สะพานลอยที่ไร้น้ำใจ

สะพานลอยที่ไร้น้ำใจ

ในทางวิชาการการผังเมือง นักผังเมืองจะไม่นิยมทางเลือก “สะพานลอย” สำหรับให้คนใช้เดินข้ามถนนสักเท่าไร

เพราะเขาคิดและเชื่อกันว่าสิทธิของคนควรต้องมากกว่าสิทธิของรถยนต์ ดังนั้น รัฐจึงควรต้องอำนวยความสะดวกให้แก่คนมากกว่ารถ

ซึ่งนั่นหมายความว่ารัฐควรใช้ระบบทางม้าลายมากกว่าสะพานลอย และต้องออกกฎ รวมทั้งบังคับใช้กฎนั้นให้เกิดความปลอดภัยแก่คนที่กำลังเดินข้ามถนน แต่นั่นมันภาคทฤษฎี ส่วนในทางปฏิบัติในบริบทของสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำสูง เสียงของคนขับรถยนต์มักดังกว่าเสียงของคนเดินเท้า และสะพานลอยก็ยังคงจะเป็นวิถีชีวิตในการข้ามถนนของคนกรุงต่อไป

ในบทความนี้เราจะขอนำเสนอปัญหาที่มีอยู่จริงของสะพานลอย รวมทั้งข้อเสนอในการกำจัดปัญหานั้นให้หมดไป เพื่อเรา คนเดินถนน จะได้ข้ามถนนได้อย่างสะดวกและปลอดภัย

ย้อนเวลากลับไป 24 ปี หรือในปี 2539 ขณะที่ผมกำลังเดินผ่านสะพานลอยแห่งหนึ่งที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างแถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ผมได้เห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นแก่คนเดินเท้าเมื่อสะพานลอยนั้นสร้างเสร็จ ปัญหาที่ว่าคือ ความกว้างของตัวบันไดของสะพานลอยนั้น ที่มันกว้างเสียจนเกือบเต็มทางเท้า ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จแล้วจะไม่มีทางเหลือให้คนเดินเลยแม้แต่น้อย ทำให้คนสัญจรไปมาแถบนั้นต้องลงไปเดินเสี่ยงอันตรายบนถนนอย่างไม่มีทางเลือก และที่เลวร้ายสุดๆ คือ จะต้องเสี่ยงอันตรายนั้นทุกวันๆ อย่างถาวรและตลอดไป จะเรียกว่าเป็นสะพานลอยไร้น้ำใจ หรือสะพานลอยเจ้าปัญหาก็คงได้

160203269265

ภาพที่ 1  สะพานลอยที่ไร้น้ำใจเมื่อสร้างเสร็จจะไม่มีพื้นที่ให้คนเดินบนทางเท้าได้ตลอดไป (พ.ศ. 2539)

จำได้ว่าในห้วงเวลานั้นผมได้เขียนบทความไปลงหนังสือพิมพ์ชี้ให้เห็นปัญหา โดยหวังว่าเรื่องนี้จะถูกนำส่งไปถึงหูของผู้บริหารในกรุงเทพมหานคร และมีการแก้ไขขึ้นก่อนที่จะก่อสร้างไปจนเสร็จ และปัญหานี้กลายเป็นปัญหาที่ถาวรอย่างที่ไม่ควรเป็น ซึ่งก็โชคดีที่กรุงเทพมหานครได้ยอมปรับแบบและให้ผู้รับเหมาทุบบันได “ส่วนเกิน” นั้นออกไปข้างหนึ่ง ที่แม้จะทำให้บันไดแคบลง แต่ก็ทำให้การใช้งานของทั้งสะพานลอยและทางเท้าสามารถดำเนินไปได้ 

160203275090

ภาพที่ 2  สะพานที่ทุบบันไดออกไปส่วนหนึ่ง ทำให้มีช่องให้คนเดินเท้าและจักรยานยังสามารถเดินได้ต่อไป

ตรงนี้เรามีข้อสังเกตอยู่ 2 ข้อ คือ 1.น่าดีใจที่กรุงเทพมหานครยอมปรับแบบให้การใช้งานมันเกิดขึ้นได้จริง โดยไม่ยึดติดกับรูปแบบตามสัญญาอย่างแข็งตึง และ 2.การปรับหรือดัดแปลงแบบให้สิ่งก่อสร้างนั้นมันใช้งานได้จริงตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แม้จะไม่ตรงกับสัญญาที่ทำไว้แต่แรกก็ตาม

แต่ไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลใดที่วิธีการนี้กรุงเทพมหานครมิได้นำไปใช้ในการก่อสร้างสะพานลอยที่มีตามมาอีกมากมายหลายสะพานลอย และยังคงใช้กระบวนการเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นสะพานลอยแบบมาตรฐานเดิม รวมทั้งการทำสัญญาและก่อสร้างแบบเดิม ทำให้สุดท้ายแล้วสะพานลอยอีกหลายแห่งก็ยังคงกว้างเต็มทางเท้า และคนเดินเท้าต้องถูกบังคับให้ลงไปเดินบนถนนเสี่ยงอันตรายเช่นเดิม

160203305886

  ภาพที่ 3  สะพานลอยที่บันไดยังคงกว้างเต็มทางเท้า (พ.ศ. 2557)

สาเหตุที่บันไดสะพานลอยในช่วงหลังๆ ยังกว้างเต็มทางเท้าในบางพื้นที่ เราเข้าใจว่าเป็นเพราะกรุงเทพมหานครยึดถือและใช้แบบมาตรฐานของสะพานลอย (สังเกตได้ว่าไม่ว่าสะพานลอยจะสร้างที่ไหน รูปร่างหน้าตาและขนาดจะคล้ายๆ กัน) โดยคงอิงกับกฎหมายหรือกฎกระทรวงของตัวเอง ที่กำหนดให้บันไดสาธารณะต้องกว้างไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร ซึ่งเมื่อรวมกับอุปกรณ์ควบของบันได เช่น คาน ราวกันตก ก็ทำให้ความกว้างทั้งหมดของบันไดยาวเกือบหรือเกิน 2 เมตร ซึ่งรังแต่จะก่อให้เกิดปัญหาดังที่ได้กล่าวมา หากทางเท้าบริเวณนี้มีขนาดเพียง 2 เมตรเศษ

ปัญหานี้แก้ได้ไม่ยากเลย เพียงแต่กรุงเทพมหานครต้องส่งเจ้าหน้าที่หรือวิศวกรลงสำรวจพื้นที่จริง และปรับแบบให้ตรงกับสภาพจริงในสนามก่อนการประมูล โดยยังอาจใช้แบบมาตรฐานเพื่อความสะดวกดังเดิมก็ได้ แต่ให้ใส่เงื่อนไขไว้ในแบบแปลนและสัญญาเพียงให้สามารถปรับแบบให้สอดคล้องกับบริบทจริงในงานภาคสนามได้เท่านั้น

แค่นี้ทุกคนก็รับประโยชน์ด้วยกัน เป็น win-win สำหรับทั้งกรุงเทพมหานครและประชาชนผู้เดินเท้า

ขอเถิดนะครับ สร้างสะพานลอยครั้งต่อๆ ไป กรุณาสร้างแบบที่ให้เราเดินได้ด้วย จะเป็นพระคุณยิ่งเลยครับ

โดย...

ธงชัย  พรรณสวัสดิ์

สถาบันการเดินและการจักรยานไทย

ชัยพร  ภูผารัตน์

สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย

ชัยยุทธ  โล่ธุวาชัย

Bike in the City ปั่นรักพิทักษ์เมือง