ทัวร์ลง

ทัวร์ลง

ปรากฏการณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งในแวดวงของ Social Media

      ในประเทศไทยในระยะหลังนี้ก็คือสิ่งที่เรียกกันว่า  “ทัวร์ลง” ซึ่งก็คือการที่ผู้เล่นหรือผู้ใช้สื่อดิจิตอลสมัยใหม่โดยเฉพาะในทวิตเตอร์จำนวนมากเข้ามาโพสต์และ/หรือมาดู รูป  วิดีโอ  และเขียนความคิดเห็น ในประเด็นต่าง ๆ  ที่เป็นที่สนใจในสังคมขณะนั้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นประเด็นที่คนที่อยู่ในกลุ่มรู้สึกไม่พอใจและอยากที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  จำนวนของคนที่เข้าไปดู  คุยกันหรือคอมเม้นต์นั้นจะต้องมีจำนวนมาก และมักจะติดอันดับสูงที่สุด 10 อันดับ ในขณะนั้น  ส่วนประเด็นที่เกิดขึ้นก็มักจะเป็นเรื่องทางการเมืองและสังคมที่เป็นเรื่อง Controversy คือมีความเห็นที่แตกต่างกันสูงในสังคมของไทย  ซึ่งในอดีตนั้น  ความขัดแย้งหรือความไม่พอใจก็มักจะถูกปิดไว้หรือไม่สามารถที่จะกระจายเป็นวงกว้างสู่คนจำนวนมากเนื่องจากข้อจำกัดของ “สื่อรุ่นเก่า” ที่มักถูกควบคุมโดยรัฐ เช่น ทีวีหรือวิทยุ  หรือถูกควบคุมโดยกิจการขนาดใหญ่เช่นหนังสือหรือสิ่งพิมพ์ที่มีจำนวนน้อยและต้นทุนในการทำงานสูงและเป็น “สื่อทางเดียว” ที่มีประสิทธิภาพต่ำ

            เรื่องที่ทำให้ “ทัวร์ลง” นั้น  ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นเรื่องของ “การเมือง” ในความหมายที่กว้าง  นั่นก็คือ  รวมไปถึงเรื่องทางสังคมที่เป็นอานิสงค์จากการเมือง  เช่น  เรื่องของสิทธิมนุษยชน  ความเท่าเทียมของคน  การจัดสรรทรัพยากรของประเทศ  เสรีภาพในการใช้ชีวิต  เป็นต้น  ส่วนในเรื่องของการเมืองตรง ๆ  ก็เช่น เรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบการปกครอง  ความยุติธรรม  นโยบายและการปฏิบัติของรัฐบาล  เป็นต้น  ผลจากการที่มี “ทัวร์ลง” นั้น  ถ้ามองอย่างผิวเผินก็คือ  มีคนมีความคิดเห็นตรงกันหรือสอดคล้องกันและแสดงออกมาทางสื่อ  เป็นเรื่องใน “โลกเสมือน”  ไม่น่าจะมีอะไรที่จะไปเปลี่ยนแปลง “โลกจริง” ได้  แต่ในความเป็นจริง  โลกจริงกลับเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและมักจะเป็นไปในแบบที่คนในสื่อสังคมหรือโลกเสมือนนั้นต้องการ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีคนเข้ามาเห็นด้วยมาก ๆ  ซึ่งบางทีเป็นล้านคน

          ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็เช่น  ในยามที่คนไทยกำลังยากลำบากและต้องใช้เงินจำนวนมากต่อสู้กับผลกระทบจากโควิด-19 และคนจำนวนมากคิดว่าประเทศไทยไม่ควรซื้อเรือดำน้ำซึ่งต้องใช้เงินมากและยังไม่จำเป็นที่จะต้องมี  พวกเขาจึงแสดงออกในทวิตเตอร์และสื่อสังคมอื่น ๆ  ในที่สุด  รัฐบาลก็ต้องเลื่อนการซื้อเรือดำน้ำออกไป  นี่ไม่ได้เป็นเพราะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นฝ่ายค้านคว่ำมติ  แต่เป็นเพราะ “กระแสมหาชน” ที่ไม่เห็นด้วยคัดค้าน  และรัฐบาลต้องทำตาม  เพราะถ้าฝืน  ก็อาจจะมีการประท้วงตามมาหรือเมื่อถึงการเลือกตั้งสมัยหน้าก็จะเสียคะแนนนิยม  ไม่ได้รับการเลือกตั้งมากเท่าที่ควร

            สัปดาห์ที่แล้ว  ในสื่อสังคมก็ปรากฏเรื่องราวของเด็กนักเรียนอนุบาลของโรงเรียนเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่งถูกครูทำร้ายและผู้ปกครองจับได้ผ่านกล้องวงจรปิด  และก็เช่นเดียวกับอีกหลาย  ๆ  เรื่องที่ถูกส่งเข้าสู่ระบบสื่อสังคมซึ่งในที่สุดก็กระจายออกไปเป็นวงกว้างในชั่วไม่กี่นาที  หลังจากนั้น  ผู้ปกครองของเด็กคนอื่นที่อยู่ในห้องเดียวกันก็รับทราบและเข้าไปขอตรวจสอบว่าลูกของตนถูกทำร้ายด้วยหรือไม่และก็ค้นพบว่ามีเหตุแบบเดียวกันนั้นกับเด็กอีกหลายคน   หลังจากนั้นก็มีอดีตนักเรียน  ผู้ปกครองและอดีตครูที่ทราบเรื่องจากสื่อสังคมและเริ่มส่งข่าวสารผ่านระบบออนไลน์ว่าพวกเขาก็เคยประสบกับเหตุการณ์แบบนั้น   ถึงจุดนี้สังคมก็เริ่มเชื่อแล้วว่าเป็นปัญหาของครูและการควบคุมของโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐาน  สื่อทุกสื่อต่างก็ “เกาะกระแส” ทำรายการสัมภาษณ์และเชิญผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นผู้กำกับและควบคุมโรงเรียนตามกฎหมายมาให้ความเห็น  ข้อสรุปแม้ว่าจะยังไม่ได้ออกมาว่าโรงเรียนจะถูกลงโทษอย่างไร  แต่ประชาชนรวมถึงผู้ปกครองน่าจะสรุปไปแล้วว่าโรงเรียนไม่ได้ดีอย่างที่คิด  หลายคนอาจจะกำลังตัดสินใจว่าจะเอาลูกออกจากโรงเรียน  คนที่กำลังคิดจะสมัครเรียนคงไม่มาแน่นอน  โรงเรียนที่เก่าแก่  มีชื่อเสียงดี และมีสาขามากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศน่าจะกำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะ  “ล่มสลาย”  ในชั่วข้ามคืน  นี่คือผลของ  “ทัวร์ลง”

          ก่อนหน้านี้เล็กน้อยก็เกิดปรากฎการณ์การ  “แบน”  หรือการประณามและเรียกร้องให้สังคมเลิกทำกิจกรรมเกี่ยวข้องกับองค์กร  บริษัท  หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง  ที่คนใน “สังคมเสมือน” เห็นว่ามีความลำเอียง  มีพฤติกรรมที่เหยียดคนที่ด้อยกว่า  ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน หรือไม่ส่งเสริมหลักการที่เป็นที่ยอมรับของสังคมโลกที่พัฒนาแล้ว  “ทัวร์” ที่ลงนั้น  คนที่ถูกแบนคงไม่คิดว่าจะมีผลอะไร  เพราะสิ่งที่เขาเขียน  ออกความเห็นและแสดงออกนั้น  เป็นเรื่องที่ทำมานานแล้วโดยที่ไม่ได้มีปัญหาอะไร  ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าคนที่ไม่เห็นด้วยในขณะนั้นอาจจะมีจำนวนน้อยหรืออาจจะเป็นเพราะว่าไม่เห็นด้วยแต่ไม่ได้แสดงออกหรือแสดงออกไม่ได้เพราะไม่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ  การ “เกิดใหม่” ของทวิตเตอร์อาจจะทำให้เกมเปลี่ยนแปลงไป  มันกลายเป็นเครื่องมือ “ระดมพล” ที่ทรงประสิทธิผลและก่อให้เกิดกระแสสังคมที่มีพลังมหาศาล  คนที่ถูก “แบน”  นั้น  ในที่สุดก็พบว่าชีวิตแทบจะถูก  “ทำลาย”  เพราะคนที่เคยมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องด้วย  โดยเฉพาะที่เป็น  “ลูกค้า” ที่เคยซื้อ-ขายบริการต่างก็หนีหายไปหมดเพราะกลัวว่าตนเองอาจจะถูก “แบน” ไปด้วย

            ปรากฏการณ์ “ทัวร์ลง” ในแง่ของสังคมนั้นทำให้คนที่ “ตัวเล็ก” ซึ่งรวมถึงประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้มีเงินทองหรือมีอำนาจในสังคม   สามารถที่จะ  “ต่อสู้” หรือป้องกันตัวจากการข่มเหงของคนที่ “ตัวโต”  กว่าซึ่งรวมถึงคนที่มีเงินหรือมีอำนาจทั้งในและนอกระบบ  ตัวอย่างที่เกิดขึ้นเร็ว ๆ  นี้ก็คือการที่คนมีเงินมากระดับมหาเศรษฐีที่ทำผิดแต่สามารถหลีกเลี่ยงไม่ต้องรับโทษได้เป็นเวลานานจน  “หมดอายุความ” แต่แล้ว  เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ยุค “สื่อสังคมสมบูรณ์แบบ” ในช่วงโควิด-19  “ทัวร์” ก็เริ่มลง  และเมื่อมันลงแล้ว  คนตัวโตก็อาจจะหนีไม่พ้น  และต่อจากนี้ผมคิดว่า  สังคมไทยอาจจะมีความ “เท่าเทียม” กันมากขึ้น

            ความเหลื่อมล้ำที่เป็นเรื่องของเศรษฐกิจในประเทศไทยนั้นค่อนข้างสูง “ติดอันดับโลก” มานานมาก  เช่นเดียวกับความเหลื่อมล้ำทางด้านสังคมที่ผมคิดว่าเมืองไทยก็น่าจะติดอันดับโลกเหมือนกันเพียงแต่ว่าไม่มีหน่วยงานไหนระดับโลกที่จะมีดัชนีชี้วัดค่านี้   เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่ามันเป็นเรื่องที่กว้างมาก  คนรวยทำผิดไม่ติดคุก  แต่คนจนแค่เก็บเห็ดเพราะไม่รู้ว่าผิดกลับถูกลงโทษรุนแรง  นี่เป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม  แต่ครูลงโทษนักเรียนด้วยการทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ  ผู้ใหญ่ตีเด็ก  สามีทำร้ายภรรยาหรือมีการคบหาหญิงอื่น  เรื่องต่าง ๆ  เหล่านี้ถือเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมหรือเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม?  ในอดีตเราไม่ค่อยมีปัญหา  เพราะความคิดแบบดั้งเดิมสอนให้ทุกคนยอมรับ  แต่สำหรับ “คนรุ่นใหม่” ซึ่งรวมถึงเด็กหรือคนที่เพิ่งจะเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่และคนสูงอายุที่มี “ความคิดใหม่”  นั่นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้  คนที่จะเท่าเทียมกันนั้นต้องแปลว่าทั้งสองฝ่ายหรือทุกฝ่ายต่างก็มีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติเหมือนกัน  ไม่ว่าจะเป็นคนอายุน้อยหรือสูงอายุ  คนที่มีตำแหน่งในสังคมสูงหรือต่ำ  คนที่มีเงินมากหรือน้อย และคนที่มีรสนิยมทางเพศหรือความคิดทางการเมืองแบบอื่น  ต่างก็ต้องได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันตามกฎหมาย  ความเคารพนับถือนั้นต้องไม่ใช่การบังคับ  แต่ต้องมาจากจิตใจของคนหนึ่งต่ออีกคนหนึ่ง  สิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นด้วยพลังของสื่อสังคมรุ่นใหม่

            สุดท้ายก็คือเรื่องของการเมืองจริง ๆ ที่ตอนนี้เกิดการ  “ต่อสู้” กันระหว่าง “คนรุ่นใหม่” กับ “คนรุ่นเก่า” โดยเฉพาะใน “โลกเสมือน” อย่างรุนแรง  ซึ่งแน่นอนว่าในที่สุดก็จะลงมาสู่ “โลกจริง”  ว่าที่จริงการต่อสู้ในโลกจริงก็เริ่มขึ้นแล้วหลายครั้งนั่นก็คือ  “ม็อบ” ของคนหลายกลุ่มที่เริ่มขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ  ผมเองไม่แน่ใจว่าคนที่เกี่ยวข้องซึ่งรวมถึงฝ่ายรัฐที่ถืออำนาจอยู่จะตระหนักไหมว่า  โลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว  หลายคนนั้นเวลาพูดถึงพลังของฝ่ายที่อยากจะเปลี่ยนแปลงก็จะพูดถึง “จำนวนคนที่ไปม็อบ” นี่อาจจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องในโลก “ยุคเก่า”  แต่ในโลกยุคใหม่นั้น  จำนวนคนที่เข้าไปดูหรือคอมเม้นต์ในทวิตเตอร์อาจจะเป็น  “ตัวชี้วัด”  ที่ถูกต้องกว่า  และถ้ามองแบบนี้  ผมก็คิดว่า  เรากำลังมีปัญหาทางการเมืองค่อนข้างรุนแรง  และในมุมมองของนักลงทุนในตลาดหุ้น  ประเทศไทยอาจจะมีความเสี่ยงทางการเมืองที่สูง  ซึ่งจะกระทบต่อตลาดหุ้นในอนาคต  ดังนั้น  การลงทุนก็ต้องนำเรื่องนี้มาวิเคราะห์ประกอบด้วย