ช่วยคิด ช่วยทำ ช่วยให้รอดได้

ช่วยคิด ช่วยทำ ช่วยให้รอดได้

Part 1 นานมาแล้ว... ทุกธุรกิจแทบทุกบริษัทในอดีต แต่ละหน่วยงาน แต่ละฝ่าย ต่างก็มุ่งเน้น “ทำเฉพาะหน้าที่ของหน่วยงาน” ฝ่ายผลิตก็มุ่งเน้นการผลิต

ไม่มีสิทธิ์และไม่ต้องการมีสิทธิ์คิดเรื่องอื่น นอกเหนือจากงานตรงหน้าที่ทำทุกวัน เช่นเดียวกับฝ่ายอื่นๆ เช่น ฝ่ายจัดส่ง ฝ่ายการเงิน ฝ่ายวิจัย ฝ่ายการตลาด ฝ่ายการขาย ทุกคนในฝ่ายไม่มีสิทธิ์ ไปก้าวก่ายกับฝ่ายอื่นๆ

Part 2.ในอดีต.. ที่ทุกอย่างยัง ปกติ

ช่วงก่อนเกิดวิกฤติ เนื่องจากแต่ละฝ่ายต่างก็มี KPI ที่เป็นตัวชี้วัดของตัวเอง ก็เลยมักไม่ได้มองภาพรวม

มองแต่เป้าหมายของหน่วยงานของตนเองเท่านั้น มักจะไม่ร่วมมือกับฝ่ายอื่น ขัดแย้งกับฝ่ายอื่น การทำงานจึงเกิดปัญหา ความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานเป็นระยะ สถานการณ์ความขัดแย้งแบบนี้ ก็ยังพอถูไถไปได้ในโลกธุรกิจที่วิกฤติไวรัสโควิดยังไม่มา...

Part3. จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า....?

ตัดภาพมาวันนี้ วิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลกและในไทยจากไวรัสโควิด ยังส่งผลต่อเนื่องและในไทยยังคงกังวลเกี่ยวกับการระบาดรอบสอง ไหนจะสถานการณ์การเมืองที่ทวีความร้อนแรงจนส่งผลกับ “กำลังซื้อ” ที่มีน้อยอยู่แล้วในตลาด ส่วนคนที่ยังพอมีกำลังซื้อ “อารมณ์ที่จะจับจ่ายใช้สอย” ไม่ค่อยมี ถ้าแต่ละฝ่ายแต่ละหน่วยงานของบริษัท ยังคงมุ่งเน้น คิดและทำเฉพาะงานในหน่วยงานตัวเอง ที่เคยขัดแย้งที่ปราศจากความร่วมไม้ร่วมมือยังคงมีเหมือนเดิม....บริษัทนั้นๆ ไม่น่าจะไปรอดในอนาคตอันใกล้นะครับ

Part4.อย่าโลกสวยเรื่องวิกฤติไวรัสโควิด19

เพราะทั่วโลกและเรายังต้องอยู่กับสถานการณ์นี้ไปอีกนานเป็นปี ต่อให้มีวัคซีนออกมาในวันนี้ ก็ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะคลี่คลายในทันที!

ในเรื่องวัคซีน ข้อมูลล่าสุดจาก WHO (องค์กรอนามัยโลก) ทั่วโลกกำลังผลิตวัคซีนรวมแล้ว 180 ชนิดเพื่อแก้ไขเรื้องนี้ โดยมี 35 ชนิด (จาก180 ชนิด) ที่อยู่ระหว่างการทดลองขั้นสุดท้ายกับมนุษย์ แต่ถ้าจะให้มั่นใจจริงๆ วัคซีนแต่ละชนิดจะต้องทดลองกับมนุษย์จำนวนหลักหมื่นราย ถึงจะสรุปว่านำมาใช้ได้อย่างปลอดภัย

ส่วนในไทย เพื่อป้องกันการระบาดรอบสองจากแรงงานต่างด้าว ทุกหน่วยงานก็พยายามเต็มที่กับการป้องปราม การลักลอบเข้าประเทศของแรงงานต่างด้าว (แหล่งที่เข้ามามากสุดคือ จังหวัดตาก แต่ในภาพรวม เหนือตั้งแต่ เชียงราย ลงมาตาก ราชบุรี ไปจนถึงภาคใต้ แรงงานต่างด้าวสามารถเล็ดลอดเจ้ามาตามช่องทางธรรมชาติได้ทั้งนั้น )

เพราะฉะนั้น ทุกคน ทุกธุรกิจยังคงต้องอยู่กับวิกฤตินี้ไปอีกนานครับ

ถึงเวลาแล้ว....

Part5. ศักยภาพซ่อนเร้น ที่มีอยู่ในแต่ละคนของทุกหน่วยงาน

มีคำถามน่าคิดว่า.... เป็นไปได้มั๊ย? ที่ผ่านมา แต่ละบริษัทไม่ได้ใช้ และไม่ได้เปิดโอกาสให้พนักงานของทุกหน่วยงาน ได้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่!?

เพราะแต่ละคนของทุกหน่วยงาน ต่างทำหน้าที่แบบเดิมๆ ซ้ำๆ ซากๆ ทุกวัน ทำด้วยความเคยชิน ไม่ได้ทำด้วยศักยภาพเต็มที่ ที่แต่ละคนแต่ละหน่วยงานมี

บางทีวันนี้ ถึงเวลาแล้วที่จะ หลอมรวมและดึงศักยภาพของแต่ละคนแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้บริษัทผ่านสถานการณ์ถดถอย ให้ไปรอด หรือผ่านสถานการณ์ที่หยุดการเติบโตไปได้

Part.6. หลอมรวมและดึงศักยภาพ

นอกจาก CEO จะเป็นผู้จุดประกายและเริ่มต้นแล้ว สิ่งที่ผู้บริหารและผู้จัดการแต่ละฝ่าย แต่ละหน่วยงานต้องเริ่มคิด เริ่มตั้งคำถามในวันนี้คือ

“ทุกๆฝ่าย จะร่วมกันช่วยคิด ช่วยทำให้บริษัทรอดได้อย่างไร?”

(ตัวอย่างเช่น ธุรกิจโรงแรม หลายที่ไม่รอด หลายแห่งยังคงร่อแร่ แต่ก็มีหลายที่ที่ผู้บริหารและพนักงาน

ร่วมแรงร่วมใจ สู้ ฟันฝ่า ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ช่วยสร้างรายได้จากการขายอาหารชดเชยจำนวนคนเข้าพักที่เป็นศูนย์ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา )

Part7. เริ่มที่โครงการนำร่อง

ให้ทุกฝ่ายทุกหน่วยงาน ส่งตัวแทนเป็นกลุ่มย่อยหลายๆกลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มให้มีทุกหน่วยงานระดมความคิด จนได้เป็นแนวทางที่เป็นรูปธรรมแล้วทำโครงการนำร่อง จะเริ่มจาก1 อย่าง หรือ 2 -3 อย่าง ก็ได้ โดยที่ไม่ต้องลงทุนในเรื่องจำนวนเงินมาก แต่ให้ลงความคิดและลงแรงให้มาก เพราะถ้าพลาดก็จะไม่ส่งผลให้บริษัทแย่หนักกว่าเดิม

โครงการนำร่องอันไหนไม่รอด ตัดทิ้ง และคิดค้นร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ส่วนโครงการไหนแนวโน้มไปได้ดี ต่อยอด ก็น่าจะเป็นแนวทางที่น่าทำดีกว่าฝืนคิดฝืนทำแบบเดิมไปวันๆ

ลองเริ่มโครงการนำร่องดูสิครับ ให้ช่วยกันคิดช่วยกันทำ น่าจะเป็นทางออกที่ช่วยได้ครับ.