับมือการเปลี่ยนแปลง (resilience) เป็นเรื่องหลักด้วย ธุรกิจต่างๆโดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีต้องมีแผนการรับมือกับความผันผวน ไม่พึ่งพาแหล่งผลิตหรือตลาดแห่งใดแห่งหนึ่งมากเกินไป เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้แม้มีการกีดกันรุนแรงเกิดขึ้น นอกจากผลกระทบทางการค้าโดยตรงแล้ว มีความเป็นไปได้สูงที่การกีดกันด้านเทคโนโลยีจะนำไปสู่ระบบเทคโนโลยีคู่ขนานในโลก ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีของสหรัฐและของจีนกำลังพัฒนาไปในทิศทางที่เป็นเอกเทศต่อกัน  ไม่เชื่อมต่อกัน อันจะนำไปสู่ปัญหาด้านประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ

               นอกจากนี้ประเทศต่างๆเริ่มมีนโยบายหันมาเน้นความสามารถในการพึ่งตนเองได้มากขึ้น โดยเฉพาะด้านอาหาร พลังงาน และสาธารณสุข ซึ่งทำให้ประเทศใหญ่ที่มีทรัพยากรและเงินทุนสูงมีความได้เปรียบ  ส่วนประเทศขนาดกลางและเล็กโดยเฉพาะที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติพอเพียงด้วยตนเอง จะต้องพึ่งการสร้างภาคีแนวร่วมทางการค้าเพื่อความอยู่รอด สำหรับไทยนั้น แม้จะมีทรัพยากรทางอาหารและพลังงานอยู่บ้าง ก็ยังต้องพึ่งการนำเข้า และการนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรกลและสาธารณสุขก็ยังจำเป็นยิ่ง ดังนั้นการเป็นสมาชิกความตกลงทางการค้ากับประเทศคู่ค้าสำคัญทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชียยังเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องสนับสนุนต่อไป และขยายวงให้กว้างขึ้นเพื่อบริหารความเสี่ยง

           นโยบายพึ่งตัวเองมากขึ้นของประเทศต่างๆจะส่งผลให้ปริมาณการค้าของโลกเติบโตช้าลงเมื่อเทียบกับทศวรรษก่อน ทำให้ประเทศที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจพึ่งพาการค้าสูงมีการเติบโตที่ชลอลงอีกด้วย ทำให้การพัฒนาอุปสงค์และศักยภาพภายในประเทศทวีความสำคัญยิ่งขึ้น อันมีนัยยะสำคัญต่อความสำคัญของการส่งเสริมการจ้างงานในประเทศและการมีเงินทุนหมุนเวียนที่เพียงพอของธุรกิจขนาดกลางและย่อม

           ในแง่โอกาส บริษัทข้ามชาติในจีนได้เริ่มขยับขยายหาที่ประกอบการใหม่เพื่อเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ประเทศในอาเซียนเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียยังสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ ทำให้บริษัทผู้ประกอบการยังต้องการอยู่ใกล้ตลาดที่มีพลังการซื้อขาขึ้น การดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติเหล่านี้ย้ายจากจีนมาไทยจะช่วยทั้งดึงเงินลงทุนและสร้างงานให้กับคนไทยในระยะยาว

         นอกจากนี้การค้าในแถบเอเชียเองน่าจะยังเติบโตไปได้ในอัตราที่สูงกว่าการค้าโลก เพราะประเทศในเอเชียมีห่วงโซ่การผลิตที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว และมีความตกลงทางการค้าในภูมิภาคที่เอื้ออำนวย ทุกประเทศก็ยังไม่สามารถผลิตสินค้าที่จำเป็นทุกอย่างได้ด้วยตนเอง การนำเข้าจากพันธมิตรในเอเชียจึงยังเป็นสิ่งที่จำเป็น สินค้าจากไทยที่น่าจะได้รับโอกาสดีจากคู่ค้าในภูมิภาคคือกลุ่มสินค้าเกษตร อาหาร และวัตถุดิบในการผลิตเป็นต้น การรองรับการขยายตัวของอุปสงค์สำหรับสินค้ากลุ่มนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสำหรับกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร รวมทั้งการบริหารจัดการแหล่งน้ำและระบบโลจิสติกส์

 

ประการที่สองความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน การใส่ใจในการดูแลสิ่งแวดล้อม ความเป็นธรรมทางทางสังคมและธรรมาภิบาล (Environment Social and Governance - ESG) ได้รับการยอมรับกระจายกว้างมากขึ้นในประชาคมโลก และทวีความสำคัญต่อการตัดสินใจทางธุรกิจและการลงทุน 

          วิกฤติโควิดทำให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความเร่งด่วนในการรักษาสิ่งแวดล้อม ในวงการเศรษฐศาสตร์มีการตื่นตัวในการคำนวณผลเสียของการไม่ดูแลสิ่งแวดล้อมให้พอเพียง  การลงทุนโดยสถาบันต่างๆเริ่มมีการกำหนดข้อแม้ในการลงทุนโดยให้ความสำคัญหรือให้คะแนนของการดูแลสิ่งแวดล้อม ความเป็นธรรมทางสังคมและธรรมาภิบาล ร่วมกับข้อพิจารณาทางกำไร

           การให้ความสำคัญกับปัจจัยในระยะยาวที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จนอกเหนือไปจากตัวเลขกำไรขาดทุนนับเป็นปรากฏการณ์ที่ดี ช่วยให้ผู้มีส่วนร่วม stakeholders ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ลูกจ้าง ผู้ถือหุ้น หรือชุมชนได้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง 

            ในประเทศไทยนั้นก็มีการตื่นตัวในเรื่องนี้อยู่เป็นทุนแล้วซึ่งภาคประชาชนมีส่วนผลักดันมาก ทั้งการดูแลสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานทางเลือก การตื่นตัวในการต่อต้านคอร์รัปชัน รวมทั้งการให้โอกาสทางกฎหมายและความคุ้มครองที่เท่าเทียมมากขึ้น เหล่านี้เป็นนิมิตหมายที่ดี  

                การผลักดันต่อไปให้มีการลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม สัมฤทธิ์ผลและขยายผลต่อไป จะช่วยสร้างมั่นใจให้กับนักลงทุนและเพิ่มความเชื่อมั่นในศักยภาพของไทยในระยะยาว 

 ประการที่สามการขยายตัวอย่างรวดเร็วของธุรกรรมออนไลน์และดิจิตัล การแพร่หลายอย่างรวดเร็วในด้านนี้ ทำให้มีความเร่งด่วนที่จะช่วยให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีความรู้พื้นฐานทางดิจิตัลและสามารถเข้าใช้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงได้อย่างเท่าเทียมกันที่สุด หากไม่มีการให้ความช่วยเหลือให้ทันการให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและโอกาสทางธุรกิจผ่านทางออนไลน์และดิจิตัล  ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะทวีความรุนแรงขึ้นจนยากที่จะแก้ไข ความแตกต่างที่กว้างขึ้นเรื่อยๆจะนำไปสู่ปัญหาสังคมและความมั่นคงทางการเมือง จึงเป็นการเร่งด่วนที่ภาครัฐควรมีแผนแม่บทบริหารจัดการการเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงและให้ความรู้ทางดิจิตัลพื้นฐานแก่ประชาชนตามชุมชนต่างๆทั้งในตัวเมืองและชนบทโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน การเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงและความรู้ทางดิจิตัลนี้ควรนับเป็นสาธารณูปโภคที่จำเป็น เพราะจะเป็นเครื่องมือและทักษะที่สำคัญของประชาชนในการประกอบอาชีพในอนาคต

          ทั้งสามประการที่กล่าวมานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่และจะทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆในอนาคตอันใกล้ จึงมีความจำเป็นที่ไทยจะต้องทำความเข้าใจ ตระหนักถึงข้อได้เปรียบและเสียเปรียบของประเทศ เพื่อวางแผนเดินหน้าบริหารความเสี่ยงและสร้างโอกาสจากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงต่อไป

 *บทความโดย สายธาร หงสกุล